ในฐานะบริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำของไทย โอสถสภาได้กำหนดให้การลดผลกระทบที่เกิดจากของเสียบรรจุภัณฑ์และการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นหนึ่งในเป้าหมายด้านความยั่งยืนปี 2568 และเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว บริษัทฯ ได้พัฒนาบรรจุภัณฑ์ยั่งยืนและโมเดลจัดการบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วอย่างมีประสิทธิภาพ โดยดำเนินงานร่วมกับพันธมิตรที่หลากหลาย รวมถึงชุมชนซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งพลังที่สำคัญผ่านโครงการจากขวดแก้วสู่ขวดแก้ว (Bottle to Bottle) ส่งเสริมการแยกขยะ โดยเฉพาะขยะขวดแก้ว ในชุมชนรอบสำนักงานและโรงงานของโอสถสภา นอกจากนี้ ยังได้ต่อยอดไปสู่อาคารสำนักงาน อาคารที่อยู่อาศัย และชุมชนบางกระเจ้า ซึ่งเป็นพันธมิตรของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
โอสถสภาได้ริเริ่มโครงการ จากขวดแก้วสู่ขวดแก้ว (Bottle to Bottle) ขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา เพื่อปลูกพลังสีเขียวให้แก่ชุมชน โดยมอบอุปกรณ์สำหรับแยกขยะและส่งพนักงานจิตอาสาเข้าไปแนะนำวิธีการแยกขยะแก่ชุมชน เพื่อสร้างความเข้าใจในการแยกขยะอย่างถูกต้อง นอกจากนี้ ยังมีการจดบันทึกปริมาณขยะที่ได้รับ เพื่อสมทบทุนจำนวน 50 สตางค์ สำหรับขวดแก้วทุกๆ 1 กิโลกรัมที่ส่งกลับเข้ามาสู่กระบวนการรีไซเคิล เพื่อนำไปสร้างสาธารณประโยชน์หรือช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส โดยนำร่องกับชุมชนรอบข้างสำนักงานใหญ่ ย่านหัวหมาก ซึ่งมีบ้านที่เข้าร่วมโครงการกว่า 200 ครัวเรือน นอกจากนี้ ยังได้ต่อยอดสู่พื้นที่อื่นๆ โดยจับมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ส่งเสริมให้พันธมิตรในโครงการขยะล่องหน ทั้งชุมชนบางกระเจ้า ซึ่งมีประชากรกว่า 40,000 คน 13,200 ครัวเรือน และอาคารสำนักงาน อาคารที่พักอาศัยต่างๆ กว่า 13 แห่ง โดยเฉพาะที่ตั้งอยู่บนถนนรัชดาภิเษก แยกขยะขวดแก้วและนำมาส่งที่จุดรับขยะขวดแก้วที่ตั้งไว้ตามอาคารต่างๆ อีกด้วย
วันนี้ พลังสีเขียวของชุมชนในโครงการจากขวดแก้วสู่ขวดแก้วเข้มแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ โครงการฯ ได้รับขยะรีไซเคิลจากชุมชนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด ได้รับขยะขวดแก้วและขยะรีไซเคิลอื่นๆ กลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าจากที่ผ่านมา และนับจากเริ่มโครงการฯ สามารถส่งขยะขวดแก้วกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ทั้งสิ้นกว่า 33 ตัน และขยะรีไซเคิลอื่นๆ กว่า 37 ตัน รวมทั้งหมดกว่า 70 ตัน ซึ่งขยะขวดแก้วนั้น โอสถสภาสามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตขวดใหม่ได้ จึงช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนที่ปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศได้ถึง 8,067 คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ขวดแก้วเหล่านี้ยังได้รับการแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ของโอสถสภาตามจำนวนขวดแก้วที่แต่ละชุมชนเก็บได้ และมอบให้แก่ชุมชนนั้นๆ รวมถึงชุมชนวัดจากแดงและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งจะนำไปใช้ในกิจกรรมสาธารณกุศลและสนับสนุนองค์กรด้านพระพุทธศาสนา และบริษัทฯ ยังได้เปลี่ยนขวดแก้วที่ได้รับจากชุมชนรอบโรงงานโอสถสภา หัวหมากเป็นลานกีฬาของชุมชนอีกด้วย
นางสุธิดา เสียมหาญ ผู้อำนวยการสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โอสถสภาเล็งเห็นว่าการแยกขยะที่ต้นทาง เป็นหัวใจสำคัญของการลดปริมาณขยะ จากสถิติที่ผ่านมา พบว่าชุมชนส่งมอบขยะรีไซเคิลให้แก่โครงการจากขวดแก้วสู่ขวดแก้ว (Bottle to Bottle) มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของโมเดลของโครงการฯ โอสถสภาจึงเดินหน้าขยายโมเดลไปยังชุมชนต่างๆ เพิ่มมากขึ้น เพื่อร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม เป็นพลังเสริมสร้างชีวิต และเติบโตคู่สังคมไทยอย่างยั่งยืน
ชุมชนคือพลังสำคัญที่จะช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม เพียงทุกคนคิดแยกก่อนทิ้งให้เป็นนิสัย ก็มีส่วนช่วยดูแลโลกใบนี้ได้ โอสถสภาภาคภูมิใจที่ได้ร่วมนำขยะรีไซเคิลกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล โดยเฉพาะขยะขวดแก้ว เพราะขวดแก้วเป็นวัสดุที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ซ้ำ ไม่มีที่สิ้นสุด พร้อมปลูกพลังสีเขียว สร้างชุมชนที่ใส่ใจในสิ่งแวดล้อม และขอเชิญชวนคนไทยให้หันมาคัดแยกขยะภายในครัวเรือน เพื่อลดปริมาณขยะและสร้างอนาคตให้แก่คนรุ่นหลังต่อไป