เอกชนชี้เทรนด์อีโคแพคเกจจิ้งแรงรับกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อม เผยธุรกิจการพิมพ์ บรรจุภัณฑ์ปี 66 ฟื้นมูลค่าตลาดกว่า 300,000 ล้านบาท ผลักดันไทยขึ้นแท่นฐานผลิตใหญ่ที่สุดในอาเซียน
นายพงศ์ธีระ พัฒนพีระเดช นายกสมาคมการพิมพ์ไทย เปิดเผยว่า ปัจจัยที่ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจการพิมพ์-บรรจุภัณฑ์ เติบโตแข็งแกร่งและมาแรง มีความเชื่อมโยงกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่รายย่อยต่างเร่งวางกลยุทธ์ เน้นเพิ่มศักยภาพการผลิตเพื่อสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืน
ทั้งการนำเข้าและพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อการผลิตที่ตอบโจทย์คู่ค้าและผู้บริโภคที่หันมาให้ความสำคัญของสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ของสินค้าในเรื่องรูปลักษณ์ การออกแบบที่สร้างสรรค์สวยงาม มีความปลอดภัยในการขนส่ง และคำนึงถึงการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ส่งผลให้ประเทศไทยที่มีจุดเด่นเป็นฐานการผลิตที่มีเสถียรภาพที่แข็งแกร่งมั่นคงต่อเนื่อง และอยู่ในตำแหน่งภูมิศาสตร์ศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อมุ่งสู่การเป็นฐานการผลิตระดับโลกในอนาคต โดยคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมการพิมพ์ของประเทศไทยในปี 2567 จะเติบโตขึ้นกว่า 2% หรือมีมูลค่ากว่า 122,500 ล้านบาท
อุตสาหกรรมการพิมพ์สำหรับประเทศไทยนับเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุน (Supporting Industry) ทั้งตัวสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ให้กับสินค้าและบริการต่างๆ ซึ่งเติบโตไปตาม GDP ของประเทศ
โดยขณะนี้ประเทศไทยมี GDP อยู่ที่ 16.5 ล้านล้านบาท ซึ่งอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์คิดเป็น 1.8% มีมูลค่าราว 300,000 ล้านบาท แบ่งเป็นตลาดอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ 60% และอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ 40% ด้วยปัจจัยหนุนจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมการพิมพ์ที่รองรับกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด
รวมไปถึงปัจจัยของการเลือกตั้งครั้งใหญ่ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมาทำให้มีเงินสะพัดราว 20,000-30,000 ล้านบาท ได้สร้างมูลค่าให้แก่ภาคอุตสาหกรรมการพิมพ์ทั้งระบบประมาณ 120,000 ล้านบาท
นายประเสริฐ หล่อยืนยง นายกสมาคมบรรจุภัณฑ์ไทย กล่าวว่า เนื่องจากสินค้าบรรจุภัณฑ์เป็นสินค้าที่ไม่สามารถหาสิ่งใดมาทดแทนได้ จึงถือเป็นโอกาสในการขยายตัว ประกอบกับการวางนโยบายเป็นครัวของโลกของภาครัฐที่ทำให้อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารสำเร็จรูปเพื่อการส่งออกมีการเติบโตมากยิ่งขึ้น
อีกทั้งปัจจัยด้านตลาดอีคอมเมิร์ซในช่วงโควิดที่ผ่านมาก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อการส่งออกเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน อาทิ การผลิตฉลากอัจฉริยะบนบรรจุภัณฑ์ เช่นการใช้คิวอาร์โค้ดและ RFID เพื่อติดตามพัสดุ (Trace and Track) เป็นต้น
นอกจากนี้ ความตระหนักรู้เรื่องการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ทำให้บรรจุภัณฑ์สีเขียวหรือบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ถือเป็นศักยภาพที่ส่งผลให้อนาคตอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์เติบโตมากยิ่งขึ้น
นายชูศักดิ์ ดีตระกูลวัฒนผล นายกสมาคมบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ในระยะ 2 ปีต่อจากนี้จะมีการเติบโตเพิ่มขึ้น 2% ต่อปี ถือเป็นโอกาสดีของบริษัทผลิตบรรจุภัณฑ์ในประเทศไทยที่จะได้โชว์ศักยภาพการผลิตที่ให้ความสำคัญกับวัตถุดิบกระดาษที่มีประสิทธิภาพสูง มีความยืดหยุ่น
และโซลูชันที่ตอบโจทย์การผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกในรูปแบบ Box on Demand ตามความต้องการของตลาด ที่ผู้บริโภคตระหนักถึงการเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยสามารถตอบรับการแข่งขันที่สูงขึ้นในเวทีโลก และคงความแข็งแกร่งในการเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มุ่งสู่การเติบโตที่มากขึ้นสู่ระดับเอเชียด้วยนวัตกรรมการผลิตที่ทันสมัย
ที่มา: https://www.thansettakij.com/sustainable/zero-carbon/570333