สัปดาห์ที่แล้ว ผมได้รับการทาบทามให้เข้าร่วมคณะเดินทางกับพลเอก สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง ซึ่งได้รับมอบหมายจากประธานวุฒิสภาให้นำคณะผู้แทนรัฐสภาไทยเข้าร่วมการประชุมเชิงนิเวศวิทยานานาชาติเนฟสกี้ ครั้งที่ 10 (The 10th Nevsky International Ecological Congress) ที่รัสเซีย 2 วัน
หัวข้อการประชุมถูกกำหนดชื่อว่า “นิเวศวิทยา : สิทธิไม่ใช่อภิสิทธิ์” (Ecology: a Right, not a Privilege) คณะของไทยเดินทางตามคำเชิญของนางวาเลนติน่า แมตเวียนโก (H.E. Mrs. Valentina Matvienko) ประธานสภาของรัสเซีย ณ พระราชวังเทาไรด์ นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมืองหลวงเก่าของรัสเซีย
เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเป็นนครเก่าแก่ และเป็นนครที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของทวีปยุโรป เป็นมหานครที่อยู่ขึ้นเหนือไปที่สุดในโลก เคยถูกเปลี่ยนชื่อด้วยเหตุผลทางการเมืองเป็นเลนินกราด แล้วกลับมาใช้ชื่อเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กอีกที
ด้วยความสามารถในการอนุรักษ์เมืองเก่าได้ดีมาก ยูเนสโกจึงรับรองความเป็นเมืองมรดกโลก ซึ่งเมื่อได้มาสัมผัสเมืองนี้ เห็นตึกรามบ้านช่อง อาคาร พระราชวัง คลองขุดสารพัดที่ล้วนถูกอนุรักษ์ไว้อย่างสวยงาม ผมก็ต้องยอมรับว่าที่นี่สวยจนต้องขอเอ่ยปากชม
ปีนี้ นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กกำลังฉลองอายุ 320 ปี ของการก่อตั้งเมืองพอดี เลยยิ่งมีการประดับธงตามสะพาน มีป้ายแคมเปญในมุมต่างๆของเมือง
เดือนพฤษภาคมเป็นเดือนที่ผ่านพ้นฤดูหนาวแล้ว อากาศกำลังสบาย คือราวๆ 19-24องศาเซลเซียส แดดออกตั้งแต่ตีสามยันสามทุ่มกว่า
ตรงข้ามกับฤดูหนาวที่ฟ้าจะสว่างเอาตอน เก้าโมงเช้า และจะมืดมิดตั้งแต่บ่ายสามเศษๆ
เจ้าภาพการประชุมบอกว่าอากาศดีๆอย่างนี้จะมีเพียงปีละ 2 เดือนเท่านั้น หลังจากนั้นจะเข้าช่วงฝนเฉอะแฉะ เพราะนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กอยู่ติดทะเลบอลติก อยู่ในละติจูดเดียวกับยุโรปเหนือแถบสแกนดิเนเวีย เจ้าภาพเลยเลือกจัดประชุมนานาชาติในช่วงนี้
การเดินทางมาที่นี่จะว่าไปก็ไม่ยาก แต่ต้องยอมเสียเวลารอเปลี่ยนเครื่องบิน จากกรุงเทพบินสู่เมืองใดเมืองหนึ่งในตะวันออกกลางหรือตุรกี ใช้เวลาราวๆ 8-10 ชั่วโมงแล้วนั่งในสนามบินรอเปลี่ยนเครื่องสัก 3-4 ชั่วโมง บินต่ออีก 3 -4 ชั่วโมงก็จะถึงสนามบินของเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก จากนั้นนั่งรถเข้าเมืองอีกชั่วโมงนึง
เจ้าภาพจัดบริการตรวจโควิด แยงก้านสำลีทั้งทางจมูกและเพดานปาก ที่สนามบินเมื่อไปถึง บางคนก็ถูกจัดให้ตรวจโควิดที่โถงโรงแรมที่พัก แล้วแต่คณะไหนจะสะดวกที่ไหน
