กรมพัฒน์ฯ วิเคราะห์คลังข้อมูลธุรกิจ บรรจุภัณฑ์-ขายออฟไลน์-เชื้อเพลิงชะลอตัว ปี 67 ท่องเที่ยว-เลี้ยงสัตว์-ป้องสิ่งแวดล้อม-ดิจิทัลมาแรง

ในช่วงปลายปีของทุกปี หลาย ๆ สำนักจะมีการวิเคราะห์ธุรกิจดาวรุ่ง ธุรกิจดาวร่วง ออกมา ก็แล้วแต่ว่าประเมินกันจากเหตุผลและปัจจัยสนับสนุนอะไร แต่ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลข้อมูลธุรกิจของทั้งประเทศ เพราะเป็นผู้รับจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ และมีฐานข้อมูลธุรกิจอยู่ทั้งหมด จึงได้ใช้ประโยชน์จาก “คลังข้อมูลธุรกิจ” ที่มีอยู่ มาทำการวิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจ ที่มีความเสี่ยงที่จะถดถอย และกำลังเป็นดาวรุ่งในปี 2566 และ 2567 เพื่อให้ผู้ที่ต้องการทำธุรกิจ มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ

ในปี 2566 ที่กำลังจะหมดปีในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจเชิงลึก โดยใช้ข้อมูลประกอบการวิเคราะห์จากหลายภาคส่วน เช่น จำนวน อัตราการเติบโตของการจัดตั้ง อัตราการเลิก การเพิ่มปริมาณการลงทุนของธุรกิจ หรือจำนวนการเพิ่มทุนจดทะเบียน และข้อมูลจากปัจจัยภายนอก ได้แก่ แนวโน้มธุรกิจ กระแสความนิยม นโยบายภาครัฐ ดัชนีทางเศรษฐกิจ ร่วมกับสถานการณ์ภาพรวมของประเทศ เช่น สถานการณ์โควิค-19 ที่คลี่คลายลง สภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ การพัฒนาเทคโนโลยีเฉพาะด้าน การแพทย์ทางเลือก สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ที่มีความหลากหลาย รวมทั้งแนวโน้มการแข่งขันของธุรกิจในประเทศและระดับสากล

ผลจากการวิเคราะห์ดังกล่าว ทำให้เห็นแนวโน้มการทำธุรกิจในปี 2566 โดยพบว่ามีหลายธุรกิจที่เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งเป็นไปตามกระแสธุรกิจรักษ์โลก และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโดยมีผลจากเทคโนโลยีดิจิทัล บริการรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ ที่ส่งผลกระทบและเปลี่ยนแปลงมูลค่าบริการและสินค้าที่มีอยู่ของอุตสาหกรรมเดิม (Digital Disruption) และในขณะเดียวกัน ก็มองเห็นธุรกิจดาวเด่นที่มาแรง เพราะสอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศและของโลก โดยเฉพาะธุรกิจที่เคยประสบปัญหาช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้กลับมาฟื้นตัวจนมีความโดดเด่นอีกครั้ง

เปิด 3 ธุรกิจเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย

สำหรับธุรกิจในปี 2566 ที่เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยมีจำนวน 3 ธุรกิจ ประกอบด้วย

1.กลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติกและเคมีภัณฑ์ การจัดตั้งเติบโตลดลง 30% ประกอบด้วยธุรกิจการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก การผลิตปุ๋ยเคมี และการผลิตเคมีภัณฑ์อนินทรีย์ขั้นมูลฐาน มีจำนวนจัดตั้งธุรกิจใหม่ปี 2566 ทั้งสิ้น 146 ราย ลดลง 30% ทุนจดทะเบียน 748 ล้านบาท ลดลง 93% ได้รับปัจจัยมาจากการรณรงค์ลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกที่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งลดการใช้เคมีภัณฑ์ เช่น ปุ๋ยเคมี โดยเปลี่ยนไปใช้ปุ๋ยชีวภาพเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน และลดสารเคมีที่อาจก่อให้เกิดสารตกค้าง

