ไทยติด 1 ใน 7 ประเทศ กองทุน Dow หนุนสร้างโรงรีไซเคิลขยะพลาสติกเป็นน้ำมัน

กองทุน Dow ลุยโครงการด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลก เผยไทยติด 1 ใน 7 ประเทศ ที่ได้รับการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดเล็กในการพัฒนาและปรับปรุงโรงไพโรไลซิส เพื่อแปลงขยะพลาสติกมูลค่าต่ำเป็นน้ำมันไพโรไลซิส สำหรับเป็นวัตถุดิบหมุนเวียนเข้าสู่โรงแยกปิโตรเคมี
รายงานข่าวจากกลุ่ม Dow เผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ กองทุน Dow Business Impact Fund ของบริษัท Dow ได้ประกาศสนับสนุนโครงการด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลก ที่จะช่วยขับเคลื่อนผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและยกระดับความยั่งยืนผ่านความเชี่ยวชาญของ Dow และความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของโลก โดยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับเงินสนับสนุนในการสร้างโรงไพโรไลซิสขนาดเล็กซึ่งจะช่วยรีไซเคิลขยะพลาสติกกลับเป็นน้ำมันเพื่อผลิตเป็นวัตถุดิบในโรงงานปิโตรเคมี

บ็อบ พลิชกา ผู้อำนวยการฝ่ายความร่วมมือเชิงกลยุทธ์องค์กร และประธานมูลนิธิ Dow กล่าวว่า Dow Business Impact Fund เป็นกองทุนที่ช่วยแก้ไขปัญหาความท้าทายของโลกในเรื่องต่าง ๆ ที่เร่งด่วน โดยใช้นวัตกรรมของ Dow เพื่อสร้างสิ่งดี ๆ ให้เกิดขึ้น และปลดล็อกโอกาสทางธุรกิจที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ร่วมกับลูกค้าและคู่ค้า โครงการต่าง ๆ ในปีนี้มุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน การนำขยะมาใช้ประโยชน์ พร้อมกับการสนับสนุนประชากรกลุ่มเปราะบางที่สุดของสังคม

สำหรับโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก Dow Business Impact Fund ในปีนี้ ประกอบด้วย

• โครงการ Small Scale Pyrolysis Unit ในประเทศไทย
Dow จะร่วมกับสถาบันพลาสติกแห่งประเทศไทยเพื่อสนับสนุนวิสาหกิจขนาดเล็กในการพัฒนาและปรับปรุงโรงไพโรไลซิส เพื่อแปลงขยะพลาสติกมูลค่าต่ำ (ฟิล์มบรรจุภัณฑ์และถุงพลาสติกใช้แล้ว) เป็นน้ำมันไพโรไลซิส สำหรับเป็นวัตถุดิบหมุนเวียนเข้าสู่โรงแยกปิโตรเคมีที่เป็นพันธมิตรของ Dow ในจังหวัดระยอง ซึ่งการนำขยะพลาสติกมูลค่าต่ำกลับมาใช้ใหม่เป็นโอกาสที่จะเพิ่มอัตราการรีไซเคิลในระบบการจัดการขยะของชุมชนในประเทศไทย ช่วยลดปริมาณขยะ และประหยัดทรัพยากร

• โครงการ Driving Change for Waste Traceability and Recycling Rates ในประเทศอาร์เจนตินา
Dow และองค์กรเดลเทราจะร่วมกันปรับปรุงความโปร่งใสของระบบการจัดการและรีไซเคิลขยะ ด้วยนวัตกรรมเครื่องมือติดตามที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน โดยจะสามารถติดตามสถานะของพลาสติกรีไซเคิลได้ตั้งแต่การเก็บรวบรวมไปจนถึงการแปลงเป็นผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ใหม่ ซึ่งจะช่วยให้บริษัทต่าง ๆ ทราบได้อย่างแน่ชัดว่าวัสดุรีไซเคิลของพวกเขามาจากที่ใด

