เมื่อขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นรายวันในกรุงโซล เพิ่มขึ้นจาก 896 ตัน (ในปี 2014) เป็น 2,753 ตัน (ในปี 2021) ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่า 200% ทำให้ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าขยะพลาสติกในแต่ละวันจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องถึง 40% (ในปี 2026)
รัฐบาลกรุงโซลเปิดตัวโครงการนำร่องในการเริ่มต้นเสนอลดราคา 300 วอน ให้กับลูกค้าที่พกแก้วส่วนตัวมาซื้อเครื่องดื่มจากร้านกาแฟ 100 แห่งทั่วกรุงโซล ในเบื้องต้นจะใช้ไปจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2023
โดยรัฐบาลกรุงโซลจะเรียกเก็บเงินเพิ่ม 300 วอน หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 8 บาท สำหรับการใช้แก้วแบบใช้แล้วทิ้งตามร้านกาแฟในกรุงโซล เมืองหลวงของประเทศเกาหลีใต้ โดยจะเริ่มตั้งแต่ปี 2025 เพื่อเป็นการลดจำนวนขยะและเพิ่มอัตราการรีไซเคิล
รายงานระบุว่า กรุงโซลตั้งใจที่จะเปิดตัวระบบฝากแก้วแบบใช้แล้วทิ้งด้วยการอาศัยข้อมูลเชิงลึกจากโปรแกรมที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันในเมืองเซจง และเกาะเชจู ทั้งนี้ ทั้งเมืองเซจง และเกาะเชจู ได้กำหนดให้ลูกค้าจ่ายเงินเพิ่ม 300 วอน (คล้ายเงินมัดจำ) เมื่อซื้อเครื่องดื่มที่ใช้แก้วแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง แต่ลูกค้าสามารถรับเงินดังกล่าวคืนได้หากส่งแก้วคืนผ่านแอปพลิเคชั่นที่ดูแลโดยองค์กรจัดการระบบฝากบรรจุภัณฑ์ (Container Deposit System Management Organisation)
นอกจากร้านกาแฟในอาคารขนาดใหญ่ที่ผลิตขยะพลาสติกมากกว่าวันละ 300 กิโลกรัมจะได้รับการสนับสนุนให้ใช้แก้วแบบใช้ซ้ำแล้ว สถานที่สาธารณะอื่นๆ เช่น โรงภาพยนตร์ และสนามกีฬาต่างๆ ในกรุงโซลจะถูกกำหนดให้ใช้แก้วแบบใช้ซ้ำหรือแก้วรียูสด้วยเช่นกัน
จากข้อมูลนี้ โซลวางแผนขยายการใช้ระบบฝากบรรจุภัณฑ์ไปยังศูนย์การแพทย์ และสถานฝังศพขนาดใหญ่ทั้งหมดในเมืองในปี 2024 สวนสาธารณะริมแม่น้ำฮัน และจุดปิกนิกกลางแจ้งยอดนิยมในเมืองหลวง จะห้ามนักท่องเที่ยวใช้ภาชนะแบบใช้แล้วทิ้ง โดยเริ่มจากสวนสาธารณะใกล้สะพานจัมซูในปี 2023 ไปจนถึงสวนสาธารณะ ตุกซอมฮันกัง (Ttukseom Hangang) และสวนสาธารณะพันโพฮันกัง (Banpo Hangang) ในปี 2024 สวนสาธารณะริมแม่น้ำฮันทั้งหมดจะถูกกำหนดให้เป็น “โซนพลาสติกเป็นศูนย์”
ทั้งนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้วางแผนจะเพิ่มจำนวนสถานที่แยกขยะรีไซเคิล โดยปัจจุบันกรุงโซลมีไซต์แยกขยะ 13,000 แห่งที่ดำเนินการอยู่ และมีแผนจะเพิ่มเป็น 20,000 แห่งภายในปี 2026