ไตรมาส 2 บิ๊กธุรกิจเครื่องดื่มลั่นระฆัง ใช้ขวด rPET ยกระดับความยั่งยืน

บิ๊กธุรกิจเครื่องดื่ม พร้อมลุย นำขวด rPET ใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ หลัง อย. อนุมัติความปลอดภัยขั้นตอนสุดท้าย เป๊ปซี่-เนสท์เล่ ประเดิม พ.ค.66 ด้านโคคา-โคล่า เล็งเดินหน้าสู่ก้าวสำคัญนำไทยสู่ความยั่งยืนระดับสากล

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 235) พ.ศ. 2565 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานของภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติก ให้สามารถนำขวด “rPET” (recycled PET) หรือ ขวดพลาสติกบรรจุเครื่องดื่มที่ทำจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิลมาใช้ได้

นายอนวัช สังขะทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โคเบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ออกแคมเปญ “สำนึกซ่า กล้าเปลี่ยนเพื่อโลก” พร้อมประกาศความพร้อมในการใช้ขวดจากพลาสติกรีไซเคิล100% เป็นเจ้าแรกในตลาดเครื่องดื่มน้ำอัดลม นำร่องด้วยเครื่องดื่มเป๊ปซี่ ออริจินัลและ เป๊ปซี่ไม่มีน้ำตาล ขนาด 550 มิลลิลิตร(มล.) เริ่มตั้งแต่พ.ค.66 เพื่อช่วยลดปริมาณการใช้พลาสติกใหม่ (Virgin PET) หลังจากนั้น จะต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ “ทีพลัส” ชาอู่หลงพร้อมดื่มในปี 2566

เครื่องดื่ม “เป๊ปซี่” มีการนำ rPET มาใช้ในหลายประเทศแล้ว เช่น สหรัฐฯ ยุโรปนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และเวียดนาม โดยเวียดนามเปิดตัวผลิตภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อมราว 2 ปี สามารถจุดประกาย สร้างกระแสเชิงบวกจากตลาดและผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี

ด้านเนสท์เล่ นายวิคเตอร์ เซียห์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเนสท์เล่ อินโดไชน่า กล่าวว่า เนสท์เล่มีเป้าหมายการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดให้รีไซเคิลได้หรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ 100% ภายในปี พ.ศ. 2568 โดยกระป๋องเนสกาแฟพร้อมดื่ม ที่ผลิตจากอะลูมิเนียมทุกชิ้นส่วนสามารถนำไปรีไซเคิลได้ 100% ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ช่วยประหยัดพลังงานได้ถึง 95% เมื่อเทียบกับการใช้อะลูมิเนียมใหม่มาทำบรรจุภัณฑ์

รวมถึงการเดินหน้าเปลี่ยนขวดนํ้ารักษ์โลก ได้ช่วยลดปริมาณการใช้พลาสติกได้ถึง370 ตันต่อปี เมื่อเทียบกับการใช้พลาสติกผลิตขวดนํ้าแบบเดิม ซึ่งในเดือนพ.ค.66 นี้ มีแผนที่จะนำขวด rPET(recycled PET) มาใช้ หลังจาก อย. ผ่านการประเมินความปลอดภัยและอนุมัติใช้ เป็นการหมุนเวียนขวดพลาสติกเก่า มาผ่านนวัตกรรมที่ได้มาตรฐานด้านความปลอดภัยและนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวให้น้อยลง

ส่วนกลุ่มธุรกิจโคคา-โคลาในประเทศไทย ซึ่งเริ่มต้นปลุกกระแสการใช้ขวด rPET มาตั้งแต่ 5-6 ปีก่อน ได้รวมตัวกับภาคเอกชนในธุรกิจเครื่องดื่มในนามของสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย และยังร่วมกับ บมจ. อินโดรามา เวนเจอร์ส ร่วมมือเพื่อผลักดันการแก้กฎข้อบังคับของไทย เกี่ยวกับการนำขวด rPET มาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม เพื่อลดปริมาณการใช้พลาสติกผลิตใหม่ (virgin plastic)

ก่อนหน้านี้ โคคา-โคล่า ได้ลุยเป้าหมายเพิ่มส่วนประกอบที่สามารถรีไซเคิลได้ในบรรจุภัณฑ์ และเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ และยังจับมือกับพันธมิตร ทั้ง เชลล์ โลตัส และบริษัท แทรชลัคกี้ จำกัด (Trash Lucky) ชวนสายกรีน-สายลุ้น ร่วม แคมเปญ “โค้กชวนแยก แลกลุ้นโชคกับ Trash Lucky ปี 2” พร้อมเตรียมแผนรองรับ การใช้งานrPET หลัง กฎหมายคลอด

นายนันทิวัต ธรรมหทัย ผู้อำนวยการองค์กรสัมพันธ์ การสื่อสารและความยั่งยืนบริษัท โคคา-โคล่า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ มีเป้าหมายการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ส่วนประกอบที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้อย่างน้อย 50% และตั้งเป้าว่า จะขายอะไรไปเท่าไร ก็ต้องตามไปเก็บบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ให้ได้ 100% ภายในปีค.ศ.2030 หรือในอีก 8 ปีนับจากนี้ ด้วยเป้าหมายดังกล่าว โคคา-โคล่า จึงจัดกิจกรรมและทำอะไรหลายๆ

ส่วนเรื่อง rPET ที่มีการปลดล็อกกฎหมาย ในการนำขวด PET ที่ใช้แล้วกลับมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่มได้อีกครั้ง จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ช่วยให้การผลักดันด้านการจัดการขวด PET ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีการใช้มากที่สุด ถูกบริหารจัดการได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งทางโคคา- โคล่า เอง ก็มีแผนสำหรับการดำเนินงานในส่วนนี้เช่นกัน เพียงแค่รอให้กฎหมายคลอดออกมาอย่างเป็นรูปธรรม

ตัวเลขประมาณการ คำนวณ และอ้างอิงจาก TGO -องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ประเมินว่า สินค้าพลาสติกรีไซเคิล 1 ตัน ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ >1 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือ เท่ากับการปลูกต้นไม้ยืนต้นได้ >100 ต้น

การปลูกต้นไม้ยืนต้น 1 ต้น สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 8 กิโลกรัมต่อปี

 

ที่มา: https://www.thansettakij.com/sustainable/562788 

วันที่ 26 เมษายน 2566