นอกจากนี้ Dow ยังสนับสนุนโครงการ Rethinking Recycling ของเดลเทรา ในเมืองบาเอียบลังกา ซึ่งตั้งเป้าเพิ่มอัตราการรีไซเคิลเป็นสามเท่าภายในปี ค.ศ. 2025 โครงการนี้จะช่วยปรับปรุงพฤติกรรมเกี่ยวกับการแยกขยะ การรีไซเคิล และการเก็บรวบรวมวัสดุ อีกทั้งยังเพิ่มขีดความสามารถของศูนย์รีไซเคิล ช่วยหาผู้รับซื้อวัสดุ และสร้างอาชีพด้านการจัดการขยะในรูปแบบของสหกรณ์อีกด้วย

• โครงการ REUSE (Fridge Recycling Expansion) ในประเทศบราซิล
การส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนของวัสดุโพลียูรีเทนในที่นอน โซฟา และตู้เย็น ซึ่งจะขยายไปยังภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศบราซิล โดยร่วมมือกับพันธมิตรที่สำคัญ โครงการนี้เป็นโครงการต่อเนื่องจากที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ โดยส่วนขยายนี้จะให้บริการรีไซเคิลแก่ผู้บริโภคมากขึ้น และช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมบรรลุเป้าหมายความรับผิดชอบของผู้ผลิตปี ค.ศ. 2024 ในการเก็บรวบรวมและรีไซเคิลให้ได้ 12% ของยอดการผลิตทั้งหมด ยิ่งไปกว่านั้นโครงการจะยังคงช่วยลดปริมาณขยะที่เคยถูกกำจัดอย่างไม่ถูกวิธี ช่วยปรับปรุงการจัดการก๊าซทำความเย็นหลังการทิ้งตู้เย็น และเพิ่มปริมาณโพลียูรีเทนที่ดึงกลับมาใช้ใหม่ได้

• โครงการ Eztli ในประเทศเม็กซิโก
คำว่า Eztli เป็นภาษาพื้นเมืองที่เกี่ยวข้องกับเลือด ชีวิต และความมีชีวิตชีวา เป็นโครงการที่ส่งเสริมการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับความจำเป็นด้านสุขอนามัยของผู้หญิง โดยการใช้นวัตกรรมซิลิโคนของ Dow ในถ้วยอนามัยสำหรับผู้มีประจำเดือน นอกจากนี้ยังสนับสนุนการรณรงค์ให้ความรู้ และโครงการด้านข้อมูลสุขภาพผ่านความร่วมมือกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรและองค์กรเพื่อสังคม เช่น MEXFAM และ ยูไนเต็ด เวย์ เม็กซิโก โดยโครงการจะบริจาคถ้วยอนามัยจำนวน 80,000 ใบให้กับผู้ยากไร้ในเม็กซิโกซิตี้ รัฐเม็กซิโก และเมืองเกเรตาโร นอกจากนี้ยังช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจเชิงกลยุทธ์ให้กับยางพาราในตลาดเม็กซิโกอีกด้วย

• โครงการ Soap for Hope ในประเทศแอฟริกาใต้
โครงการนี้ตั้งใจที่จะนำสบู่ก้อนใช้แล้วที่เหลือจากโรงแรมข้ามชาติต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์เพื่อชุมชนในแอฟริกาใต้ ผ่านการสร้างการมีส่วนร่วม การฝึกอบรม และการให้คำแนะนำแก่เยาวชนและสตรีว่างงานเพื่อจัดตั้งเครือข่ายการรวบรวมและโรงงานรีไซเคิลสบู่ก้อนใช้แล้วจากโรงแรม รวมถึงสร้างเครือข่ายการจัดจำหน่ายเพื่อลดขยะ ส่งเสริมสุขอนามัยที่ยั่งยืน และสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อชุมชนท้องถิ่น ผ่านความร่วมมือกับบริษัท ดิเวอร์ซี ในเครือโซเลนิส ผู้นำด้านโซลูชั่นการทำความสะอาดและสุขอนามัยสำหรับตลาดอุตสาหกรรมและ เพ็บเบิ้ล โปรเจค องค์กรพัฒนาเอกชนในท้องถิ่นที่มีประสบการณ์หลายสิบปีในด้านการศึกษาและบริการด้านสุขภาพ

