PRO-Thailand Network ชวนภาคอุตสาหกรรมร่วมเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว เตรียมพร้อมรับนโยบาย EPR ใช้แนวทางความสำเร็จของ PRO เบลเยียม และอินโดนีเซีย ในการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว

PRO-Thailand Network ร่วมภาครัฐ เอกชน ขับเคลื่อนนโยบาย EPR ในการบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วให้เหมาะสมกับบริบทไทย และใช้ได้จริง โดยได้ระดมความคิดและแลกเปลี่ยนมุมมองการดำเนินการของ PRO ในยุโรปและอาเซียน ซึ่งประสบความสำเร็จในการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ตามเป้าหมาย พร้อมเชิญชวนผู้ประกอบการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่บรรจุภัณฑ์ให้เข้ามาทำงานร่วมกัน เตรียมพร้อมรับ EPR เพื่อสร้างอนาคตเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทยจากบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วอย่างยั่งยืน

เครือข่ายองค์กรความร่วมมือจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน (Packaging Recovery Organization Thailand Network) หรือ PRO-Thailand Network จัดสัมมนาออนไลน์ ภายใต้หัวข้อ PRO-Thailand Network ร่วมขับเคลื่อนนโยบาย EPR สู่การบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วอย่างยั่งยืน (Driving Thailand′s EPR Policy: Unveiling Voluntary PRO for Change) โดยมีวิทยากรจากภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมเผยแนวทางการขับเคลื่อนหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility) หรือหลักการ EPR ในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม และบทบาทสำคัญที่องค์กร PRO ภาคสมัครใจสามารถทำได้ รวมทั้งวิทยากรจากต่างประเทศทั้ง Fost Plus ประเทศเบลเยียม และ Indonesia Packaging Recovery Organization (IPRO) ประเทศอินโดนีเซีย มาร่วมกันแบ่งปันประสบการณ์การจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วภายใต้หลักการ EPR

การสัมมนามีวัตถุประสงค์เพื่อขยายการรับรู้เรื่องหลักการ EPR ในเชิงนโยบายและการดำเนินการขององค์กร PRO ภาคสมัครใจในประเทศไทย รวมถึงเส้นทางการพัฒนาองค์กร PRO ในต่างประเทศ พร้อมทั้งเชิญชวนผู้ประกอบการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่บรรจุภัณฑ์มาทำงานร่วมกับ PRO-Thailand Network เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย EPR และพร้อมรับมืออย่างเป็นระบบ

เริ่มจากตัวอย่างที่น่าสนใจของ PRO ของเบลเยียม ซึ่งมีบทบาททำให้เบลเยียมกลายเป็น Recycling Hub ของสหภาพยุโรป เพราะประสบความสำเร็จในการจัดการบรรจุภัณฑ์และเก็บกลับเข้าสู่ขบวนการรีไซเคิลเกินเป้าหมาย โดยตัวแทนจาก Fost Plus องค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร และเป็นองค์กร PRO แห่งเดียวในประเทศเบลเยียมที่รับผิดชอบการจัดการ และการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วจากครัวเรือน (Household Packaging Waste) นายโธมัส เดอ เมสเตอร์ ผู้จัดการด้านกิจการและกฎหมายสาธารณะ เปิดเผยว่า Fost Plus รับผิดชอบการเก็บกลับและรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วจากครัวเรือน โดยมียอดการรีไซเคิลรวมสูงถึง 95% โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Fost Plus ประสบความสำเร็จในการออกแบบและพัฒนาวิธีการเพื่อเพิ่มอัตราการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์พลาสติกในครัวเรือนให้ได้ผลลัพธ์เพิ่มขึ้นอย่างมากจากเดิม 52% เป็น 61% ในปี 2565 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังสามารถจัดการกับวัสดุหลากหลายประเภท เช่น พลาสติก เหล็ก กล่องบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม แก้ว กระดาษ กระดาษลัง กระดาษลูกฟูก ฯลฯ จุดเด่นที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือโครงการ ถุงสีน้ำเงิน (Blue Bag) ซึ่งเป็นระบบช่วยคัดแยกวัสดุที่รีไซเคิลได้ผ่านหลักการใส่ถุงเดียวกันทั่วประเทศ ทำให้กระบวนการนี้ไม่ยุ่งยากสำหรับครัวเรือน จึงนำไปสู่อัตรารีไซเคิลที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

