ซันโทรี่ เป๊บซี่โค ประเทศไทย ร่วมสร้างความตระหนักรู้บรรจุภัณฑ์ rPET ขับเคลื่อน Bottle-to-Bottle Recycling มุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน

หลายคนคงเคยได้ยินมาแล้วว่าการรีไซเคิลพลาสติก คือการนำทรัพยากรกลับมาแปรสภาพเพื่อหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่อย่างรู้คุณค่าเป็นหนึ่งในแนวทางสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ทว่า คนส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจในเรื่องนี้คลาดเคลื่อนอยู่มาก เช่น ความคิดที่ว่าพลาสติกทุกชนิดสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ จึงไม่จำเป็นต้องเลือกบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่การทิ้งขยะโดยไม่คัดแยก จนทำให้มีพลาสติกจำนวนมากไม่สามารถหมุนเวียนกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ ดังนั้น น่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่าหากเราทำความเข้าใจเรื่องราวของการรีไซเคิลพลาสติกกันให้ถูกต้อง เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสิ่งแวดล้อมของเราอย่างจริงจัง

จากขวด PET มาสู่ rPET ก้าวแรกสู่ความยั่งยืนของประเทศไทย

ต้นตอของปัญหาสิ่งแวดล้อมอาจไม่ใช่การใช้พลาสติก แต่เป็นการจัดการกับพลาสติกที่ถูกใช้แล้ว โจทย์สำคัญคือจะทำอย่างไรให้พลาสติกเหล่านั้นหมุนเวียนกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลในปริมาณที่เพิ่มขึ้น บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มชั้นนำในประเทศไทย มุ่งมั่นส่งเสริมการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน (Packaging Sustainability Management) จึงให้ความสำคัญตั้งแต่การเลือกใช้พลาสติก PET ที่มีคุณภาพดี และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-Design for Recycle) เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการและสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ 100% โดยเมื่อผ่านกระบวนการรีไซเคิลที่ได้มาตรฐาน จะถูกแปรสภาพเป็นขวดบรรจุภัณฑ์ใหม่ เรียกว่า recycled PET (ขวด ‘rPET’) เทรนด์บรรจุภัณฑ์ใหม่ซึ่งผู้ผลิตทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ประเทศในโซนอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น หรือแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ก็มีการใช้ขวด rPET กันแล้ว และผู้บริโภคก็ให้การตอบรับเป็นอย่างดี

นวัตกรรมล้ำหน้าในการผลิตขวด rPET

ปกติเรารู้จักขวด PET (Polyethylene Terephthalate) กันในรูปแบบขวดพลาสติกใสที่น่าใช้งาน ซึ่งเหมาะกับการเป็นขวดเครื่องดื่มที่ทุกคนไว้วางใจ และด้วยคุณสมบัติความเหนียว แข็งแรงทนทาน เมื่อขวด PET ผ่านกระบวนการรีไซเคิลที่ได้มาตรฐานจะสามารถนำมาหลอมขึ้นรูปเพื่อหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ 100% ในรูปแบบของขวด “rPET” (recycled PET)

กระบวนการผลิตขวด rPET เริ่มจากการแยกชิ้นส่วนฝาและฉลาก จากนั้นจึงนำขวดมาบดเป็นเกล็ดพลาสติกชิ้นเล็กๆ ที่เรียกว่า Flakes แล้วส่งต่อไปยังกระบวนการล้างทำความสะอาดด้วยเทคนิคพิเศษอีกหลายขั้นตอน เพื่อกำจัดสิ่งปนเปื้อนออกไปให้ได้ตามมาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนด และเข้าสู่ขั้นตอนสำคัญคือการหลอมเกล็ดพลาสติกด้วยความร้อนสูง ผสานการใช้เทคโนโลยีเฉพาะในการปรับปรุงคุณภาพจนได้เม็ดพลาสติกรีไซเคิล (rPET resin) ที่สะอาด ปราศจากสารปนเปื้อนอันตรายและมีความปลอดภัยในการใช้เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่มตามมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เราเรียกกระบวนการรีไซเคิลขวด rPET ว่าเป็น “Bottle-to-Bottle Recycling” คือการแปรสภาพขวดใช้แล้วให้หมุนเวียนเป็นขวดใหม่ที่สะอาดปลอดภัย และใช้บรรจุเครื่องดื่มเพื่อบริโภคได้จริง

ขวด rPET สะอาดปลอดภัยได้มาตรฐานจริงหรือ?

เนื่องจากเทคโนโลยีการรีไซเคิลในปัจจุบันพัฒนามากกว่าในอดีต ทำให้ขวด rPET มีคุณภาพดีแทบไม่แตกต่างจากขวดพลาสติกใหม่ ทั้งยังปราศจากสารปนเปื้อนที่เป็นอันตราย จึงสามารถใช้บรรจุอาหารและเครื่องดื่มได้อย่างปลอดภัยตามมาตรฐานของหน่วยงานระดับสากล ไม่ว่าจะเป็นองค์การอาหารและยาสหรัฐ (USFDA) และหน่วยงานตรวจสอบความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรป (EFSA) สำหรับในประเทศไทย หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านความปลอดภัยทางอาหารอย่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ปลดล็อคกฎหมายโดยอนุญาตให้ใช้พลาสติกรีไซเคิล ‘rPET’ กลับมาเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มได้ และกำหนดเกณฑ์มาตรฐานด้านความปลอดภัยที่เข้มงวดเทียบเท่าหน่วยงานระดับสากล รวมถึงกำหนดให้ขวด rPET ต้องมีคุณภาพเทียบเท่าขวดที่ผลิตจากพลาสติกใหม่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคชาวไทย

ขวด rPET ปูทางสู่อนาคตด้านสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

ขวด rPET กำลังจะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มในประเทศไทย ดังนั้น ซันโทรี่ เป๊บซี่โค ประเทศไทย ขอเชิญชวนทุกคนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน ด้วยการเลือกซื้อสินค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์ขวด PET แบบใส ไม่มีสี เพราะสามารถรีไซเคิลกลับมาทำเป็นขวด rPET ได้ ที่สำคัญ ต้องช่วยกันคัดแยกบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคให้ถูกต้อง เพื่อช่วยลดปริมาณขยะเล็ดลอดสู่สิ่งแวดล้อมและนำขวดพลาสติกที่สะอาดกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลให้มากขึ้น เพียงเท่านี้ผู้บริโภคก็สามารถมีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

 

ที่มา: https://positioningmag.com/1422821 

วันที่ 13 มีนาคม 2566