“KBF” รุกตลาดพรีเมียมฟูดแพกเกจจิ้ง

นายดนุสรณ์ เตชะพานิชกุล กรรมการบริหาร บริษัท เคบีเอฟ อินเตอร์แพ็ค จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทเป็นหนึ่งในผู้ผลิตแพกเกจจิ้งระดับพรีเมียมชั้นนำในประเทศไทย ที่เริ่มต้นขึ้นโดยการหยิบนำ Know-how จากโรงงานในประเทศญี่ปุ่นมาใช้ เพื่อสร้างแพกเกจจิ้งที่มีความพิถีพิถันทั้งในด้านคุณภาพ ความแข็งแรง ความใสที่มากเป็นพิเศษ โครงสร้างในการขึ้นมุมและสัญลักษณ์ที่ชัดเจนสวยงาม ซึ่งเกิดมาจากเทคโนโลยีการขึ้นแม่พิมพ์ที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงประสบการณ์ที่สั่งสมมานานกว่า 18 ปี

“KBF จะมุ่งเน้นที่ตลาด Cosmetic เป็นหลัก โดยผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทจะแบ่งเป็นวัสดุประเภท PETE ซึ่งเป็นพลาสติกเกรดพรีเมียมที่มีความใส เงา ทนทานสูง เหมาะกับตลาดสินค้าความงาม-ตลาดอาหารและยา ต่อมาคือหลอด PE ผลิตโดยเครื่องจักรจากประเทศเกาหลี ที่เป็นเทคโนโลยีประเภทหลอดพลาสติก 3 และ 5 ชั้น รวมถึงยังมีงานกระปุกอีกหลายรูปแบบ นอกจากนี้ บริษัทยังดูแลถึงส่วนของงานตกแต่ง ทั้งการติดสติกเกอร์ ฉลาก งานสีต่างๆ ไปจนถึงบริการหาตัวปั๊มหรือฝาที่เหมาะสมกับแพกเกจจิ้ง เพื่อให้ลูกค้าพร้อมสำหรับนำไปกรอกเนื้อผลิตภัณฑ์และได้สินค้าสำเร็จออกสู่ตลาดได้เลย”

ปัจจุบัน KBF Interpack มีสัดส่วนการจัดจำหน่ายแบ่งเป็นในประเทศไทย 70% และส่งออก 30% ส่วนใหญ่ในกลุ่มประเทศสหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ตามลำดับ และยังมีการจัดจำหน่ายผ่านลูกค้า OEM ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหรัฐอเมริกา รวมถึงประเทศอื่นในเอเชีย โดยได้แบ่งรูปแบบ SKU ของสินค้าออกเป็น 2 ประเภท คือ สินค้า Common Mold ขนาดตั้งแต่ 10 มิลลิลิตร จนถึง 1.2 ลิตร ประกอบด้วย ทรง Bottle, Jar, Tube และอื่นๆ มากกว่า 400 รูปแบบ ส่วนอีกประเภทคือ สินค้า Private Mold ซึ่งขึ้นรูปได้อย่างเฉพาะตัวตามเอกลักษณ์ของแบรนด์ ทั้งยังตอบโจทย์ตลาดในประเทศที่กำลังเข้าสู่ยุคของ Niche Market มากขึ้นด้วย

“เรามองว่าตลาดยุคใหม่จะมีความต้องการหลักๆ แบ่งเป็นมุมมองของลูกค้าที่อยากได้แพกเกจจิ้งสะท้อนภาพจำของแบรนด์ตัวเองมากขึ้น จุดนั้นทำให้ KBF มีการลงทุนในเครื่องจักร Private Mold ในโรงงานที่จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อเป็น Specialized รองรับกับ Niche Market โดยเฉพาะ ทั้งยังมีการร่วมมือกับคู่ค้าเพื่อวิจัยพัฒนานวัตกรรมแพกเกจจิ้งสีด้าน สร้างขวดลักษณะสีด้านที่คงทน ไม่หลุดลอก และมีความสม่ำเสมอในทุกๆ ด้าน แตกต่างจากการพ่นสีทั่วไป ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมที่ทำเป็นเจ้าแรกในประเทศอีกด้วย”

นายดนุสรณ์ยังกล่าวอีกว่า ความต้องการในตลาดแพกเกจจิ้งที่เข้ามาหลังสถานการณ์โควิดเริ่มฟื้นฟู คือแง่ของการทำธุรกิจรักษ์โลก หรือการเปลี่ยนมาใช้ PCR ซึ่งเป็นวัตถุดิบรีไซเคิลแทนการใช้วัสดุเดิมอย่าง Virgin Plastic ที่ทำจากน้ำมัน โดยปัจจุบันด้วยนโยบายของตลาดฝั่งยุโรปที่มีปัจจัยด้านภาษีรีไซเคิลเข้ามาเกี่ยวข้อง ได้เร่งให้บริษัทปรับตัวมาใช้วัสดุ PCR มากกว่า 30% ในการส่งออก เช่นเดียวกับในไทย ที่วัตถุดิบเม็ดพลาสติกรีไซเคิลเริ่มกลับมามีจำนวนเพียงพอต่อความต้องการอีกครั้ง หลังขาดแคลนไปก่อนหน้าโควิดเริ่มระบาด ทำให้ KBF มีความพร้อมต่อการขึ้นรูปแพกเกจจิ้งจากวัสดุรีไซเคิลสำหรับลูกค้าในประเทศไทยเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ KBF มีจุดแข็งในการเน้นเรื่องคุณภาพของสินค้าเป็นหลัก สามารถการันตีได้ว่าสินค้ามีข้อบกพร่องไม่เกิน 3% รวมถึงใช้เวลาในการผลิตที่รวดเร็ว พร้อมจัดส่งในระยะเวลาเพียง 30-45 วัน ขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้า จุดแข็งเหล่านี้ทำให้บริษัทมีการเติบโตในสถานการณ์โควิดที่สวนทางกับธุรกิจประเภทอื่น ทั้งยังมีปัจจัยบวกเสริมจากความต้องการในขวดสเปรย์-เจลแอลกอฮอล์ที่มากขึ้นในช่วงดังกล่าว ทำให้บริษัทมียอดขายเติบโตขึ้นถึง 20% ต่อปี ในช่วง 3 ปีหลัง และช่วยผลักดันให้ KBF มีความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดที่นอกเหนือจากตลาด Cosmetic
“ในช่วงกลางปี 2566 นี้ KBF จะมีการลงทุนประมาณ 15 ล้านบาท ในการนำเครื่องจักรใหม่เข้ามา โดยมุ่งเน้นในเรื่องของตลาดอาหารเกรดพรีเมียมโดยเฉพาะ เช่น ขวดซอสสลัด ซอสอาหาร ซอสน้ำมัน ไซรัปต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการลงทุนในด้านงานตกแต่งสีและการทำแพกเกจจิ้งจากวัสดุ PCR เช่น ขวดรีไซเคิล หลอดรีไซเคิล โดยนวัตกรรมต่างๆ ที่บริษัทสร้างสรรค์ขึ้นมาในปีนี้ยังจะถูกนำไปจัดแสดงในงานแสดงสินค้าเพื่อธุรกิจความงามระดับโลก Cosmoprof CBE ASEAN 2023 เพื่อแสดงถึงความหลากหลายของแพกเกจจิ้งที่ครอบคลุมในตลาด Cosmetic และ Food Industry”

 

ที่มา: https://mgronline.com/business/detail/9660000035875 

วันที่ 19 เมษายน 2566