ยูนิลีเวอร์ ผนึก เอสซีจี นำพลาสติกใช้แล้วจากครัวเรือนหมุนเวียนกลับมาผลิตเป็นขวดบรรจุภัณฑ์ใหม่ ด้วยนวัตกรรมเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง เริ่มจากบรรจุภัณฑ์จากพลาสติกชนิด HDPE (ขวดแกลลอน ขวดน้ำยาซักผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม ขวดแชมพู และขวดครีมนวด) นำร่องสินค้าแบรนด์ ซันไลต์ คอมฟอร์ท,โดฟ, ซันซิล, เคลียร์, เทรซาเม่
วันที่ 4 มิถุนายน 2564 นายโรเบิร์ต แคนเดลิโน ประธานกรรมการบริหารกลุ่ม บริษัทยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า ยูนิลีเวอร์มีเป้าหมายที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในระดับมหภาค รวมถึงการเปลี่ยนแปลงระบบจัดเก็บพลาสติกใช้แล้วตั้งแต่ต้นทาง เพื่อลดปัญหาขยะในประเทศไทย และสร้างระบบการจัดการที่จะเปลี่ยนพลาสติกใช้แล้ว เป็นวัตถุดิบหมุนเวียนได้อย่างต่อเนื่อง โดยปี 2561 ที่ผ่านมา ยูนิลีเวอร์ประกาศความมุ่งมั่นด้านพลาสติก 3 ด้าน ได้แก่
1.ลดการใช้เม็ดพลาสติกใหม่ลงครึ่งหนึ่ง หรือ 100,000 ตันทั่วโลก
2.บรรจุภัณฑ์ของเราจะต้องใช้ซ้ำได้ รีไซเคิลได้ หรือย่อยสลายได้
3.เรียกเก็บและแปรรูปบรรจุภัณฑ์ให้ได้มากกว่าที่ขาย ทั้งหมดภายในปี 2568
“ทั้งนี้ ยูนิลีเวอร์ได้ดำเนินการปฏิวัติบรรจุภัณฑ์พลาสติกมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากขวดซันไลต์ที่เปลี่ยนเป็นขวด PET รีไซเคิล และความร่วมมือกับเอสซีจีครั้งนี้ มีเป้าหมายสำคัญคือ ลดการใช้เม็ดพลาสติก (Virgin Resin) และเพิ่มปริมาณการใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง (High Quality Post-Consumer Recycled Resin-PCR) ในบรรจุภัณฑ์ของยูนิลีเวอร์ รวมถึงการตรวจสอบให้แน่ใจว่าบรรจุภัณฑ์นั้น ๆ สามารถนำมารีไซเคิลได้ เพื่อนำกลับมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ใหม่ เป็นการสร้างอุปสงค์ให้บรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้แล้วชนิด HDPE เพื่อให้เกิดการคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง และเก็บกลับเข้าสู่ระบบ โดยจะนำร่องจากบรรจุภัณฑ์ของสินค้าแบรนด์ซันไลต์ (ขวดแกลลอน) คอมฟอร์ท, โดฟ, ซันซิล, เคลียร์, เทรซาเม่ และอื่น ๆ ต่อไป”
ด้านนายธนวงษ์ อารีรัชชกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี เผยว่าธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ดำเนินธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ “ธุรกิจปิโตรเคมีเพื่อความยั่งยืน” ตามแนวทาง ESG (Environmental, Social and Governance) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยมีโรดแมปขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน 4 ด้าน ครอบคลุมตลอดทั้งซัพพลายเชน ได้แก่
1.การพัฒนาและออกแบบสูตรการผลิตเม็ดพลาสติกและโซลูชั่นให้รีไซเคิลได้ง่าย ใช้ปริมาณพลาสติกน้อยลง
2.การนำพลาสติกใช้แล้วมาผลิตเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง หรือ PCR (Post-Consumer Recycled Resin)
3.การนำพลาสติกใช้แล้วมาผลิตเป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับธุรกิจปิโตรเคมี (Advanced Recycling Process)
4.การพัฒนานวัตกรรมพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics)
นายธนวงษ์กล่าวต่อว่า เพื่อสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจควบคู่กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจีได้พัฒนาสูตรการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง ชนิด HDPE ภายใต้แบรนด์ เอสซีจี กรีน พอลิเมอร์ (SCG Green PolymerTM) เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของเจ้าของแบรนด์สินค้า และผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ซึ่งความร่วมมือระหว่างยูนิลีเวอร์และเอสซีจีจะทำให้เกิดมิติใหม่ในการผลิตบรรจุภัณฑ์ของกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าที่ใช้ภายในบ้าน ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ได้นำพลาสติกใช้แล้วจากครัวเรือนกลับมาผลิตเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง เพื่อใช้ผลิตขวด HDPE รีไซเคิลสำหรับบรรจุภัณฑ์ของยูนิลีเวอร์
โดยสามารถใช้ส่วนผสมของเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง (High Quality PCR) ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น และคงประสิทธิภาพของบรรจุภัณฑ์ไว้เช่นเดิม ที่สำคัญจะช่วยผลักดันเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทยให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ช่วยลดการใช้ทรัพยากร และเพิ่มอัตราการรีไซเคิลพลาสติกในประเทศไทย ช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งลดวิกฤตภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่ง”
นอกจากนี้ ยูนิลีเวอร์ยังร่วมมือกับเอสซีจี ภายใต้โครงการ “แยกดี มีแต่ได้” นำร่องที่ธนาคารขยะเทศบาลเมืองใหม่บางบัวทอง เชิญชวนสมาชิกแยกบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้แล้วชนิด HDPE ขวดใสขุ่น และขาวทึบ เช่น ขวดนม หรือขวดน้ำยาล้างจาน ซึ่งจะนำไปผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงสำหรับขวดบรรจุภัณฑ์ใหม่ต่อไป
สำหรับบรรจุภัณฑ์หลายชั้น (Multilayer) เช่น ถุงน้ำยาปรับผ้านุ่ม หรือถุงแบบรีฟิล จะนำไปเข้ากระบวนการ Advanced Recycling Process เทคโนโลยีรีไซเคิลพลาสติกของเอสซีจี เพื่อเปลี่ยนพลาสติกใช้แล้วเป็นวัตถุดิบตั้งต้น หรือ Recycled Feedstock สามารถนำกลับมาผลิตเม็ดพลาสติกใหม่ได้อีกตามหลักเศษฐกิจหมุนเวียน โดยทุก 1 กิโลกรัม แลกรับผลิตภัณฑ์ยูนิลีเวอร์ 1 ชิ้น ตั้งเป้า 60 วัน ในการรวบรวมบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้แล้วให้ได้จำนวน 6,000 กิโลกรัม
ย่างไรก็ตาม จะเปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการในวันที่ 5 มิถุนายน 2564 ซึ่งตรงกับวันสิ่งแวดล้อมโลก เป็นการสร้างแรงจูงใจให้คนในชุมชนจัดการขยะอย่างถูกวิธี รู้จักการคัดแยกประเภทพลาสติก สร้างระบบการจัดการขยะรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้เห็นคุณค่าของพลาสติกใช้แล้ว ว่าสามารถนำไปหมุนเวียนสร้างประโยชน์ใหม่ได้อย่างยั่งยืน