นายโธมัส ยังกล่าวเสริมว่า ถุงสีน้ำเงิน (Blue Bag) ได้ขยายประเภทจัดเก็บลงถุงอย่างต่อเนื่อง เน้นให้ครอบคลุมวัสดุทุกประเภท โดยล่าสุดอนุญาตให้ประชาชนนำแคปซูลกาแฟใช้แล้วรวบรวมลงถุงส่งกลับได้อีกด้วย ทำให้ได้รับวัสดุใช้แล้วนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเพิ่มขึ้นอีก สร้างรายได้มากขึ้นจากการขายวัสดุใหม่ (sorted materials) อีกทั้งสามารถนำกลับมาเป็นวัตถุดิบกลับสู่ระบบผลิตใหม่ ซึ่งช่วยสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศ นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือที่แข็งขันจากภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการค้าปลีก เราได้รับเงินสนับสนุนให้ลงทุนสร้างโรงงานคัดแยกเพื่อรีไซเคิลและโรงงานรีไซเคิลอย่างละ 5 โรงงาน ทำให้สามารถจัดการวัสดุเพื่อรีไซเคิลได้เพิ่มขึ้น

เบลเยียมจึงรีไซเคิลได้เกินเป้าหมาย และกลายเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมการรีไซเคิล สร้างเกณฑ์มาตรฐานสำหรับประเทศอื่นๆ

อีกหนึ่ง PRO ที่โดดเด่นในแถบอาเซียน คือ IPRO จากอินโดนีเซีย หรือ Indonesia Packaging Recovery Organization องค์กร PRO แห่งเดียวในประเทศอินโดนีเซียที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2563 ปัจจุบันมีสมาชิก 18 ราย ร่วมผลักดันระบบ EPR ในภาคสมัครใจ ทำงานร่วมกับรัฐบาลอินโดนีเซียอย่างต่อเนื่อง โดยนางซุล มาร์ตินี อินดราวาติ ผู้จัดการทั่วไปจาก IPRO เล่าว่า อินโดนีเซียเผชิญหน้ากับปัญหาการจัดการขยะมูลฝอย เนื่องจากระบบการจัดการและงบประมาณที่ไม่เพียงพอ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานที่ขาดแคลน ทั้งนี้อ้างอิงข้อมูลปี 2017 จากพันธมิตรการดำเนินการพลาสติกแห่งชาติอินโดนีเซีย (NPAP) ซึ่งระบุว่ามีขยะพลาสติกในประเทศสูงถึงประมาณ 6.8 ล้านตัน

IPRO มีพันธมิตร 16 องค์กรจากหลายจังหวัด และคาดว่าเร็วๆ นี้จะมีการขยายไปทั่วทุกเกาะในอินโดนีเซีย IPRO พัฒนาการรวบรวมวัสดุสำหรับรีไซเคิลในช่วงหนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ สามารถเก็บกลับวัสดุ 6 ประเภท คือ พลาสติก PETE, PP, PE, HDPE, กล่องเครื่องดื่มยูเอชที และถุงบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อน (เช่น ถุงขนม ถุงเติม ซองกาแฟ) ได้ประมาณ 15,000 ตัน

IPRO สนับสนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรีไซเคิลและผู้เก็บรวบรวมบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว ผ่านมาตรการจูงใจทางการเงิน การร่วมทุนเพื่อพัฒนาปรับปรุงระบบ และโครงสร้างพื้นฐานด้านการเก็บกลับและระบบการคัดแยก ควบคู่กับการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์เพื่อขับเคลื่อนให้ระบบการเก็บกลับ การคัดแยก และการรีไซเคิลมีประสิทธิภาพและยั่งยืน อันเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยนำขยะที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากกลับสู่กระบวนการรีไซเคิล การทำงานของ IPRO ยังคาดว่าจะช่วยสร้างงานราว 150,000 ตำแหน่ง และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e) ได้ถึง 20 ล้านตัน

IPRO จึงเป็นตัวอย่างของภาคเอกชน ซึ่งทำงานร่วมมือกับภาครัฐเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การเก็บรวบรวมและรีไซเคิล การพัฒนาและประยุกต์ใช้นวัตกรรม และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่บรรจุภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

นางสาวมยุรี อรุณวรานนท์ ผู้จัดการโครงการของ PRO-Thailand Network หรือเครือข่ายองค์กรความร่วมมือจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน อธิบายถึงเส้นทางการเติบโตของ PRO-Thailand Network ซึ่งเป็น PRO ภาคสมัครใจ ที่เล็งเห็นปัญหาใหญ่ระดับโลกเรื่องบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว รวมทั้งขยะพลาสติกในชุมชนและการรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ โดยเริ่มจากโครงการนำร่องในปี พ.ศ. 2563 เก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล และดำเนินการต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงศึกษาหาแนวทางการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว จากองค์กร PRO ในหลายประเทศ อาทิ เบลเยียม อเมริกา แอฟริกาใต้ และเม็กซิโก โดยปรับให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย ซึ่งพบว่าประเทศไทยมีศักยภาพมากพอ เช่น มีเครือข่ายการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วที่เข้มแข็ง เป็นต้น

