ภาษีพลาสติก (Plastic Tax) หรือ “ภาษีบรรจุภัณฑ์พลาสติก” (Plastic Packaging Tax: PPT) เป็นมาตรการภาษีที่เรียกเก็บเงินจากผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือประเทศสมาชิกที่ผลิต นำเข้า แบบใช้ครั้งเดียวทิ้งและย่อยสลายยาก
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้ศึกษาและติดตามนโยบายและมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของต่างประเทศที่ส่งผลต่อการค้าของไทย พบว่า ตั้งแต่ปี 2564 มีประเทศคู่ค้าของไทยเริ่มจัดเก็บภาษีพลาสติก เพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change)
ทั้งนี้ภาษีพลาสติก” (Plastic Tax) หรือ “ภาษีบรรจุภัณฑ์พลาสติก” (Plastic Packaging Tax: PPT) เป็นมาตรการภาษีที่เรียกเก็บเงินหรือค่าธรรมเนียมจากผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือประเทศสมาชิกที่ผลิต นำเข้า หรือใช้ผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งและย่อยสลายยาก
ทั้งนี้ ไม่รวมบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่มาจากการรีไซเคิล การจัดเก็บภาษีพลาสติกจะทำให้ต้นทุนของบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคเปลี่ยนไปใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หรือเลือกใช้สินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้หรือบรรจุภัณฑ์ที่นำมาใช้ซ้ำแทน ท้ายที่สุดแล้วจะทำให้ปริมาณขยะพลาสติกลดลง ในขณะที่ภาครัฐก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น
ปัจจุบัน มีประเทศที่จัดเก็บภาษีพลาสติกแล้ว ได้แก่ สหภาพยุโรป เริ่มจัดเก็บภาษีพลาสติกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 โดยกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องจ่ายภาษีให้กับสหภาพยุโรป ซึ่งคำนวณจากปริมาณบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว ในอัตรา 0.8 ยูโรต่อกิโลกรัม นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศสามารถออกมาตรการภาษีพลาสติกของตนเองแตกต่างกันออกไปได้ อาทิ อิตาลีและสเปนเก็บภาษีพลาสติกจากผู้ผลิต ผู้ขาย ผู้ซื้อ ซัพพลายเออร์ และผู้นำเข้า ในอัตรา 0.45 ยูโรต่อกิโลกรัม ขณะที่ โปรตุเกสจะเริ่มเก็บภาษีพลาสติกในอัตรา 0.30 ยูโรต่อกิโลกรัม
ในปี 2566 สหราชอาณาจักรเริ่มเก็บภาษีบรรจุภัณฑ์พาสติก ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 จากผู้ผลิตและผู้นำเข้าบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่มีส่วนผสมจากพลาสติกรีไซเคิลน้อยกว่าร้อยละ 30 ในอัตรา 200 ปอนด์ต่อตัน และฟิลิปปินส์เพิ่งเห็นชอบกฎหมายภาษีถุงพลาสติก (Plastic Bags Tax Act) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา และในปี 2569 ฟิลิปปินส์จะเริ่มจัดเก็บภาษีจากผู้ผลิตและผู้นำเข้าพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ในอัตรา 100 เปโซฟิลิปปินส์ต่อกิโลกรัม (ประมาณ 1.75 ดอลลาร์) ในขณะที่สหรัฐฯ ก็กำลังพิจารณาร่างกฎหมาย Reduce Act of 2021 ที่จะจัดเก็บภาษีพลาสติกที่ไม่มีส่วนผสมจากพลาสติกรีไซเคิลและบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ในอัตรา 0.2 – 0.5 ดอลลาร์ต่อปอนด์
ในปี 2564 ไทยมีการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติก ไปยังตลาดโลก มูลค่ารวม 140,772.17 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.07 ของมูลการส่งออกรวม ขยายตัวร้อยละ 13.46 สำหรับใน 11 เดือนแรกของปี 2565 ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกเป็นมูลค่า 146,580.53 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 14.09 โดยตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย 5 อันดับแรกได้แก่ สหรัฐฯ มีสัดส่วนร้อยละ 19.26 ญี่ปุ่น (ร้อยละ 16.74) เวียดนาม (ร้อยละ 5.69) ฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 4.94) และจีน (ร้อยละ 4.75)
ถึงแม้ว่าตลาดสำคัญของไทยจะยังไม่มีการจัดเก็บภาษีพลาสติก แต่ในอนาคตมีแนวโน้มที่ตลาดเหล่านี้จะจัดเก็บภาษีพลาสติก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกอันดับ 1 ของไทย อยู่ระหว่างจัดทำร่างกฎหมาย Reduce Act of 2021 ซึ่งย่อมส่งผลให้ผู้ส่งออกมีต้นสูงขึ้น ดังนั้น ประเทศไทยต้องเตรียมการรองรับ ปรับตัว และแสวงหาโอกาสทางการตลาดในการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค อาทิ การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ การพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับและมาตรฐานบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่มีส่วนผสมของพลาสติกรีไซเคิล การส่งเสริมการส่งออกพลาสติกชีวภาพ และการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน (Sustainable business) เป็นต้น