ไหนๆเราต้องรอรับกระเป๋าที่สนามบินขาเข้าอยู่แล้ว เลยขอตรวจที่สนามบินเสียเลย
วันแรกของการประชุม พลเอก สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง พร้อมด้วยผมในฐานะ รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คุณกุ้ง นภาภรณ์ ใจสัจจะ เลขาธิการวุฒิสภา และคณะ ไปเข้าร่วมการเสวนาในหัวข้อ “เศรษฐกิจหมุนเวียน : กลไกสำคัญที่สร้างความยั่งยืนแก่ทรัพยากรโลก” (Circular Economy: the Perpetual Motion Machine in the World of Resource)
สไตล์การจัดเสวนาของรัสเซียต่างจากไทยที่ว่า ไทยมักจะมีผู้ขึ้นเวทีร่วมอภิปรายไม่มากคนนัก เพื่อให้แต่ละวิทยากรมีโอกาสเล่าเรื่องได้รอบละ12-20นาที
แต่สไตล์รัสเซียนั้นนิยมจัดให้คนขึ้นมานั่งเป็นวิทยากรพร้อมกันตั้งทีเดียวหลายคน
อย่างรอบนี้ใส่ไป 9 คน ให้จบใน2 ชั่วโมง ผู้ร่วมอภิปรายจึงได้รับการกำชับกำชาว่าแต่ละครั้งให้กดไมค์พูดได้คราวละไม่เกิน 6 นาที และเวทีจะต้องเปิดให้ผู้ฟังได้ร่วมอภิปรายหรือวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่วิทยากรเพิ่งกล่าวจบไปด้วย
ผมจึงต้องเตือนตัวเองให้พูดให้กระชับ และใช้การนำเสนอที่เข้าใจเห็นประเด็นตามได้ง่าย
เวทีนี้เจ้าภาพไม่ให้มีการฉายสไลด์ ไม่มีการเสียเวลาเดินไปยืนพูดที่โพเดียม แต่ให้นั่งพูดที่จุดที่ตัวเองนั่งเลย
อากาศในห้องประชุมไม่หนาวเลย เพราะเขาใช้ห้องในพระราชวังเทาไรท์ที่เป็นโถงสูงหลังคากระจก มีแดดส่องทะลุลงมาสว่างจ้า
นัยว่าต้องการประหยัดพลังงาน และอวดว่าเป็นเมืองที่อากาศดี มีแดดสดใส
เราคนไทยอมยิ้มว่า บ้านเราไม่เคยอัตคัตแดดเลย ที่นี่เค้าตื่นเต้นที่เห็นแดดกัน
ผมจึงเลือกใส่เสื้อโปโลที่ทอจากเส้นใยที่ทำจากขยะพลาสติกในทะเลที่ภาคสิ่งทอของไทยทำได้มาหลายปีแล้วขึ้นนั่งและกล่าวอธิบาย
ได้ผลครับ! ฝรั่งทั้งห้องหันตั้งใจฟังกันมาก ส่วนหนึ่งเพราะผมทราบมานานแล้วว่า แม้รัสเซียมีก๊าซธรรมชาติมหาศาลกว่าใครในโลก แต่เป็น’’ก๊าซแห้ง‘’คือจุดไฟติดเป็นพลังงานล่ะ แต่ไม่มีสารประกอบทางปิโตรเคมีที่จะนำมาเข้าโรงแยกก๊าซอย่างไทย เพราะก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเป็น‘’ก๊าซเปียก’’ มีสารประกอบที่นำมาคัดแยกทำอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้มากมาย ทำให้ไทยมีวัตถุดิบทำพลาสติกได้สารพัดเกรด
เราจึงมีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีการนำพลาสติกกลับมารีไซเคิลให้กลับเป็นเม็ดพลาสติก แล้วนำเม็ดพลาสติกนั้นมาทอเส้นใยเป็นสิ่งทอได้
จะทอเป็นผ้าใส่แบบแฟชั่น ผลงานของ PTT GC หรือจะทอเป็นจีวรให้พระสงฆ์ใช้ก็ทำมาหลายปีแล้วอันนี้ผลงานของหลวงพ่อวัดจากแดง ที่รับบิณฑบาตขวดพลาสติกจากญาติโยมละแวกบางกะเจ้า พระประแดง รวมทั้งรับขวดน้ำดื่มจากทางรัฐสภาเป็นประจำคราวละเป็นคันรถ