• โครงการ Recyclable Grain Bags ในประเทศยูเครน
โครงการนี้จะนำเทคโนโลยีถุงเก็บรักษาเมล็ดพืชที่สามารถรีไซเคิลได้มาใช้ภายในฟาร์มขนาดเล็กและขนาดกลาง รวมถึงอุตสาหกรรมในท้องถิ่น ด้วยเทคโนโลยีนี้ เกษตรกรก็จะสามารถจัดเก็บผลผลิตของตนได้อย่างง่ายดายในราคาไม่แพง สามารถเก็บรักษาผลผลิตไว้ได้จนกว่าจะถึงเวลาเก็บเกี่ยวหรือส่งออกขาย ช่วยป้องกันอาหารเน่าเสียกลายเป็นขยะ โดย Dow กำลังทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน Ukrainian Agrarian Council และพันธมิตรทางธุรกิจในท้องถิ่นเพื่อบูรณาการแนวคิดการรีไซเคิลถุงเก็บรักษาเมล็ดพืชเพื่อช่วยส่งเสริมวงจรรีไซเคิลและลดขยะพลาสติก

• โครงการ Taking Care of our Home ในสหรัฐอเมริกา
โครงการนี้จะร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน เดอะ รีไซคลิง พาร์ทเนอร์ชิป ในการประเมินภูมิทัศน์การรีไซเคิลในปัจจุบันและระบุกลยุทธ์เพื่อปรับปรุงอัตราการรีไซเคิลในชุมชนชายฝั่งอ่าวสหรัฐฯ ที่สําคัญที่ Dow ดําเนินงาน โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มอัตราการรีไซเคิลภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจในชุมชนเหล่านี้ ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตของ Dow ส่วนใหญ่ในอเมริกาเหนือ

ทั้งนี้นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 กองทุน Dow Business Impact Fund ได้สนับสนุนโครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมไปแล้วกว่า 58 โครงการ จาก 22 ประเทศทั่วโลก โดยมีมูลค่าการลงทุนรวมเกือบ 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งช่วยรีไซเคิลวัสดุใช้แล้วได้กว่า 13,400 ตัน ป้องกันขยะพลาสติกกว่า 9,500 ตัน จากการถูกฝังกลบหรือหลุดรอดสู่สิ่งแวดล้อม สร้างงานมากกว่า 2,000 ตำแหน่ง ปกป้องพื้นที่กว่า 46,000 ไร่ และยังคงมุ่งมั่นจะส่งเสริมโครงการดี ๆ ให้สังคมและสิ่งแวดล้อมทั่วโลกต่อไป

ขณะเดียวกัน Dow ได้เปิดให้พนักงานทั่วโลกสามารถเสนอโครงการที่มีศักยภาพเพื่อขอรับทุน โดยจะมีคณะกรรมการซึ่งเป็นผู้บริหารของ Dow จากฝ่ายต่าง ๆ ทั่วโลกเป็นผู้คัดเลือก โดยโครงการที่ได้รับเลือกจะต้องมีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาสังคมที่สำคัญหรือส่งเสริมความยั่งยืน สามารถขยายขนาดได้ทั้งในด้านการออกแบบและผลกระทบ สร้างความร่วมมือกับลูกค้าและพันธมิตรในภาคส่วนต่าง ๆ รวมทั้งสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ได้

 

ที่มา: https://www.thansettakij.com/sustainable/zero-carbon/580708 

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2566