‘อินคิวเบชันฯ’ หนุน 2 สตาร์ทอัพไทย พัฒนานวัตกรรม ลดขยะพลาสติก

“เดอะ อินคิวเบชัน เน็ตเวิร์ค” องค์กรไม่แสวงหากำไร สนับสนุนสตาร์ทอัพไทย “นาโน ออเนี่ยนส์” และ “ไมโครเวนดิ้งเทค” พัฒนานวัตกรรมลดปัญหาขยะพลาสติก ผ่านโครงการ SUP Challenge

“ซิง ซุน ซวน” Program Manager ประจำองค์กร เดอะ อินคิวเบชัน เน็ตเวิร์ค องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ซึ่งก่อตั้งขึ้นที่สิงคโปร์ กล่าวว่า อินคิวเบชั่นฯ พยายามค้นหาโซลูชั่นในการแก้ปัญหาขยะพลาสติก โดยเฉพาะขยะจากพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชีย ผ่านการทำงานร่วมมือกับพันธมิตรหลากหลาย พร้อมจัดทำโครงการ SUP Challenge ในภูมิภาคเอเชีย เพื่อส่งเสริมสตาร์ทอัพที่ค้นหานวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาขยะพลาสติก โดยมีสตาร์ทอัพถึง 76 ราย ที่ร่วมโครงการ

สำหรับประเทศไทย สตาร์ทอัพที่ได้รับการสนับสนุนมี 2 รายคือ คือ “สดาวุธ การะเกตุ” ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท นาโน ออเนี่ยนส์ และ “สกล สัจเดว” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไมโครเวนดิ้งเทค จำกัด ซึ่งในแต่ละสตาร์ทอัพ จะได้รับงบประมาณสนับสนุนแตกต่างกัน แล้วแต่โปรเจ็กต์ที่นำเสนอ

โปรเจ็กต์ของนาโน ออเนี่ยนส์ “สดาวุธ” เล่าว่า ทำเรื่องหลอดจากฟางข้าว เริ่มทำไพรอทโปรเจ็กต์ 3 หมื่นหลอด โดยกำลังอยู่ในช่วงทดลองตลาด ผ่านร้านอาหารพาร์ทเนอร์ 6 ราย อาทิ Blackheath Bistro, Singha Complex , 361 THREE SIX ONE, psychic bar, ต้นจันทน์บาร์, บ้านหอมกาแฟ และอื่นๆ

ส่วนไมโครเวนดิ้งเทค “สกล” เล่าว่า ทำนวัตกรรมเครื่อง RVM รับซื้อขวดพลาสติก และอลูมิเนียม เนื่องจากการคลุกคลีกับชุมชนในจังหวัดนครปฐมกว่า 15 ปี ทำให้เห็นถึงปัญหาและโอกาสในการแก้ไข จึงใช้เทคโนโลยีเอไอผลิตเป็นเครื่องรับซื้อขวดพลาสติก ที่สามารถคัดแยกและระบุยี่ห้อ ระบุขนาดขวดได้ เป็นการบริหารการจัดการขยะ คัดแยกขยะจากต้นทาง โดยผู้ที่นำขยะมาทิ้งจะได้รับคะแนนสะสม เพื่อแลกรับบริการและสินค้าต่างๆ จากผู้ที่ร่วมโครงการ หรือใช้บริการในอีโคซิสเต็มของไมโครเวนดิ้งเทค ที่มีทั้งตู้จำหน่ายน้ำมันหยอดเหรียญ ร้านซักรีด และตู้รีฟิลเติมน้ำยาซักผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างจาน น้ำยาถูพื้น

ขณะนี้ตู้รับซื้อขวดได้ผลิตและติดตั้งในชุมชนแล้ว 5 ตู้ และเดือนมิถุนายน จะมีคนให้เช่าที่อีก 20 แห่ง ทั้งใน นครปฐม ราชบุรี และสมุทรสาคร ซึ่งเป็นแหล่งเป็นชุมชนหนาแน่น ก็จะมีการติดตั้งตู้เพิ่มเติม โดยขณะนี้ราคาต้นทุนของตู้อยู่ที่ประมาณ 1 แสนบาท แต่เมื่อผลิตปริมาณเพิ่มขึ้นก็จะทำให้ต้นทุนลดลงได้

“ซิง ซุน ซวน” กล่าวเพิ่มเติมว่า อินคิวเบชันฯ นอกจากสนับสนุนทุนในการทำไพรอทโปรเจ็กต์หรือผลิตสินค้าตัวอย่าง ก็ยังสนับสนุนในเรื่องขององค์ความรู้ เทคนิค และแนะนำผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยต่อยอดโปรเจ็กต์ต่างๆ ของสตาร์ทอัพ

“ตอนเริ่มโครงการ ไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าจะต้องลดขยะพลาสติกให้ได้เท่าไร แต่เป้าหมายคือ เราอยากเข้าใจว่าในแต่ละประเทศ มีโซลูชั่น ตัวเลือกอะไรที่จะใช้แทนพลาสติก และเราต้องการเทสต์ว่า ธุรกิจร้านอาหาร เครื่องดื่ม คาเฟ่ มีความพร้อมที่จะใช้วัสดุทดแทนพลาสติกแค่ไหน โปรแกรม SUP Challenge จึงเป็นเหมือนการเช็คตลาด” จากโปรแกรมที่ดำเนินการมา พบว่ามีธุรกิจร้านอาหาร และเครื่องดื่ม ที่เข้าร่วม 60 ร้าน ที่มีความอยากเปลี่ยนแปลง หาวัสดุทดแทนพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวในประเทศไทย ในปี 2564 มีขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียว (Single-use Plastics) เกิดขึ้นภายหลังการบริโภคประมาณ 2.76 ล้านตัน คิดเป็น 11% ของปริมาณขยะทั้งหมด ถึงแม้ว่าขยะพลาสติกแบบใช้
ครั้งเดียวสามารถนํากลับมารีไซเคิลได้ แต่ไม่นิยมในการเก็บรวบรวมนํามาขาย เนื่องจากมีการปนเปื้อนสิ่งสกปรกสูง น้ำหนักเบา ยากต่อการขนส่ง ทําให้ไม่คุ้มค่าต่อการดําเนินการของผู้รับซื้อของเก่า

ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นเหตุให้มีการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวเพิ่มขึ้น ถึงแม้ COVID-19 จะกลายเป็นโรคประจําถิ่น แต่วิถีการใช้ชีวิตของมนุษย์แบบ New Normal จะยังคงอยู่ ทำให้ทุกฝ่ายต้องเร่งช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติกมากยิ่งขึ้น โครงการของ อินคิวเบชันฯ ก็เป็นส่วนหนึ่งในการเร่งขับเคลื่อนการแก้ปัญหาดังกล่าว

 

ที่มา: https://www.thansettakij.com/business/555893 

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566