การทอเส้นใยจากขยะพลาสติกมาเป็นสิ่งทอนั้น ถ้าอยากให้สวมใส่สบายขึ้นก็เติมเส้นใยฝ้ายธรรมชาติเข้าไป ถ้าไม่ติดใจเรื่องการซับเหงื่อก็สามารถทอมาทำเสื้อผ้าทั้งชิ้น
เสื้อตัวที่ผมสวมใส่ในการพูดครั้งนี้มาจากขยะขวดพลาสติกราว 18 ขวด
นอกจากนี้ผมยังนำปิ่นโตและเศษแหอวนที่แม่บ้านมุสลิมที่จังหวัดตรังเย็บกลับมาใช้แทนถุงขยะอเนกประสงค์ขึ้นไปแสดงบนเวทีอภิปราย มีก้นขวดน้ำดื่มพลาสติกที่ข้าราชการประจำของวุฒิสภานำมาเย็บติดซิปให้กลายเป็นตลับใส่ของจุกจิก เช่นหูฟังโทรศัพท์ได้โดยสายไม่พันกัน
ฝรั่งเห็นแล้วร้องว้าว! บอกว่าฟังสนุกกว่าการบรรยายแบบใส่สูทสากล เพราะมีอะไรให้จับต้องเป็นผลจากการรีไซเคิลขยะพลาสติกได้สะดวก
จากนั้นที่ประชุมได้อภิปรายในประเด็นการเพิ่มความร่วมมือที่เข้มข้นขึ้นระหว่างภาครัฐกับภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงความมุ่งมั่นในการร่วมมือรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ ตลอดจนการช่วยกันผลักดันให้มีกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับขยะพลาสติก รวมถึงให้ขยายความรับผิดชอบไปยังผู้ผลิต สินค้า (Extended Producer Responsibility: EPR) เพื่อจะได้ลดการใช้พลาสติกโดยไม่จำเป็น
ทุกคนกล่าวตรงกันว่าขยะพลาสติกได้กลายเป็นปัญหาสำคัญของโลกและนับวันจะมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
วันถัดมา นายอังเดร ยัตสกิน (Hon. Mr. Andrei Yatskin) รองประธานสภารัสเซีย ให้การต้อนรับและหารือทวิภาคีกับพลเอก สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง โดยแสดงความขอบคุณฝ่ายไทยที่เดินทางมาเข้าร่วมการประชุม และเอ่ยว่าการนำเสนอในเวทีอภิปรายของผู้แทนสภาไทยได้ถูกกล่าวขวัญกันจนเข้าถึงหูท่าน…อิอิ…
พวกเราในคณะเลยแอบดีใจกัน
อนึ่ง ในเย็นวันก่อนหน้าการเข้าประชุมนั้น ท่านเอกอัครราชทูตศศิวัฒน์ ว่องสินวัฒน์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมอสโก เดินทางจากมอสโกมาบรรยายสรุป ข้อมูลสถานการณ์ปัจจุบัน ตลอดจนให้ข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียเพื่อคณะเดินทางจะได้รับทราบ จากนั้นเราได้มีโอกาสซักถามจากล่ามชาวจีนที่คล่องในการแปลภาษารัสเซีย~อังกฤษให้คณะเรา ฟังจากน้องนักเรียนไทยที่มาเรียนทุนปริญญาโทที่รัสเซีย เกี่ยวกับความเป็นไปของชาวรัสเซียในเรื่องต่างๆ
เราพอสรุปได้ว่า จากที่ฟัง จากที่แอบสังเกตชาวรัสเซียส่วนใหญ่จะรู้สึกชอบเมืองไทย ชอบทะเลชอบเกาะ ชอบน้ำตกไทย ชอบผลไม้ไทย ขนมไทย ชอบอาหารไทย ชอบการนวดแผนไทย ชอบมวยไทย ชอบอัธยาศัยคนไทย น่าภูมิใจครับ
