ผ่าแผน “ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป” มุ่งสู่ Net Zero

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าบรรจุภาชนะชนิดต่าง ๆ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มียอดขายต่อปีมากกว่า 126,275 ล้านบาท (4.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ผ่านผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่มีนวัตกรรม และมีความยั่งยืน

โดยไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ประกาศนโยบายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี พ.ศ.2593 ซึ่งในปี 2566 มีแผนที่จะใช้เงินลงทุนราว 6-6.5 พันล้านบาท สำหรับการลงทุนในธุรกิจใหม่ รวมทั้งการพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ไทยยูเนี่ยนตั้งเป้าการเติบโตของยอดขายในปี 2566 อยู่ที่ระดับ 5-6 % ขณะเดียวไทยยูเนี่ยน ได้ดำเนินการเกี่ยวกับ Sustainability อย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี ค.ศ.2014 (พ.ศ. 2557) ซึ่งเป็นช่วงที่ต้องพบเจอกับอุปสรรคมากมายพร้อม ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ประเทศไทยถูกจัดอันดับในเรื่องของการค้ามนุษย์ในอันดับต่ำสุด (Tier 3) หรือได้รับใบเหลืองจากฝั่งยุโรปในเรื่องของการทำประมงที่ผิดกฎหมาย และในแง่ของการทำปลาทูน่ากระป๋อง ก็ถูกคู่ค้ารวมถึงองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม เช่น กรีนพีซ โจมตีในเรื่องการทำประมงที่ไม่เหมาะสม ทำให้ทาง TU เกิดการตระหนักอย่างจริงจัง

ไทยยูเนี่ยนจึงได้ตระหนักเน้นการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นนํ้าถึงปลายนํ้า ไปจนถึงคู่ค้า และผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการซื้อวัตถุดิบที่ถูกต้อง โดยการให้ความรู้ความเข้าใจกับชาวประมงทั้งในประเทศและต่างประเทศ หรือการบริหารจัดการฟาร์มที่ถูกต้อง รวมไปถึงเรื่องของ Sustainable packaging โดยเฉพาะเรื่องของพลาสติก ซึ่งมีการใช้งานค่อนข้างมากและไม่สามารถจัดการเรื่องนี้ได้เอง จึงจำเป็นต้องทำงานร่วมกับผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิต

ขณะที่การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ได้ประกาศนโยบายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ เป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี พ.ศ.2593 (ค.ศ.2050)โดยในช่วง 1-2 ปีแรก บริษัทมุ่งให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนรูปแบบพลังงาน ที่ใช้ในกระบวนการผลิตไปสู่พลังงานทดแทนให้มากขึ้น อาทิ ระบบโซลาร์เซลล์ ฯลฯ ซึ่งควบคู่ไปกับการบริหารจัดการกระบวนผลิตต่างๆ เพื่อให้มีการปล่อยมลพิษให้มีการปล่อยคาร์บอนดให้ต่ำลงอย่างต่อเนื่อง

ในปี 2563 ไทยยูเนี่ยน ลดอัตราการใช้นํ้าและปริมาณขยะฝังกลบได้ดีกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยสามารถลดการใช้นํ้าและปริมาณขยะฝังกลบลง 26% และ 69% ตามลําดับ เมื่อเทียบกับปี 2559 นอกจากนี้ ยังดําเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อเนื่อง โดยในปี 2563 ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 28%

ส่วนการใช้พลังงานทดแทน ไทยยูเนี่ยนดําเนินโครงการพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาโรงงาน (Sun Seeker Project) อย่างต่อเนื่องในปี 2563 ตั้งแต่ปี 2560 โครงการนี้มีกําลังผลิตไฟฟ้าได้ทั้งหมด 8.3 เมกะวัตต์ สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 14,606,460 กิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งเป็นการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ประมาณ 7,595 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

ขณะที่แผนระยะยาว ไทยยูเนี่ยนเน้นการคัดสรรบรรจุภัณฑ์ที่ในการบรรจุอาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น ตลอดจนบริหารจัดการเกี่ยวกับธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ การใช้เชื้อเพลิงของเรือในการจับสัตว์นํ้า ฯลฯ

นายธีรพงศ์ กล่าวว่า ไทยยูเนี่ยนมีพันธกิจด้านบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน โดยมีเป้าหมายว่าบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในแบรนด์ของกรุ๊ปทั้งหมด 100% สามารถนํามาใช้ซํ้านํากลับมาใช้ใหม่หรือสามารถย่อยสลายได้ภายในปี 2568 นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะให้บรรจุภัณฑ์แบรนด์ในเครือทั้งหมดโดยเฉลี่ย 30%. ใช้วัตถุดิบที่ทําจากวัสดุที่นํากลับมาใช้ใหม่ภายในปี 2568

ไทยยูเนี่ยน มีการตั้งเป้าหมายในเรื่องของขยะอาหาร ปี 2564 บริษัทได้ออกพันธกิจเรื่องการลดการสูญเสียอาหาร และขยะอาหาร โดยมีเป้าหมายที่จะลดการสูญเสียอาหารในการผลิตอาหารประเภทบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ อาหารทะเลแช่เย็น และแช่แข็งให้ได้ 50% ภายในปี 2568 เปรียบเทียบกับตัวเลขฐานปี 2564 นอกจากนี้ ไทยยูเนี่ยนยังมุ่งมั่นทำงานร่วมกับคู่ค้า และพันธมิตรของบริษัท เพื่อลดขยะอาหารที่ระดับค้าปลีกและผู้บริโภคอีกด้วย

พร้อมกันนี้ ไทยยูเนี่ยนยังเป็นผู้ผลิตอาหารรายแรกและบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยบริษัทแรก ที่เข้าร่วมโครงการ EP 100 ขององค์กร The Climate Group ซึ่งเป็นเรื่องของการใช้พลังงานอย่างชาญฉลาด โดยบริษัทมีเป้าหมายที่จะใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเป็นสองเท่าภายในปี 2574 เทียบจากข้อมูลในปี 2559

“ไทยยูเนี่ยนให้ความสำคัญกับนวัตกรรมและความยั่งยืนมาโดยตลอด จะเห็นได้ว่าธุรกิจโปรตีนอาหารทะเลจากเซลล์เพาะเลี้ยงนี้ตอบโจทย์การทำงานของบริษัทฯ ในด้านดังกล่าว บริษัท บลูนาลู มีความเชี่ยวชาญและเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยีการผลิตโปรตีนอาหารทะเลจากเซลล์เพาะเลี้ยงเพื่อความยั่งยืน และยังได้จัดตั้งกองทุน venture fund ขึ้นในปี 2562 จำนวน 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมุ่งลงทุนในสตาร์ทอัพที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับโปรตีนทางเลือก สารอาหารเพื่อสุขภาพ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจอาหาร เพื่อร่วมมือและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม”

 

ที่มา: https://www.thansettakij.com/sustainable/zero-carbon/570108 

วันที่ 09 กรกฎาคม 2566