ระเบียบว่าด้วยการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวของสหภาพยุโรป (EU Single Use Plastics Directive) เริ่มต้นแล้วตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2021 ซึ่งส่งผลให้รัฐสมาชิกในปัจจุบันทั้งสิ้น 27 ประเทศ ต้องเข้าสู่ระเบียบใหม่ว่าด้วยการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว
สหภาพยุโรป หรืออียู นับเป็นกลุ่มประเทศแรกที่นำสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของโลกเกี่ยวกับการใช้กฎหมายบังคับงดใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวสำหรับผลิตภัณฑ์อาหาร โดยเริ่มต้นจากรัฐสมาชิกของอียูก่อน แต่นั่นก็เหมือนว่าบังคับกลายๆ ให้นานาประเทศทั่วโลกที่ประกอบธุรกิจระหว่างประเทศ หรือไปค้าขายด้วยจะต้องปรับเปลี่ยนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ซึ่งเป้าหมายใหญ่ของอียู ต่อการบังคับใช้กฎหมายนี้ คือการลดขยะในทะเล รวมถึงการห้ามใช้พลาสติกโพลีสไตรีนที่ขยายตัวได้ พลาสติกที่ย่อยสลายได้ด้วยออกซิเจน และห้ามใช้พลาสติกบางชนิด
ส่งผลต่อผู้ประกอบไทย จะพร้อมหรือไม่พร้อม หลังวันที่ 3 กรกฎาคมเป็นต้นมา ก็จะต้องปรับตัวกันขนานใหญ่อย่างเลี่ยงไม่ได้
ขอเล่าให้ฟังก่อนว่าอียูจริงจังกับการจัดการปัญหาขยะในทะเลมากๆ เขาต้องการป้องกันและลดผลกระทบของขยะพลาสติกต่อสิ่งแวดล้อม และมุ่งมั่นที่จะสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งจะทำได้ก็ต้องเปลี่ยนแปลงการผลิตแบบเดิมๆ ให้เป็นการผลิตที่ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วย และ Single-Use Plastic Directive ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้สหภาพยุโรปบรรลุเป้าหมายนี้ได้
Single-Use Plastic Directive จะบังคับใช้กับผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (single-use plastic) นอกจากนี้ยังบังคับใช้กับ biodegradable/bio-based plastics และเครื่องมือประมงพลาสติกด้วย
อย่างไรก็ตาม ข้อบังคับต่างๆ ใน Single-Use Plastic Directive ไม่ได้บังคับใช้พร้อมกันหมดเสียทีเดียว แต่แบ่งออกเป็นหลายระยะเพื่อให้ปรับตัวอยู่เหมือนกัน ที่ใกล้ที่สุดหลังจากวันที่ 3 กรกฎาคมเป็นต้นมา มีข้อบังคับที่ผู้ประกอบการไทยควรรู้ คือ
1. ห้ามจำหน่าย: พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งหลายประเภทจะถูกห้ามจำหน่ายในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป คือ บรรดาอุปกรณ์ทานอาหารที่เป็นพลาสติกทั้งหลาย อย่างจาน ชาม ช้อนส้อม ตะเกียบ มีดพลาสติก บรรจุภัณฑ์อาหารที่ทำจากพลาสติกประเภทพอลิสไตรีน (PS หรือ เบอร์ 6) หลอด ก้านสำลี แท่งคนเครื่องดื่ม ก้านลูกโป่ง และผลิตภัณฑ์ทุกชนิดที่ทำจากพลาสติกแตกสลายได้ชนิดออกโซ (oxo-degradable plastic) ทั้งหมดนี้คือ ห้ามจำหน่ายในสหภาพยุโรปอีกต่อไป
2. แจ้งข้อมูล/ติดสัญลักษณ์: สินค้าที่อยู่ในกลุ่มนี้คือ ผ้าอนามัย (ทั้งแบบแผ่นและแบบสอด) กระดาษเปียก ถ้วยเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ยาสูบที่มีตัวกรอง และตัวกรองที่ใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์ยาสูบ ต้องแจ้งข้อมูลหรือติดสัญลักษณ์บนผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ว่ามีพลาสติกอยู่ โดยมีรูปสัญลักษณ์ (pictogram) สำหรับแจ้งข้อมูล เป็นภาษาอังกฤษและภาษาต่างๆ ที่ใช้ในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป 23 ภาษาให้ดาวน์โหลดที่นี่ https://ec.europa.eu/.../sups-marking-specifications_en
3. ออกมาตรการลดการใช้ถ้วยเครื่องดื่มและภาชนะที่ทำจากพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และแจ้งคณะกรรมาธิการยุโรป รวมทั้งเผยแพร่มาตรการนี้ให้ประชาชนทั่วไปทราบด้วย
4. ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปต้องปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบต่างๆ ในประเทศให้สอดคล้องกลับ Single-Use Plastic Directive
นี่แค่บทเริ่มต้นเท่านั้น แต่ในปีต่อๆไปข้อบังคับใช้อื่นๆ จะมีผลตามมาเข้มงวดมากขึ้นอีก เช่น ปี 2024 ถ้าจะนำผลิตภัณฑ์ที่มีฝาปิดที่ทำจากพลาสติกมาวางขายในสหภาพยุโรป ผลิตภัณฑ์นั้นต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่เวลาเปิดแล้วฝายังต้องติดกับตัวภาชนะอยู่ (คือแกะฝา แยกฝาออกมาไม่ได้)
และอีกอย่างที่สำคัญมากคือ ผู้ผลิตพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งประเภทต่างๆ จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดการผลิตภัณฑ์ที่ทิ้งในระบบเก็บขยะสาธารณะ ค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาดขยะ (การขนส่งและบำบัดของเสีย) และค่าใช้จ่ายสำหรับสร้างความตระหนักรู้ (Awareness raising measure)
ในปี 2025 ขวดพลาสติกเพ็ต หรือขวด PET ที่วางขายในสหภาพยุโรปต้องผลิตจากพลาสติกรีไซเคิลอย่างน้อย 25% ของปริมาณขวด PET ทั้งหมดที่วางขายในประเทศนั้นๆ
สหภาพยุโรปไม่ได้มาเล่นๆ!! แต่คือของจริง ว่าแต่ผู้ประกอบการไทยพร้อมกันหรือยัง แต่ถึงจะเป็นมาตรการบังคับ ก็ถือว่าเป็นโอกาสดีที่เราจะได้ปรับตัว เพิ่มความรับผิดชอบในการผลิตกันมากขึ้น รวมถึงกระตุ้นเพิ่มความมุ่งมั่นที่จะพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติมาทดแทนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งที่กำลังสร้างความสูญเสียต่อระบบนิเวศของสิ่งแวดล้อม
ที่มา: https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9640000066752
เครดิตภาพ: https://www.tomi-haramina.com/eu-tackling-single-use-plastics-marine-litter-issue