Dow-พันธมิตรผุดศูนย์ MRF แปรรูปวัสดุรีไซเคิลคุณภาพสูงที่แรกในไทย

Dow-พันธมิตรผุดศูนย์ MRF แปรรูปวัสดุรีไซเคิลคุณภาพสูงที่แรกในไทย เผยทำควบคู่ในรูปแบบธุรกิจชุมชน หนุนโยบายและแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ชี้พลาสติกมีคุณค่ามากกว่าจะถูกทิ้งให้เป็นขยะ

นายจิม ฟิทเทอร์ลิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) เปิดเผยว่า Dow ได้ดำเนินการร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ,หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สถาบันพลาสติก เทศบาลตำบลบ้านฉาง อำเภอบ้านฉาง และจังหวัดระยอง

ทั้งนี้ เพื่อก่อตั้งศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการและแปรรูปวัสดุรีไซเคิลครบวงจร (Material Recovery Facility: MRF) โดยจะเป็นต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทยสำหรับการคัดแยกและยกระดับคุณภาพวัสดุรีไซเคิลเหลือใช้ในชุมชนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีฝีมือคนไทย ซึ่งจะดำเนินการในรูปแบบธุรกิจชุมชน (Community Enterprise

อย่างไรก็ดี Dow เชื่อว่าพลาสติกมีคุณค่ามากกว่าจะถูกทิ้งให้เป็นขยะ เพราะพลาสติกมีการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับวัสดุอื่น ยิ่งหากเพิ่มอัตราการนำพลาสติกใช้แล้วกลับมารีไซเคิลได้มาก ก็ยิ่งช่วยลดคาร์บอนได้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จึงเป็นการช่วยแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และปัญหาขยะไปพร้อมกัน

นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า Dow เล็งเห็นว่าการก่อตั้งศูนย์ MRF ต้นแบบนี้จะเกิดประโยชน์ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่

- ด้านเศรษฐกิจ เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่
- ด้านสิ่งแวดล้อม เพราะพลาสติกและของเหลือทิ้งจากชุมชน จะถูกเก็บกลับมารีไซเคิลหรือนำมาใช้ประโยชน์
- ด้านสังคม สร้างความตระหนักในการคัดแยกขยะที่ต้นทาง ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี และยังพัฒนาเป็นต้นแบบซึ่งชุมชนอื่นทั่วประเทศและในภูมิภาคสามารถมาเรียนรู้และนำไปทำตามได้

ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า วว. มุ่งเน้นการจัดการวัสดุรีไซเคิลที่ต้นทางเพื่อแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยได้ขยายผลความสำเร็จจากตาลเดี่ยวโมเดลสู่ภาคเอกชน เพื่อร่วมยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของการนำผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงเครื่องจักรที่พัฒนาโดยคนไทย มาใช้ประโยชน์ต่อการบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้อย่างเป็นรูปธรรม ลดการพึ่งพาและนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างชาติ อีกทั้งยังต่อยอดและขยายผลไปยังพื้นที่อื่นของประเทศได้ในราคาที่จับต้องได้”

นายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า จังหวัดระยองมีการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว ระบบสาธารณูปโภคในหลายปีที่ผ่านมา ประกอบกับจังหวัดระยองได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลให้เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี (EEC) ส่งผลให้ผู้คนจำนวนมากได้ย้ายถิ่นฐานเข้ามาในจังหวัดระยอง ก่อให้เกิดขยะและวัสดุเหลือใช้จำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าศูนย์ MRF จะช่วยสนับสนุนปฏิบัติการของจังหวัดตามนโยบายและแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนซึ่งจะเป็นหนึ่งในทางออกของปัญหาการจัดการขยะชุมชนและพลาสติกที่มีประสิทธิภาพ

 

ที่มา: https://www.thansettakij.com/sustainable/zero-carbon/575485 

วันที่ 09 กันยายน 2566