DMT จับมือ ม.เกษตรศาตร์ เดินหน้าโครงการ Tollway Green way ต่อเนื่องปีที่ 6

เป็นเวลากว่าทศวรรษที่ บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง หรือ DMT มุ่งมั่นที่จะปลูกฝังให้คนรุ่นใหม่ มีความรู้และเข้าใจในความสำคัญของแนวคิดการดำเนินธุรกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนขององค์กรในอนาคต โดยคลอบคลุมมิติ ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และกำกับดูแลกิจการ) โดยได้ยกระดับการดำเนินการตามนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคม สู่การการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เข้มข้นมากขึ้น ผ่านกิจกรรม CSR ของบริษัท ทั้ง 5 ด้าน ประกอบไปด้วย ด้านการศึกษา ด้านยาเสพติด ด้านความปลอดภัยบนท้องถนน ด้านคุณภาพชีวิตและสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับสากล (Sustainable Development Goals : SDG)

สำหรับโครงการนี้ บริษัทฯ ได้ร่วมมือกับม.เกษตรศาสตร์ ส่งวิทยากรของบริษัทคือ นายนพพล โพธิ์ขี ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจและกลยุทธ์เพื่อความยั่งยืน บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ) หรือ DMT ซึ่งเป็นผู้บริหารที่รับผิดชอบด้านการพัฒนาธุรกิจผ่านกลยุทธ์ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ไปร่วมถ่ายทอดประสบการณ์การทำกิจกรรมซีเอสอาร์ของบริษัทฯในครั้งนี้ เน้นการถ่ายทอดหลักการเชื่อมโยงการดำเนินธุรกิจกับกิจกรรมเพื่อสังคมสู่ผู้มีส่วนได้เสีย และหลักการประเมินผลที่เกิดคุณค่าทั้งผู้ให้และผู้รับในทุกแง่มุม ให้กับนิสิตสาขาการตลาด ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา และมอบโอกาสที่เปิดกว้างให้นิสิต นักศึกษา ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ นำเสนอโครงการซีเอสอาร์ที่มีคุณค่าต่อสังคม รวมทั้งต้องสามารถลงมือปฏิบัติได้จริงด้วยตนเอง โดยบริษัทฯ ทำหน้าที่ให้การสนับสนุนเงินทุนสำหรับทำโครงการจำนวนหนึ่ง

นายนพพล โพธิ์ขี ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจและกลยุทธ์เพื่อความยั่งยืน กล่าวว่า “บริษัทให้ความสำคัญกับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงความรับผิดชอบ 3 ด้านหลัก คือ สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Governance) หรือ ESG เพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโต ควบคู่กับการส่งมอบคุณค่าอย่างยั่งยืน ซึ่งใน DMT เองมีการขับเคลื่อนด้าน ESG In Process นั่นคือ ทุกกิจกรรมในการดำเนินธุรกิจจะต้องเชื่อมโยงไปยัง Value Chain และผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม โดยเมื่อไม่นานมานี้ ผมได้มีโอกาสไปบรรยายให้กับนิสิต คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ซึ่งเราร่วมกันจัดอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 เพื่อการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างภาคเอกชนกับมหาวิทยาลัย โดยเป็นส่วนหนึ่งในวิชาการตลาดเพื่อความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของคณะฯ ตลอด 2 ชั่วโมง ที่ได้บรรยายในหัวข้อ “การสื่อสารและกิจกรรมเพื่อสังคมขององค์กรธุรกิจ” บรรยากาศเต็มไปด้วยความสนุกสนาน น้องนศ.ต่างทุ่มเทช่วยกันใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์วางแผน และนำเสนอโครงการกิจกรรมเพื่อสังคม พร้อมจัดทำงบประมาณมาอย่างละเอียด ซึ่งพวกเราทีมงานด้าน CSR ของดอนเมืองโทล์ลเวย์ ก็ช่วยกันแบ่งปันประสบการณ์และเล่าอุปสรรคในการทำงานจริงให้น้องได้รับทราบ เพื่อให้นำไปประยุกต์ใช้ ให้เกิดประโยชน์กับสังคมและประเทศชาติต่อไป”