PRO-Thailand Network จึงมีเป้าหมายที่สำคัญ คือเพิ่มการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วให้เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลให้มากขึ้น การให้ความรู้กับประชาชน และการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเบื้องต้นนำร่องเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว 3 ประเภท คือ ขวดพลาสติก PET กล่องเครื่องดื่มยูเอชที และถุง บรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อน (เช่น ถุงขนม ถุงเติม ซองกาแฟ) ทำงานร่วมกับโรงคัดแยกขยะกว่า 300 แห่ง และโรงงาน รีไซเคิล 11 แห่ง นอกจากนี้ยังสนับสนุนกรมควบคุมมลพิษขับเคลื่อนนโยบาย EPR และพัฒนากฎหมายการจัดการ บรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนที่เหมาะสม และปฎิบัติได้จริงในบริบทของประเทศไทย

สำหรับภาคอุตสาหกรรมที่ใช้บรรจุภัณฑ์และมีความสนใจ สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนนโยบาย EPR ในประเทศไทยไปกับ PRO-Thailand Network ได้ แน่นอนว่าการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วร่วมกันย่อมมีประสิทธิภาพสูงกว่าในด้านการบริหารจัดการต้นทุนและการดำเนินงาน อีกทั้งยังเป็นโอกาสในการเรียนรู้และทำความเข้าใจเรื่อง EPR และ โมเดลของ PRO ที่สำคัญยังได้เตรียมตัวล่วงหน้าเพื่อรองรับกฎหมายด้านการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน ดังนั้นการร่วมกันจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศอย่างยั่งยืน

ตัวแทนจากภาควิชาการผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย EPR ผศ.ดร.ปเนต มโนมัยวิบูลย์ หัวหน้าศูนย์วิจัยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อประเทศไทยปลอดขยะ (Circular Economy for Waste-free Thailand - CEWT) สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งได้รับมอบหมายจากกรมควบคุมมลพิษ ให้ยกร่าง พ.ร.บ.การจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน เปิดเผยว่า ประเทศไทยเรียนรู้หลัก EPR มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 จากการที่สหภาพยุโรปเริ่มบังคับใช้นโยบายด้านการจัดการขยะจากเศษซากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Waste Electrical and Electronic Equipment หรือ WEEE) และทางหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องก็ได้ศึกษาในระนาบต่างๆ เพื่อพัฒนาร่างกฎหมาย สำหรับโมเดลของ EPR ถูกคิดค้นโดยนายโธมัส ชาวสวีเดน เมื่อปี 1992 มี 4 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น (Liability) ความรับผิดชอบด้านการเงิน (Financial Responsibility) การเพิ่มกิจกรรมทางกายภาพ (Physical Responsibility) และความรับผิดชอบด้านการสื่อสารข้อมูล (Informative Responsibility) โดยสององค์ประกอบแรก ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น และความรับผิดชอบด้านการเงิน คือ การให้ผู้ผลิตเข้ามาดูแลค่าใช้จ่ายและต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการ บรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว สำหรับองค์ประกอบที่ 3 การเพิ่มกิจกรรมทางกายภาพ หมายถึง การจัดตั้งจุดรับคืนซากผลิตภัณฑ์เพื่อขยายโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและสนับสนุนการคัดแยกได้ และสุดท้ายความรับผิดชอบด้านการสื่อสารข้อมูลแก่ประชาชน ถือเป็นอีกหนึ่งความรับผิดชอบของผู้ผลิตและเป็นสิ่งจำเป็นต่อการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จากองค์ประกอบของโมเดลนี้ จะเห็นได้ว่าความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นและความรับผิดชอบด้านการเงินถือเป็นเสาหลักของการดำเนินงานของ PRO-Thailand Network โดยได้สนับสนุนให้ผู้ผลิตเข้ามาร่วมรับผิดชอบต่อการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว ซึ่งจากเดิมตกอยู่กับระบบการจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อาจต้องรับผิดชอบการจัดการที่มีความซับซ้อนมากขึ้นและเกินกำลังที่ทางท้องถิ่นจะรับได้