2.กลุ่มธุรกิจขายปลีกสินค้าในร้านค้า หรือธุรกิจการค้าปลีกช่องทางออฟไลน์ ลดลง 12% มีจำนวนจัดตั้งธุรกิจใหม่ปี 2566 ทั้งสิ้น 1,437 ราย ลดลง 12% ทุนจดทะเบียน 1,943 ล้านบาท ลดลง 29% มีปัจจัยมาจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงโดยใช้ช่องทางออนไลน์ในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น การค้าปลีกออฟไลน์หรือขายของผ่านหน้าร้านจึงมีความเสี่ยง โดยเฉพาะการปรับตัวทางการตลาดที่ไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่

3.กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงสันดาป ลดลง 5% ประกอบด้วยธุรกิจการขายปลีกเชื้อเพลิงยานยนต์ในสถานี หรือปั๊มน้ำมัน การขายส่งเชื้อเพลิงแข็ง เหลว และการทำเหมืองแร่ เหมืองแร่อโลหะและเหมืองหิน มีจำนวนจัดตั้งธุรกิจใหม่ปี 2566 ทั้งสิ้น 481 ราย ลดลง 5% ทุนจดทะเบียน 1,244 ล้านบาท ลดลง 49% มีปัจจัยหลักมาจากผู้บริโภคยุคปัจจุบันมีการใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แนวโน้มการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มสูงขึ้น และลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดการเผาไหม้ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปทำลายชั้นบรรยากาศของโลก

เปิด 5 ธุรกิจที่เป็นดาวรุ่งปี 2566

ทางด้านธุรกิจที่มีความโดดเด่นและมาแรงในปี 2566 ผลการศึกษา พบว่า มีถึง 5 ธุรกิจ ประกอบด้วย

1.กลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยว เติบโตเพิ่มขึ้น 64% ประกอบด้วยธุรกิจจัดนำเที่ยว ตัวแทนธุรกิจการเดินทาง โรงแรม รีสอร์ท ห้องชุด สปา และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ มีจำนวนจัดตั้งธุรกิจใหม่ปี 2566 ทั้งสิ้น 2,882 ราย เพิ่มขึ้น 64% ทุนจดทะเบียน 7,221 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 68% มีปัจจัยสนับสนุนมาจากการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ จำนวนนักท่องเที่ยวที่มีการขยายตัวทั้งนักท่องเที่ยวในและต่างประเทศ รวมทั้ง มาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวของภาครัฐ เช่น การประกาศยกเว้นการตรวจลงตรา (ฟรีวีซ่า) ให้แก่นักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน

2.กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพิ่มขึ้น 36% ประกอบด้วย ธุรกิจกิจกรรมของตัวแทนและนายหน้าอสังหาริมทรัพย์โดยได้รับค่าตอบแทนหรือตามสัญญาจ้าง และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีจำนวนจัดตั้งธุรกิจใหม่ปี 2566 ทั้งสิ้น 7,878 ราย เพิ่มขึ้น 36% ทุนจดทะเบียน 32,615 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% มีปัจจัยสนับสนุนมาจากเศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการลงทุนเติบโตตามมา รวมถึงมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ เช่น การลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง (มีผลตั้งแต่ 1 ม.ค.2566) และการผลักดันให้ไทยเป็นบ้านหลังที่สองสำหรับชาวต่างชาติที่มีศักยภาพ

3.กลุ่มธุรกิจสมุนไพร เพิ่มขึ้น 33% ประกอบด้วย การปลูกพืชประเภทเครื่องเทศ เครื่องหอม ยารักษาโรค และพืชทางเภสัชภัณฑ์ และการผลิตผลิตภัณฑ์จากพืชและสัตว์ที่ใช้รักษาโรค มีจำนวนจัดตั้งธุรกิจใหม่ปี 2566 ทั้งสิ้น 711 ราย เพิ่มขึ้น 33% ทุนจดทะเบียน 2,083 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 60% มีปัจจัยสนับสนุนมาจากกระแสนิยมดูแลรักษาสุขภาพ โดยวิถีธรรมชาติและหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีของผู้บริโภค ส่งผลให้สมุนไพรเข้ามาเป็นหนึ่งในวัตถุดิบจากธรรมชาติที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม (Health and Wellness)

