แอคคอร์ (Accor) กลุ่มธุรกิจโรงแรมชั้นนำของโลก เผยแพร่รายงานที่ให้ข้อมูลและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับ 8 เส้นทางหลักที่จะนำพาธุรกิจ สังคม และผู้นำก้าวเดินไปสู่อนาคตที่ให้ความสำคัญกับการมีสุขภาวะที่ดีของมนุษย์และการบรรลุสิ่งอันพึงปรารถนา รายงานวิจัยนี้มีชื่อว่า โรดแมปสู่วัฒนธรรมการมีสุขภาวะดีแบบพลิกโฉม (The Road Map Towards a Transformational Well-Being Culture) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจสถานะความเป็นอยู่ที่ดีของโลก และประเด็นปัญหาในยุคสมัยของเรา รายงานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์ เฮลท์ ทู เวลท์(Health to Wealth) ของแอคคอร์ที่อัดแน่นด้วยข้อมูลเชิงลึกและกำลังเป็นที่สนใจอยู่ในขณะนี้ โดยก่อนหน้านี้ เฮลท์ ทู เวลท์ ได้เปิดตัวพอดแคสต์ 12 ตอนที่ได้เหล่านักคิดชั้นแนวหน้ามาร่วมไขความเข้าใจและให้ความกระจ่าง ตลอดจนการจัดแข่งขันชาเลนจ์สำหรับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพในปารีสร่วมกับวิวาเทค (VivaTech)
แอคคอร์มุ่งขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉม โดยสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่เศรษฐกิจสุขภาวะ (Well-being Economy) ด้วยความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะช่วยเหลือผู้คน ธุรกิจ และชุมชนให้บรรลุในสิ่งที่ตนให้ความสำคัญ เพื่อสร้างความสอดคล้องและความเจริญรุ่งเรือง เอ็มลิน บราวน์ (Emlyn Brown) รองประธานระดับโลกด้านสุขภาวะของแอคคอร์ กล่าว รายงาน เฮลท์ ทู เวลท์ แสดงให้เห็นว่า การมีสุขภาวะดีเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับทุกคน และทุกคนต้องยอมรับในเรื่องนี้ หากต้องการรักษาสมดุลของชีวิต สังคม และโลกของเรา
รายงานฉบับนี้นำเสนอแนวทางหลัก 8 ประการให้ธุรกิจ รัฐบาล และองค์กรต่าง ๆ พิจารณาเมื่อต้องวางแผนโรดแมปในการสร้างวัฒนธรรมการมีสุขภาวะดี อันจะนำไปสู่ความสำเร็จและการเติบโตในเศรษฐกิจอนาคต ผลวิจัยเหล่านี้ได้มาจากข้อมูลอันเข้มข้นที่เหล่านักคิดมาร่วมแบ่งปันในพอดแคสต์ เฮลท์ ทู เวลท์ ซึ่งแนวทางหลักดังกล่าว ได้แก่
1. สุขภาวะดีประกอบด้วยร่างกายและจิตใจ - การศึกษาจำนวนมากแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างสุขภาพจิตและสุขภาพกาย และการค้นพบเหล่านี้นำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีทางประสาทวิทยาศาสตร์ที่ส่งผลดีทั้งทางจิตวิทยาและสรีรวิทยา
2. การวัดผลสามารถปรับปรุงสุขภาวะ - รัฐบาล องค์กรด้านสุขภาพ และบริษัทต่าง ๆ ควรรวบรวมข้อมูลด้านสุขภาพที่ครอบคลุมและมีนัยยะมากขึ้น พร้อมทั้งดำเนินการเพื่อปรับปรุงข้อมูลสถิติเหล่านั้น
3. สุขภาวะดีเริ่มต้นจากการเงินของเรา - เป้าหมายระยะยาวคือการกระจายความมั่งคั่งที่เท่าเทียมกันมากขึ้น และเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว จึงจำเป็นต้องช่วยให้ผู้คนรู้จักบริหารเงินและความเครียดทางการเงิน พร้อมทั้งเสนอวิธีการแก้ปัญหาในราคาไม่แพง
4. การเข้าถึงสุขภาวะที่ดีต้องมีความเสมอภาค - การมีสุขภาวะดีต้องไม่แบ่งแยก มีความพร้อม เข้าถึงได้ และทุกคนสามารถทำได้ โดยไม่มีเรื่องความมั่งคั่ง เชื้อชาติ สัญชาติ เพศสภาพ เพศวิถี หรือความสามารถเข้ามาเกี่ยวข้อง
5. ร่วมคิดร่วมทำคือปัจจัยสำคัญ - เนื่องด้วยองค์กร บริษัท และประเทศต่าง ๆ เชื่อมโยงความคิดและการดำเนินการเข้ากับระบบนิเวศที่กว้างขึ้น สุขภาพที่ดีขึ้นของประชากรจึงสามารถนำไปสู่เศรษฐกิจที่มั่งคั่งและแข็งแกร่งมากขึ้นได้
6. เทคโนโลยีต้องเป็นพลังบวก - การที่บุคคลมีอำนาจในการควบคุมข้อมูล ความเป็นส่วนตัว และความปลอดภัยของตัวเอง พร้อมทั้งปรับปรุงคุณภาพของข้อมูลที่แบ่งปัน รวบรวม และใช้งานนั้น ถือเป็นพลังบวกสำหรับการเปลี่ยนแปลง
7. สุขภาวะที่ดีของเรานั้นเกี่ยวพันกับโลกของเรา - วิธีที่เราใช้ทรัพยากรอันมีค่าของโลกมีความสำคัญต่อสุขภาวะของโลก เพื่อให้อากาศ อาหาร และน้ำของเราปลอดภัย หล่อเลี้ยงชีวิต และยั่งยืน
8. สุขภาวะดีอยู่เหนือความแตกต่างทางวัฒนธรรม - ความปรารถนาที่จะมีสุขภาพดีเป็นความปรารถนาสากลและสำคัญต่อความเป็นมนุษย์ หากได้รับการยอมรับว่าเป็นหลักการพื้นฐานของนโยบายสาธารณะ ก็สามารถเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโลกได้
เช่นเดียวกับซีรีส์พอดแคสต์ เฮลท์ ทู เวลท์ รายงานฉบับนี้ได้รับการดูแลจัดการโดย เวลล์ อินเทลลิเจนซ์ (Well Intelligence) ด้วยความร่วมมือกับแอคคอร์ ทั้งนี้ เวลล์ อินเทลลิเจนซ์ เป็นกลุ่มที่ปรึกษาธุรกิจระหว่างประเทศในสหราชอาณาจักรที่สนับสนุนความเกี่ยวข้องทางวัฒนธรรมและเส้นเลือดหล่อเลี้ยงวัฒนธรรมอันเกิดจากการลงทุนด้านสุขภาวะ โดยให้คำแนะนำองค์กรต่าง ๆ ที่ต้องการสร้างโปรแกรมสุขภาวะที่มีประสิทธิภาพ ทำให้พนักงานแข็งแรงขึ้น และชุมชนมีสุขภาพดีขึ้น