จากนั้น คณะของเราได้รับเชิญให้ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยาและชาติพันธุ์วิทยาพระเจ้าปีเตอร์มหาราช (Kunstkamera) ซึ่งเป็นชื่อของพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑ์นี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของรัสเซีย เก่าแก่ที่สุด และเป็นที่ตั้งของสถาบันวิจัยทางประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดของรัสเซียด้วย
อ้อ รวมทั้งตัวอาคารก็เก่าแก่เกินสามร้อยปี และถูกออกแบบสร้างมาเพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์นี้เสียอีกด้วย แม้จะผ่านอัคคีภัย ภัยสงครามการทิ้งระเบิดและการบุกของนาซีเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ที่นี่ก็ได้รับการบูรณะซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพดีมาก
ที่นี่จัดแสดงสิ่งของน่าสนใจจำนวนมากมาย โดยเฉพาะจากต่างประเทศในสมัยที่พระเจ้าซาร์นิโคลัสเคยเสด็จประพาส หรือได้รับมาเป็นของขวัญจากแดนไกล เช่น มัมมี่จริง พร้อมหีบศพโบราณจากอียิปต์ สฟิงค์ของจริงขนาดย่อมๆ ดาบซามูไรของแท้ หุ่นเกอิชาขนาดเท่าคนจริงจากจักรพรรดิญี่ปุ่น ลูกโลกจำลองขนาดใหญ่ที่สุดของโลกที่วิศวกรชาวเยอรมันประดิษฐ์ขึ้นเมื่อสามร้อยปีก่อน นวัตกรรมของนักวิทยาศาสตร์รัสเซียในอดีตที่ค้นพบเรื่องพลังไฟฟ้า การทำเซรามิก การทำโรงงานแก้วสเตนกลาส
แต่ที่สำคัญคือ นิทรรศการแสดงสิ่งของที่สมเด็จพระเจ้าซาร์นิโคลัส ที่2 ได้รับจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทั้งในคราวที่พระเจ้าซาร์นิโคลัสในฐานะมกุฎราชกุมารรัสเซียเสด็จเยือนชาติในเอเชีย โดยเวลานั้นมิได้มีกำหนดการที่จะเยือนประเทศสยาม
แต่เมื่อในหลวงรัชกาลที่ห้าของไทยทรงทราบ ก็ได้แต่งตั้งให้พระราชทูตเดินทางไปดักรอเชิญเสด็จให้เสด็จพระราชดำเนินมายังกรุงเทพ มีการจัดการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติและอบอุ่นยิ่ง มีการทำพิธีคล้องช้าง มีพิธีสมโภชในพระนครอย่างยิ่งใหญ่
เป็นที่ประทับใจของมกุฎราชกุมารแห่งรัสเซียอย่างเกินคาด
ครั้นมกุฎราชกุมารซาร์นิโคลัส เสด็จกลับรัสเซียไปไม่นานก็ได้ขึ้นครองราชย์ เป็นซาร์นิโคลัสที่ 2 ทรงมีพระบารมีเกรียงไกร เป็นที่ยกย่องยำเกรงโดยบรรดากษัตริย์และขุนนางในยุโรป
ในคราวที่ยุโรปนำกองเรือรบมากดดันสยามในช่วงล่าอาณานิคม ล้นเกล้ารัชกาลที่ห้าจึงวางแผนและเสด็จพระราชดำเนินไปเยือนรัสเซียโดยล่องเรือกลไฟมาขึ้นท่าที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กนี่แหละ
ที่พระราชวังของพระเจ้าซาร์นิโคลัสอันงดงามที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กนี่เองที่พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ทรงจัดถวายยกให้สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้ออกรับคณะราชทูตยุโรปที่มาประจำการอยู่ในรัสเซียได้เข้าเฝ้าฯ อย่างโอ่อ่า