หลังจากที่จบการบรรยายด้าน ESG ทีมคณะทำงานด้านซีเอสอาร์ของดอนเมืองโทล์ลเวย์ ได้สนับสนุนให้น้อง ๆเยาวชนจากม.เกษตรฯ เหล่านี้ ลงพื้นที่ปฏิบัติงาน CSR ที่มูลนิธิบ้านจริงใจ อ.บางละมุง ภายใต้โครงการ Tollway Green way โดยน้อง ๆ เลือกที่จะทำโครงการ ยืดอก เพ้นท์ถุง เพื่อมุ่งให้ความรู้เรื่องภาวะโลกร้อนที่เกิดจากถุงพลาสติก ให้กับเด็กๆ ในมูลนิธิฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการลดการใช้ถุงพลาสติก และสามารถลงมือประดิษฐ์ถุงผ้า จากเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้ว หรือ ได้เสื้อผ้าที่ได้รับบริจาคมาช่องทางต่างๆ เพื่อปลูกฝังเรื่องสิ่งแวดล้อม และการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ซึ่งจะเป็นรากฐานที่ดีให้กับเด็กๆ ของมูลนิธิฯ ต่อไปในอนาคต

สำหรับบรรยากาศการทำกิจกรรมนั้น เมื่อบรรดานิสิตและทีมงานจากบริษัท มาถึงที่มูลนิธิบ้านจริงใจ ต่างก็เร่งมือช่วยกันแจกอุปกรณ์ทำถุงผ้าให้กับเด็กๆ ในมูลนิธิฯ โดยมีทีมงานของบริษัท ได้ช่วยอธิบายขั้นตอนการทำกิจกรรม พร้อมทั้งประโยชน์ที่ทุกคนจะได้รับหลังจากการทำกิจจกรรมจบ เมื่อจบการบรรยาย เวลาแห่งความสนุกของเด็กๆ ก็ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว เด็กๆ เริ่มจากลงมือละเลงสี สาดความคิดสร้างสรรค์กันอย่างเต็มที่ โดยมีพี่ๆนิสิต นศ. คอยประกบดูแลอย่างใกล้ชิด ต่างความสนุกสนานร่วมกับเด็กๆ จนจบกิจกรรม

หลังจากที่กิจกรรมจบลง เราได้มีโอกาสพูดคุยกับน้องนิสิตคนเก่ง คือ น.ส.ดวงรดา ทองเหลือ นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา มาเป็นตัวแทนเพื่อนๆ เล่าถึงเล่าถึงบรรยากาศและสิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้ว่า โครงการนี้ริเริ่มมาจากแนวคิดที่ว่า สิ่งของที่เรามองว่าไม่มีประโยชน์แล้ว เช่น เสื้อเก่าที่เก็บไว้ในตู้ บางคนก็เก็บไว้แบบนั้น แต่บางคนก็เลือกที่จะทิ้งไปดื้อๆ โดยไม่นำไปทำให้เกิดประโยชน์ต่อ แถมยังสร้างขยะอีก พวกเราจึงมองว่า ถ้าเรานำเสื้อผ้าไม่ใช้แล้ว มาทำให้เกิดประโยชน์กับผู้อื่น และยังเป็นการลดขยะด้วยคงจะเป็นโครงการที่น่าสนใจมาก และสิ่งที่ได้รับจากโครงการนี้ คือ ได้เรียนรู้ที่จะประยุกต์ใช้สิ่งของที่เรามองข้ามนำกลับมาทำให้มีคุณค่าในการใช้สอยอีกครั้ง ส่วนสิ่งที่ทางเด็กของมูลนิธิฯ ได้รับนั้น ตนมองว่า นอกจากได้เรียนรู้สิ่งที่พวกเราถ่ายทอดแล้ว ซึ่งไม่ใช่แค่การสาธิตทำกระเป๋าผ้า แต่เป็นมิตรภาพที่เราต่างส่งต่อให้กัน

ทั้งนี้ นายนพพลและทีมงานจาก DMT ได้ขอบคุณเหล่าทีมงานและผู้เกี่ยวข้องของมูลนิธิบ้านจริงใจ ที่ได้ให้โอกาสนิสิตได้ฝึกคิด หาวิธีการ จัดทำงบประมาณและเห็นถึงปัญหาและอุปสรรคในการทำงานจริง เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้ลงสนามจริง และลงมือปฏิบัติจริง กับโครงการ ยืดอก เพ้นท์ถุง ที่พวกเขาทุ่มเทคิดขึ้น และดำเนินการจนกิจกรรมสำเร็จด้วยดี และที่สำคัญยังได้ส่งต่อวิธีคิดแผนงานด้าน ESG ให้กับคนรุ่นใหม่เพื่อให้นำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับสังคมและประเทศชาติต่อไป ทั้งนี้บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) เชื่อมั่นว่าการเรียนรู้ คือการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุด เราจึงไม่หยุดเดินหน้าที่จะส่งมอบความรู้และประสบการณ์แก่เยาวชน ให้เป็นคนคุณภาพของสังคมต่อไป

 

ที่มา: https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9660000076295 

วันที่ 26 สิงหาคม 2566