4.กลุ่มธุรกิจการติดตั้งไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้น 25% ประกอบด้วย ธุรกิจการติดตั้งไฟฟ้า การผลิตส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ การขายส่งอุปกรณ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และการผลิตแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ มีจำนวนจัดตั้งธุรกิจใหม่ปี 2566 ทั้งสิ้น 1,413 ราย เพิ่มขึ้น 25% ทุนจดทะเบียน 10,132 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 400% มีปัจจัยสนับสนุนมาจากการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในชีวิตประจำวัน ทั้งการติดตั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เป็นเครือข่ายรวมอุปกรณ์ข้อมูลเชื่อมถึงกัน (Internet of Things: IoT) ในบ้านอัจฉริยะ (Smart home) หรือการติดตั้งแท่นชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในบ้าน เพื่อสอดรับกระแสรถยนต์ EV ของผู้บริโภคยุคปัจจุบันที่เน้นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และสนองความต้องการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและร่วมรับผิดชอบต่อสังคม

5.กลุ่มธุรกิจ e-Commerce หรือธุรกิจการค้าปลีกสินค้าออนไลน์ เพิ่มขึ้น 19% มีจำนวนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในปี 2566 ทั้งสิ้น 1,657 ราย เพิ่มขึ้น 19% ทุนจดทะเบียน 2,074 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่นิยมใช้ช่องทางออนไลน์ในการจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้า ทำให้ผู้ประกอบการเกือบทุกประเภทปรับตัวขยายช่องทางการตลาดผ่านทางออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้ตลาดมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตลาดออนไลน์ได้รับความนิยมแบบก้าวกระโดด และถึงแม้โควิด-19 ได้คลี่คลายลง แต่กระแสการใช้บริการผ่านช่องทางออนไลน์ก็ยังคงได้รับความสนใจจากผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ทำให้ธุรกิจ e-Commerce เป็นธุรกิจที่มีความแข็งแกร่งและสามารถยืนหนึ่งบนเวทีธุรกิจได้ทุกสถานการณ์

คาด 9 ธุรกิจโดดเด่นและน่าจับตา ปี 2567

ทั้งนี้ ในปี 2567 ที่กำลังจะมาถึงนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ทำการวิเคราะห์แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจ โดยประเมินข้อมูลจากหลายภาคส่วน ทั้งสถิติข้อมูลภายในของปี 2566 ตั้งแต่สถิติจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ อัตราการเติบโต ผลประกอบการของธุรกิจ และการจดทะเบียนเลิกประกอบธุรกิจ ร่วมกับข้อมูลปัจจัยทางเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจต่าง ๆ โดยใช้หลักเกณฑ์ในการวิเคราะห์ ทั้งจำนวนและอัตราการเติบโตของการจัดตั้งธุรกิจ สัดส่วน 50% ผลประกอบการ (กำไรและรายได้) สัดส่วน 20% อัตราการเลิกของธุรกิจ สัดส่วน 20% และปัจจัยภายนอก สัดส่วน 10% ได้แก่ แนวโน้ม กระแสความนิยม พฤติกรรมของธุรกิจ นโยบายรัฐบาล และดัชนีทางเศรษฐกิจ เป็นต้น ทำให้ได้กลุ่มธุรกิจที่น่าจับตามองและน่าสนใจในปี 2567 ออกเป็น 4 กลุ่มธุรกิจ 9 ประเภทธุรกิจ ประกอบด้วย

กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เป็นธุรกิจที่ได้รับผลดีจากปัจจัยบวกในการเปิดประเทศและมาตรการสนับสนุนภาครัฐที่ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องสามารถดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ สร้างโอกาส และรายได้ให้กับกลุ่มธุรกิจได้เป็นอย่างดี โดยธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวที่น่าสนใจ คือ

