ขณะนี้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกไม่สามารถแสดงเอกสารหลักฐานเชิงประจักษ์ที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จของการรีไซเคิลขยะพลาสติก แต่ญี่ปุ่นกลับเป็นประเทศหนึ่งที่มีความก้าวหน้าและพัฒนาการจัดการปัญหาพลาสติก ไปสู่การเป็นอารยธรรมของเศรษฐกิจหมุนเวียนได้อย่างน่าชื่นชม
คำว่า อารยธรรม สามารถนำมาใช้ได้เมื่อผู้ประกอบการ ผู้บริโภคและคนในสังคม มีวัฒนธรรมและประเพณี ในการรีไซเคิลและอนุรักษ์ทรัพยากรที่แข็งแกร่งและมีความเชื่อในระดับที่เป็นรากฐาน ไม่ใช่เพียงการทำแบบชั่วครั้งชั่วคราวหรือลูบหน้าปะจมูก
อีกส่วนหนึ่งของความสำเร็จในอารยธรรมของประเทศญี่ปุ่น มาจากการสนับสนุนของภาครัฐบาลอย่างจริงจัง จนทำให้สามารถเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจของญี่ปุ่นไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีเอกสารหลักฐานในเชิงประจักษ์
ประการแรก คนญี่ปุ่นถือเป็นเรื่องปกติและดำเนินการมาอย่างยาวนานต่อเนื่อง ในการล้างผลิตภัณฑ์พลาสติกของตน เพื่อขจัดเศษอาหารออกก่อนที่จะนำไปรีไซเคิล ไม่ว่าจะเป็นการดื่มเครื่องดื่ม ขวดพลาสติกจะถูกแยกออกเป็น 3 ส่วน คือส่วนของฝา ตัวขวด และส่วนที่เหลือก่อนที่จะนำไปรีไซเคิล
ประการที่สอง ข้อจำกัดของสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ของประเทศ จึงส่งผลต่อความจำกัดของทรัพยากรสำหรับภาคอุตสาหกรรม แม้ว่าญี่ปุ่นจะได้ชื่อว่ามีความก้าวหน้าด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมก่อนประเทศอื่นมายาวนานกว่า 150 ปี แต่ข้อจำกัดของพลังงานและแร่ธาตุบางชนิด ทำให้ประเทศต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานเกือบ 90% ความต้องการใช้แร่ธาตุทั้งหมดของประเทศ
ประการที่สาม ความสามารถในการขยายตัวและเติบโตในทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นได้อย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความจำกัดของทรัพยากรที่สำคัญดังกล่าว มาจากหัวใจของการดำเนินการในอุตสาหกรรมการแปรรูปของประเทศ จนทำให้อุตสาหกรรมการแปรรูปมีสัดส่วนที่สูงมาก เทียบกับรายได้ประชาชาติมวลรวมของประเทศ รวมทั้งติดอันดับ 1 ใน 3 ของโลกด้วยซ้ำ
ประการที่สี่ การใช้ LEAN APPROACH การดำเนินการที่สวนกระแสของประเทศอื่นๆ ดังกล่าว ไม่ได้มาจากการพัฒนาขีดความสามารถในการปรับปรุงทางเทคโนโลยีสำหรับธุรกิจรีไซเคิลและแปรรูปเท่านั้น แต่ยังมาจากการเน้นกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง หรือแนวคิดแบบ LEAN ที่ทำกันอย่างจริงจัง ทำให้สามารถอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างแท้จริง ควบคู่กับการส่งเสริมการรีไซเคิลให้มีความสำคัญสูงสุด ในฐานะที่เป็นความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ
ประการที่ห้า การบริหารจัดการขยะในญี่ปุ่นถือเป็นกรอบนโยบายในระดับชาติ ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดและรุนแรงสูง และการวางแนวทางในภาคปฏิบัติที่นำมาใช้ได้จริงในกระบวนการรีไซเคิล ตั้งแต่การออกแบบ กันทำกระบวนการผลิตจริง และการนำวัสดุรีไซเคิลไปใช้ประโยชน์อย่างครบถ้วนและเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายและกระบวนการรีไซเคิลที่เกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์ ยานยนต์ อุตสาหกรรมการก่อสร้าง อาหาร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และไฟฟ้า ที่เน้นความรับผิดชอบตั้งแต่ผู้ผลิตต้นน้ำจนถึงผู้บริโภคปลายน้ำ ที่มีการส่งต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างจริงจังมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 ส่งผลให้ขยะจำนวนมากสามารถบริหารจัดการได้ในพื้นที่ที่จำกัด และภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจหรือเป็นพื้นที่ในการฝังกลบขยะจำนวนมหาศาลได้