ด้านตัวแทนจากกรมควบคุมมลพิษ นางสาวธีราพร วิริวุฒิกร ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการจัดการกากของเสียและสารอันตราย รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองจัดการกากของเสียและสารอันตราย ได้ชี้ให้เห็นถึงโอกาสในการเพิ่มอัตราการเก็บกลับ จากข้อมูลการจัดการขยะปี พ.ศ. 2565 มีขยะเกิดขึ้นทั้งหมด 25.7 ล้านตัน ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้น แบ่งเป็นส่วนที่ถูกกำจัดอย่างถูกต้องประมาณ 40% ส่วนที่จัดการไม่ถูกต้อง 27% โดยมีส่วนที่นำกลับไปใช้ประโยชน์ได้เพียง 35% ทั้งที่ในความเป็นจริงยังมีศักยภาพที่สามารถนำขยะเหล่านี้ไปสู่การจัดการอย่างถูกต้อง ทั้งนี้ การดำเนินการโดยทางราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น สามารถเก็บรวบรวม ได้ 78% หรือ 20 ล้านตัน ก่อนจะถูกคัดแยกเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ 19% ในขณะที่อีก 59% หรือคิดเป็น 15.2 ล้านตัน ในจำนวนนี้ มี 21% ถูกส่งไปยังสถานที่กำจัดขยะที่จัดการไม่ถูกต้อง และขยะพลาสติกอีกประมาณ 28% ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้แต่กลับต้องถูกทิ้งรวมไป เพราะข้อจำกัดของโครงสร้างพื้นฐานในการจัดการ และขีดความสามารถของท้องถิ่นที่ไม่เพียงพอ จึงส่งผลให้ขยะพลาสติกเพิ่มมากขึ้นและสูญเสียมูลค่าของขยะ

ผู้ผลิตเป็นผู้นำให้เกิดการสร้างความรับผิดชอบ โดยเริ่มต้นจากผู้ผลิต เนื่องจากผู้ผลิตทราบว่าตนเองผลิตอะไร และจะสร้างความยั่งยืนได้อย่างไร โดยการลด การคัดแยก และการดึงกลับเข้าระบบ การลดการใช้สารอันตราย การออกแบบที่ง่ายต่อการรีไซเคิล และนำมาสู่การขยายของ EPR โดยทาง คพ. ร่วมมือกับหลายภาคส่วน ทั้งการทำ MOU กับองค์กรภาครัฐและเอกชน รวมถึง PRO-Thailand Network และการทำงานร่วมกันกับพันธมิตรที่เป็นองค์กรระหว่างประเทศ โดยจุดประสงค์หลักคือการลดขยะทะเล และนำมาสู่การพัฒนากฎหมายในปัจจุบัน แผนปฏิบัติการด้านการกำจัดขยะของประเทศฉบับที่ 2 ในปีนี้ มีบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วเป็นเป้าหมายหลายชนิด ได้แก่ ขวดแก้ว กระดาษลัง อะลูมิเนียม กล่องเครื่องดื่ม และพลาสติก โดยในแผนนี้ระบุทั้งรูปแบบสมัครใจ และการบังคับใช้กฎหมาย เราส่งเสริมให้มีการทำแบบสมัครใจในภาคเอกชน ในกรณี PRO-Thailand Network เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน คู่มือในการนำ EPR มาปฏิบัติ การรวบรวมฐานข้อมูล การสร้างแรงจูงใจในเชิงเศรษฐศาสตร์ การสร้างความตระหนักรู้ และการแลกเปลี่ยนเผยแพร่ข้อมูล

นางสาวธีราพร ยังเปิดเผยว่า ขณะนี้ทางกรมควบคุมมลพิษอยู่ระหว่างการนำเสนอร่าง พ.ร.บ. การจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน ไปยังคณะกรรมการพัฒนากฎหมายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยหากผ่านความเห็นชอบแล้ว จะถูกเสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบในหลักการ ก่อนส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา และส่งให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาลงมติต่อไป โดยปกติขั้นตอนเหล่านี้จะใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี จึงจะตราเป็นพระราชบัญญัติบังคับใช้

ภาคอุตสาหกรรมที่มีความตระหนักเรื่อง EPR สามารถติดต่อและหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Facebook: PRO-Thailand Network ที่ https://web.facebook.com/prothailandnetwork หรือ สนใจฟังรายละเอียดการสัมมนาได้ที่ https://www.youtube.com/@PRO-ThailandNetwork

 

ที่มา: https://www.newswit.com/th/ifkwvbwxjjhl70tqeo4g1zaaet38ir53 

วันที่ 09 ธันวาคม 2566