1.ธุรกิจท่องเที่ยว เช่น ธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหาร ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ต ห้องชุด เกสต์เฮ้าส์ ธุรกิจจัดนำเที่ยว ธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตรา ธุรกิจตัวแทนการเดินทาง โดยในช่วง 11 เดือน ปี 2566 (ม.ค.-พ.ย.) มีจำนวนการจัดตั้งธุรกิจรวม 7,459 ราย เพิ่มขึ้น 48% ผลประกอบการรอบปีบัญชี 2565 รวมทั้งสิ้น 575,347 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 64% ซึ่งกลุ่มธุรกิจนี้ มีแนวโน้มการจัดตั้งธุรกิจสูงขึ้นเพื่อรองรับความต้องการจากจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวปี 2566 ประมาณ 27 ล้านคน และ ปี 2567 ประมาณ 30-35 ล้านคน ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีสำหรับธุรกิจในการขยายหรือเริ่มต้นธุรกิจเพื่อรองรับตลาดและตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น

2.ธุรกิจการจัดประชุม แสดงสินค้า คอนเสิร์ต เช่น ธุรกิจการจัดแสดงทางธุรกิจและสินค้า ธุรกิจการจัดประชุม ธุรกิจจัดงานเลี้ยง ธุรกิจกิจกรรมด้านความบันเทิง โดยธุรกิจสามารถสร้างเม็ดเงินได้มหาศาล สอดรับกระแสความนิยมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการจัดคอนเสิร์ต หรือเทศกาลดนตรีต่าง ๆ ของศิลปินชาวต่างชาติ ที่ดึงดูดผู้คนทั้งชาวไทยและต่างชาติให้เข้ามาร่วมกิจกรรมดังกล่าว และธุรกิจประเภทนี้ยังเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสนับสนุนการท่องเที่ยว คือ เมื่อมีการจัดประชุม แสดงสินค้า หรือคอนเสิร์ต ผู้ร่วมงานส่วนใหญ่จะใช้โอกาสนี้ เดินทางท่องเที่ยวเพิ่มเติม โดยในช่วง 11 เดือนปี 2566 มีการจัดตั้งธุรกิจรวมทั้งสิ้น 1,138 ราย เพิ่มขึ้น 45% และมีผลประกอบการรอบปีบัญชี 2565 รวม 56,750 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37%

กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ การรักษารูปร่าง หน้าตา และการดูแลสุขภาพของบุคคล สำหรับกลุ่มที่มีความต้องการดูแลเป็นพิเศษ มีประเภทธุรกิจที่น่าสนใจ ประกอบด้วย

1.ธุรกิจสุขภาพและความงาม เช่น ธุรกิจปลูกพืช เครื่องเทศ เครื่องหอมยารักษาโรค ธุรกิจโรงพยาบาล คลินิกโรคเฉพาะทาง ธุรกิจขายปลีก ส่ง เภสัชภัณฑ์และเวชภัณฑ์ โดยประเภทธุรกิจสุขภาพและความงามรอบปีบัญชี 2565 สร้างรายได้ 1,184,181 ล้านบาท สูงขึ้นจากปี 2564 มูลค่า 97,052 ล้านบาท กำไรสุทธิ 91,959 ล้านบาท สูงขึ้นจากปี 2564 มูลค่า 3,687 ล้านบาท โดยความวิตกกังวลจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา สังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคที่ให้ความสนใจหันมาดูแลสุขภาพเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ของบุคคล รูปร่าง หน้าตา เป็นอีกปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตของกลุ่มธุรกิจนี้เป็นอย่างมาก