ประการที่หก การเติบโตแบบก้าวกระโดดของญี่ปุ่นสู่เศรษฐกิจพลาสติกหมุนเวียน เห็นได้ชัดมาตั้งแต่ปี 2565 จากการที่มีการตราพระราชบัญญัติส่งเสริมการหมุนเวียนทรัพยากรสำหรับพลาสติกโดยเฉพาะ เพื่อยกระดับการปรับปรุงการหมุนเวียนของพลาสติกในผลิตภัณฑ์ทั้งหมด ครอบคลุมห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่แหล่งกำเนิด การออกแบบ การส่งต่อผ่านช่องทางโลจิสติกส์ จนถึงขั้นของการขายปลีกและการบริการ สุดท้ายคือขั้นตอนการกำจัดขยะ
ในส่วนขั้นตอนการออกแบบ ระบบกฎหมายไม่ได้กำหนดแนวทางสำหรับการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม ที่นำมาใช้อย่างกว้างขวางในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ด้วยการ
- จัดระบบให้มีการออกใบรับรองจากหน่วยงานภาครัฐ
- การเปลี่ยนระบบการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ที่รองรับการรีไซเคิลเต็มรูปแบบ
ในขั้นตอนของการขายปลีกและการให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นกิจการโรงแรม ร้านอาหาร จะต้องมีผลการดำเนินงานที่เข้มงวดและชัดเจนในการลดปริมาณการใช้พลาสติก ตามแนวทางของการส่งเสริมใหม่ของภาครัฐ โดยเฉพาะการลดปริมาณการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง ไปจนถึงการระงับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง การใช้พลาสติกด้วยวัสดุทางเลือกอย่างเต็มรูปแบบ และการปรับปรุงการสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงลูกค้า เพื่อไม่ให้เกิดการใช้งานในพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง
และในส่วนของขั้นตอนการกำจัดขยะ ได้ออกแบบกลไกที่สามารถครอบคลุมผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด จนเกิดประสิทธิผลตั้งแต่การรวบรวมไปจนถึงการรีไซเคิล ในระดับของเทศบาลและหน่วยงานท้องถิ่น ที่ต้องดำเนินการให้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ครบถ้วน ควบคู่กับการส่งเสริมให้มีภาคธุรกิจเอกชน ที่ให้บริการรวบรวมและรีไซเคิลผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายให้กับผู้บริโภค รวมถึงกากอุตสาหกรรมของตนเอง โดยได้รับยกเว้นและสนับสนุนทางด้านกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ ของภาครัฐ
ความสำเร็จของการสร้างอารยธรรม จากการดำเนินการที่เป็นวัฒนธรรมและประเพณีการอนุรักษ์ทรัพยากรของญี่ปุ่นที่มีมาตั้งแต่ตั้งเดิม จนกลายเป็นรากเหง้าของการดำรงอยู่ของสังคม เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความสำเร็จในการดำรงชีวิต และการปฏิบัติต่างๆ รอบตัวด้วยความเคารพ
ขณะที่ทั่วโลก มีคำขวัญเกี่ยวข้องกับการบริหารขยะพลาสติกด้วย 3 R’s คือ Reduce, Recycle, Reuse แต่สิ่งที่ญี่ปุ่นมีมากกว่าในระดับอารยธรรมคือ R ตัวที่ 4 นั่นคือ Respect
ที่มา: https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9660000079870