จุฬาฯ จับมือ อาชนวัฒน์ พัฒนาบรรจุภัณฑ์พลาสติก ส่งต่องานวิจัยจากมหาวิทยาลัยไปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่เชิงพาณิชย์

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ ร่วมมือกับ บริษัท อาชนวัฒน์ จำกัด ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับนวัตกรรมด้านบรรจุภัณฑ์พลาสติก ซึ่งครอบคลุมการออกแบบบรรจุภัณฑ์ การค้นคว้าวัตถุดิบ การเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักร การขึ้นรูปพลาสติก รวมถึงร่วมกันต่อยอดผลงานวิจัยด้านบรรจุภัณฑ์พลาสติกจากระดับมหาวิทยาลัยไปสู่การวิจัยและพัฒนาเป็นนวัตกรรมในระดับอุตสาหกรรม เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่พร้อมใช้งานได้จริงในเชิงพาณิชย์

ด้วยศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ (PETROMAT) เป็นเครือข่ายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในด้านปิโตรเคมีและวัสดุศาสตร์ จึงมีผลงานวิจัยจำนวนมากในด้านที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพลาสติกปิโตรเคมีและพลาสติกชีวภาพ อันมีระดับความพร้อมทางเทคโนโลยี ที่พร้อมมุ่งสู่เชิงพาณิชย์ อีกทั้งปัจจุบันกำลังดำเนินโครงการศูนย์ร่วมผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุยั่งยืนเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียน (Hub of Talents: Sustainable Materials for Circular Economy) ซึ่งร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชนในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านวัสดุยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน อาทิ การแทนที่วัตถุดิบเดิมด้วยวัสดุอื่น (Substitution) การลดการใช้วัสดุ (Dematerialization) การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต (Manufacturing Efficiency) เป็นต้น

ทั้งนี้ PETROMAT เป็นหน่วยงานภายใต้การดูแลของภาครัฐ ทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคเอกชนมาโดยตลอด โดยอาชนวัฒน์พร้อมลงทุนสนับสนุนเพื่อร่วมขับเคลื่อนการต่อยอดงานวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม จึงเป็นที่มาของความร่วมมือครั้งนี้

พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่าย ได้จัดขึ้นในวันจันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ณ ห้องประชุม 201 ชั้น 2 อาคารวิจัยจุฬาฯ โดยศาสตราจารย์ ดร.หทัยกานต์ มนัสปิยะ ผู้อำนวยการ PETROMAT ได้ร่วมลงนามกับนายรัชพันธุ์ พันธุ์ชาตรี และนายพัทธพล เปรมตุ่น กรรมการบริษัทฯ ด้วยมุ่งหมายที่จะขยายเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา พร้อมยกระดับผลงานวิจัยด้านบรรจุภัณฑ์พลาสติกอันมีศักยภาพให้เกิดเป็นนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่เชิงพาณิชย์ให้สำเร็จ

 

ที่มา: https://www.thaipr.net/manufacturing/3409098 

วันที่ 02 ธันวาคม 2566