มิได้ปล่อยให้พระมหากษัตริย์สยามต้องทรงไปใช้โรงแรมใดๆในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเพื่อการรับแขกที่มาขอเฝ้าฯ อย่างที่ปกติใช้เป็นมาตรฐานสำหรับเจ้าผู้ครองนครท่านอื่นๆที่เคยมีมาก่อนหน้า
ข่าวคราวการยกระดับการรับรองกษัตริย์สยามของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ท่อนนี้ถูกเล่าลือว่องไวกระจายยิ่งกว่าไฟป่า บรรดาราชสำนักในยุโรปพากันทึ่งในความสนิทสนมของกษัตริย์สยามและกษัตริย์รัสเซียแห่งราชวงศ์โรมานอฟ จึงทำให้แผนการรับเสด็จการเยือนอีกหลายเมืองหลวงของยุโรปที่ตระเตรียมไว้เพื่อรับในหลวงรัชกาลที่ห้า ถูกปรับยกระดับให้สูงขึ้นไปกว่าเดิมอีก
ผลที่ตามมาคือกองเรือล่าอาณานิคมของยุโรปต่อสยามจึงได้ลดราวาศอกลงจนไม่แตะเอกราชของสยาม
และด้วยพระราชวิเทโศบายของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าครั้งนี้นี่เองที่เป็นอีกหนึ่งน้ำหนักที่ได้ช่วยให้สยามประเทศรอดมรสุมการเข้าตียึดเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตกมาได้
ที่ชั้นสองของพิพิธภัณฑ์ที่เราเยี่ยมชม จึงยังมีตู้จัดแสดง พระแสงศาสตรา 3 เล่มที่พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ได้รับมอบจากสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวของสยาม เล่มหนึ่งเป็นกริชทองคำ ในกล่องไม้ติดอาร์มแผ่นดินเพื่อแสดงสัญลักษณ์แคว้นทางใต้แห่งสยามที่แผ่ไปถึงมลายู
ดาบทองคำ เพื่อแสดงสัญลักษณ์ของแคว้นทางเหนือของสยามว่าไปถึงแดนล้านนาล้านช้าง และพระขรรค์ทองคำเพื่อแสดงถึงสัญลักษณ์ของดินแดนแห่งภาคกลางของราชอาณาจักรสยาม
นอกจากนี้ยังแสดงพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ใหญ่น้อย ที่พิพิธภัณฑ์ได้รับจากสยามและล้านช้างที่งดงามยิ่ง บางองค์ใหญ่สักสองศอกก็มี บางองค์ทรงเครื่องมีฉัตรทองประดับ
กรมศิลปากรของไทยเคยจัดผู้เชี่ยวชาญมาช่วยออกแบบวิธีจัดวาง
พวกเราเดินชมเสร็จแล้วจึงร่วมกันน้อมสดุดีถึงพระปรีชาของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยและได้ร่วมกันรำลึกถึงประวัติความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างประเทศครั้งนั้น ที่ได้กลายเป็นหมุดหมายสำคัญตั้งแต่ พ.ศ. 2434 หรือ125 ปีก่อน ถือเป็นปีเริ่มต้นการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-รัสเซียไปด้วย
คนที่ผมมอบปิ่นโตคือรองประธานวุฒิสภารัสเซีย
คนร่างยักษ์คือรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมรัสเซียครับ
บทความโดย วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
สมาชิกวุฒิสภา
รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา
ที่มา: https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9660000049628