2.ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ เช่น ธุรกิจสถานที่ดูแลรักษาสำหรับผู้สูงอายุ ธุรกิจบริการจัดหาที่พักให้ ธุรกิจสังคมสงเคราะห์โดยไม่มีที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ จากแนวโน้มการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุทั้งของไทยและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ส่งผลให้จำนวนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับอัตราการเกิดของประชากรใหม่ในแต่ละปี ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุเข้ามามีบทบาทและสร้างโอกาสการทำตลาดเพื่อรองรับจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทั้งนี้ มีการจัดตั้งธุรกิจในช่วง 11 เดือน ปี 2566 จำนวนทั้งสิ้น 107 ราย เพิ่มขึ้น 11% โดยปัจจุบันมีธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศจำนวน 721 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนทั้งสิ้นกว่า 4,250 ล้านบาท

กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องรูปแบบการใช้ชีวิต กลุ่มธุรกิจนี้ ถือเป็นธุรกิจที่น่าจับตามองเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบการใช้ชีวิตและไลฟ์สไตล์ของคนในปัจจุบัน มีการปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยประเภทธุรกิจที่น่าสนใจประกอบด้วย

1.ธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง เช่น ธุรกิจดูแลสัตว์เลี้ยง ธุรกิจขายปลีกอาหารและอุปกรณ์สัตว์เลี้ยง ธุรกิจขายส่งอาหารสัตว์ โดยช่วง 11 เดือนปี 2566 มีจำนวนการจัดตั้งธุรกิจรวม 494 ราย เพิ่มขึ้น 32% รายได้ทางธุรกิจรอบปีบัญชี 2565 จำนวน 197,842 ล้านบาท รวมทั้งมีอัตราเติบโตของกำไรปี 2565 เพิ่มขึ้นกว่า 300% จาก 3,152 ล้านบาท ในปี 2564 เป็น 13,304 ล้านบาท ในปี 2565 ทั้งนี้ ธุรกิจดังกล่าว เป็นธุรกิจที่เติบโตขึ้นจากความรักและความผูกพันธ์ระหว่างคนและสัตว์เลี้ยงที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลสัตว์เลี้ยงให้เปรียบเสมือนคนในครอบครัว ทำให้ผู้เลี้ยงสัตว์ลงทุนสรรหา เลือกอาหาร และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีมูลค่าสูงให้กับสัตว์เลี้ยงของตน ส่งผลให้ธุรกิจสามารถสร้างรายได้และผลกำไรแก่ผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง

2.ธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ด้วยสภาพแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำให้ผู้คนเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งรอบข้างที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะการณ์ของโลก ทำให้ผู้บริโภคมองหาผลิตภัณฑ์และรูปแบบกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดผลกระทบทางธรรมชาติทั้งปัจจุบันและอนาคต ส่งผลให้มีธุรกิจหลายประเภท เช่น ธุรกิจรีไซเคิล ธุรกิจให้คำปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น โดยช่วง 11 เดือน ปี 2566 มีจำนวนการจัดตั้งธุรกิจรวมทั้งสิ้น 197 ราย เพิ่มขึ้น 12% รายได้ทางธุรกิจรอบปีบัญชี 2565 จำนวน 486,759 ล้านบาท รวมทั้งมีอัตราเติบโตของผลกำไรปี 2565 ถึงกว่า 45% จาก 24,517 ล้านบาท ในปี 2564 เป็น 35,512 ล้านบาท ในปี 2565

กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบริการดิจิทัลและซอฟต์แวร์ เป็นกลุ่มธุรกิจตอบโจทย์โลกปัจจุบันที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลและนวัตกรรม ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ ครอบคลุมทุกช่วงวัยของประชากรในสังคม มีมูลค่าทางการตลาดระดับสูง โดยมีประเภทธุรกิจที่น่าสนใจ ประกอบด้วย

1.ธุรกิจบริการ e-Commerce ได้แก่ ธุรกิจขายปลีกทางอินเทอร์เน็ต และธุรกิจตลาดกลางในการซื้อขายออนไลน์ เป็นธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง ตอบสนองความสะดวกสบาย ความคุ้มค่าในการจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค และบริการต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนยุคปัจจุบันที่เข้าถึงสินค้าและบริการเพียงปลายนิ้วสัมผัส โดยช่วง 11 เดือน ปี 2566 มีการจัดตั้งธุรกิจรวม 1,800 ราย เพิ่มขึ้น 17% รายได้รอบปีบัญชี 2565 สูงถึง 194,837ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 38,192 ล้านบาท หรือเพิ่ม 24%

