บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ชั้นนำระดับโลกที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ประกาศความสำเร็จการรีไซเคิลขวด PET ที่ใช้งานแล้วครบ 1 แสนล้านขวด นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2554[1] ซึ่งช่วยลดจำนวนของเสียจากสิ่งแวดล้อมได้ถึง 2.1 ล้านตัน และช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ถึง 2.9 ล้านตันจากวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์[2] แสดงถึงความมุ่งมั่นของบริษัทฯ ในการสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับ PET โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อินโดรามา เวนเจอร์ส ได้ลงทุนมากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในการจัดเก็บขวด PET ที่ผ่านการใช้งานแล้วอย่างเป็นระบบ
นายอาลก โลเฮีย ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส กล่าวว่า “นับเป็นการบันทึกสถิติใหม่ในการรีไซเคิลขวด PET จำนวน 1 แสนล้านขวด เราขอขอบคุณผู้บริโภคสำหรับการร่วมกันรีไซเคิล ตลอดจนแบรนด์ระดับโลกสำหรับการใช้บรรจุภัณฑ์ PET ที่สามารถรีไซเคิลได้และบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจาก PET รีไซเคิล ขณะเดียวกัน ยังช่วยทำให้อัตราการเก็บรวบรวมขวด PET เพิ่มขึ้น ความท้าทายต่อการจัดการขยะที่มีปริมาณมากกระตุ้นให้เราทุกคนต้องทำงานให้มากขึ้นและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเมื่อเดือนมีนาคม 2563 เราได้ประกาศความสำเร็จในการดำเนินการรีไซเคิลขวด PET ครบจำนวน 5 หมื่นล้านขวดในระยะเวลา 9 ปี มาวันนี้เราสามารถทำลายสถิติได้มากถึง 1 แสนล้านขวด ภายในระยะเวลาเพียง 3 ปีครึ่งเท่านั้น”
“พวกเราสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับของเสียด้วยการรีไซเคิลขวด PET ที่ผ่านการใช้งานแล้วเพื่อเปลี่ยนเป็นขวดใหม่ ซึ่งผลักดันให้เกิดการพัฒนาการรวบรวมขยะอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้เกิดจำนวนขยะที่ลดลงและสภาพแวดล้อมที่สะอาดยิ่งขึ้น ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เราได้ลงทุนมากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อจัดเก็บขวด PET ที่ผ่านการใช้แล้วอย่างเป็นระบบ และเราให้คำมั่นที่จะสานต่อการให้ความสำคัญกับการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรอย่างต่อเนื่องในระยะยาว”
บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นในการลงทุนเพิ่มขึ้นอีก 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในการขยายธุรกิจรีไซเคิล เพื่อสนับสนุนอัตราการรีไซเคิลที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก อินโดรามา เวนเจอร์ส ได้ขยายโรงงานรีไซเคิลอีกหลายแห่ง รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานและโครงการให้ความรู้แก่สาธารณชน โดยพลาสติก PET ที่ใช้สำหรับผลิตขวดน้ำดื่มและขวดน้ำอัดลม มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ทั้งหมด และถูกเก็บรวบรวมนำไปรีไซเคิลได้จริงและในปริมาณมาก ด้วยเหตุนี้ PET จึงเป็นพลาสติกที่ถูกนำมารีไซเคิลมากที่สุดในโลก และความสำเร็จในการรีไซเคิลของบริษัทฯ ก็สนับสนุนสิ่งเหล่านี้ อินโดรามา เวนเจอร์ส ยังคงเสาะหาเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อส่งมอบโครงสร้างพื้นฐานการรีไซเคิลทั่วโลกให้มากขึ้น และลดการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ตลอดวงจรชีวิตของวัสดุ เพื่อตอกย้ำจุดยืนของบริษัทฯ ในฐานะผู้ผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลสำหรับใช้ผลิตขวดเครื่องดื่มรายใหญ่ที่สุดในโลก
ปัจจุบัน บริษัทฯ มีโรงงานรีไซเคิล 20 แห่งในภูมิภาคเอเชีย อเมริกา และยุโรป ซึ่งการพัฒนาล่าสุด ได้แก่ การเพิ่มกำลังการผลิตของโรงงานรีไซเคิลในประเทศบราซิลเป็นสองเท่า และการเปิดโรงงาน PETValue เพื่อรีไซเคิลขวดเครื่องดื่มใช้งานแล้วนำไปผลิตเป็นขวดใหม่ (bottle-to-bottle recycling) ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศฟิลิปปินส์ โดยความร่วมมือกับ Coca-Cola โดยทั้งสองโครงการเป็นส่วนหนึ่งของ ′สินเชื่อสีน้ำเงิน′ มูลค่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่อินโดรามา เวนเจอร์ส ได้รับในปี 2563 จากบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation หรือ IFC) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธนาคารโลก และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย
ทั้งนี้ เงินกู้ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรีไซเคิล และลดปริมาณขยะพลาสติกจากการฝังกลบและเล็ดลอดสู่มหาสมุทรในประเทศไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย และบราซิล ซึ่งเป็นประเทศที่ต้องการการสนับสนุนในการจัดการขยะสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ อินโดรามา เวนเจอร์ส ยังได้ร่วมมือกับมูลนิธิยูนุส ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรชั้นนำที่ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนภายใต้เครือข่ายระดับโลก โดยมีเป้าหมายในการให้ความรู้แก่ผู้บริโภคหนึ่งล้านคนทั่วโลกเกี่ยวกับการรีไซเคิลภายในปี 2573 ซึ่งปัจจุบันดำเนินการเข้าถึงไปแล้วกว่า 200,000 ราย
นายอาลก กล่าวเสริมว่า “ความยั่งยืนถือเป็นแก่นสำคัญในบริษัทฯ ของเรา ความสำเร็จเหล่านี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของเราต่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และปณิธานของเราในการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับบรรจุภัณฑ์ PET รีไซเคิลอย่างแท้จริง โดยการบรรลุเป้าหมายครั้งนี้เป็นข้อพิสูจน์ถึงความมุ่งมั่นของเราในความยั่งยืนที่เพิ่มขึ้นต่อโลก โดยแต่ละขวดเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการลดปริมาณขยะ และการขับเคลื่อนสู่โลกที่ไม่มีบรรจุภัณฑ์ใดถูกทิ้งหรือเป็นของเสีย การบรรลุเป้าหมายครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกที่สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อพวกเราทำงานร่วมกันเพื่อสนับสนุนการรีไซเคิล PET และมุ่งมั่นเพื่อโลกเกิดการหมุนเวียนมากขึ้น”
ที่มา: https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9660000086672