2.ธุรกิจบริการชำระเงินแบบดิจิทัล ได้แก่ ธุรกิจการประมวลผลและการเรียกชำระเงินสำหรับธุรกรรมทางการเงิน เป็นธุรกิจให้บริการชำระเงินค่าสินค้าหรือบริการผ่านทางออนไลน์ ทำให้การชำระค่าสินค้าและบริการเป็นเรื่องง่ายและสะดวกรวดเร็ว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้เกิดการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและบริการ การจัดตั้งธุรกิจช่วง 11 เดือน ปี 2566 มีจำนวน 22 ราย สร้างรายได้รอบปีบัญชี 2565 มูลค่า 19,098 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37% รวมทั้งสร้างผลกำไรสูงมากกว่า 190% จาก 844 ล้านบาท ในปี 2564 เป็น 2,478 ล้านบาท ในปี 2565

3.ธุรกิจซอฟต์แวร์ เช่น ธุรกิจจัดทำโปรแกรมเว็บเพจ ธุรกิจจัดทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ธุรกิจให้คำปรึกษาทางด้านซอฟต์แวร์ ช่วง 11 เดือน ปี 2566 มีจำนวนการจัดตั้งธุรกิจรวม 1,104 ราย โดยธุรกิจกลุ่มนี้ สร้างรายได้รอบปีบัญชี 2565 มูลค่า 160,201 ล้านบาท สูงขึ้นถึง 19,171 ล้านบาท หรือเพิ่ม 14% ซึ่งการเติบโตของธุรกิจดังกล่าวสอดคล้องกับยุคแห่งการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตั้งแต่การดำรงชีวิตไปจนถึงการประกอบธุรกิจของภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรม และภาครัฐ รวมทั้งปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ล้วนนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนประกอบประสานรวมกับ AI หรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่เข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอย่างชัดเจน เป็นแรงผลักดันที่ส่งผลให้ธุรกิจซอฟต์แวร์เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค

ทำธุรกิจต้องเข้าใจและใจรัก

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า คาดว่าปี 2567 การประกอบธุรกิจของภาคเอกชนจะมีอัตราการเติบโตที่ดีขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ต้องพิจารณารวมกับปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศ เช่น เศรษฐกิจของโลกและเศรษฐกิจประเทศต่าง ๆ หรือปัจจัยเกื้อหนุนต่าง ๆ ของเศรษฐกิจประเทศ โดยธุรกิจทั้ง 9 ประเภทข้างต้น น่าสนใจเป็นอย่างมาก ผู้ประกอบการสามารถนำไปเป็นข้อมูลส่วนหนี่งประกอบการตัดสินใจลงทุนได้

ทั้งนี้ ในการลงทุน การเลือกลงทุนประกอบธุรกิจ ควรมีจุดเริ่มต้นมาจากความรักและความชื่นชอบในธุรกิจนั้น ๆ เป็นหลัก เพราะจะเป็นการช่วยเพิ่มแรงขับ ความอดทน และเข้าใจธรรมชาติของธุรกิจที่ตัดสินใจลงทุน ส่วนองค์ประกอบอื่น เช่น กระแสธุรกิจ แนวโน้มการเติบโต เป็นปัจจัยสนับสนุนไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจหลงทิศทาง และเมื่อก้าวเข้าสู่แวดวงธุรกิจแล้ว ผู้ประกอบการต้องพร้อมรับมือและปรับตัวกับทุกการเปลี่ยนแปลง ควรนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือช่วยบริหารจัดการธุรกิจ และที่สำคัญ คือ ต้องมีเครือข่ายธุรกิจที่เข้มแข็งที่พร้อมสนับสนุนเกื้อกูลและจูงมือพากันเติบโต

 

ที่มา: https://mgronline.com/business/detail/9660000114197 

วันที่ 22 ธันวาคม 2566