โลตัส ประกาศนโยบายด้านความยั่งยืน “Vision 2030. Actions every day.” วางแผนงานด้านความยั่งยืนในทุกมิติของการดำเนินธุรกิจค้าปลีก ในฐานะผู้นำ New SMART Retail เน้นขับเคลื่อนการดำเนินงานทุกวันอย่างยั่งยืนครอบคลุมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (ESG) มุ่งสู่วิสัยทัศน์การพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ United Nations Sustainable Development Goals 2030
นายสมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจโลตัส ประเทศไทย กล่าวว่า “พื้นฐานที่สำคัญของการเป็นผู้นำ New SMART Retail คือนโยบายและแผนงานด้านความยั่งยืน โดยโลตัสได้ดำเนินงานตามแนวทางด้านความยั่งยืนมาโดยตลอด และด้วยสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา โลตัส จึงได้ทบทวนและยกระดับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน สู่นโยบายที่เราประกาศในวันนี้ คือ Vision 2030. Actions every day. ที่มุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืนจากการดำเนินงานในทุก ๆ วัน เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ภายในปี ค.ศ. 2030
นโยบายด้านความยั่งยืนของโลตัส สอดคล้องกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนทั้ง 15 ข้อภายใต้เครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยจากการประเมินประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน (Materiality Assessment) ล่าสุด เราได้กำหนดประเด็นสำคัญ 5 ด้าน ที่ครอบคลุมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (ESG) คือ การสนับสนุนการมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดี (Health & Well-being) การสร้างคุณค่าและประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้แก่สังคม (Social impact & economic contribution) ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate resilience) และ การจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างรับผิดชอบ (Responsible supply chain management) โดยมีการกำหนดยุทธศาสตร์และแผนงานที่ชัดเจนสำหรับแต่ละประเด็นสำคัญ เพื่อให้องค์กรสามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ภายในปี ค.ศ. 2030
ในฐานะธุรกิจค้าปลีกแบบ omni-channel ที่จำหน่ายสินค้าหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าประเภทอาหาร ที่มีคุณภาพสูงในราคาที่เอื้อมถึง ผ่านช่องทางทั้งในสาขาและออนไลน์ โลตัส มุ่งมั่นในการสนับสนุนการมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดีของคนไทย โดยได้ตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี ค.ศ. 2030 ทุกตะกร้าสินค้าของลูกค้าจะต้องมีผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมสุขภาพและสุขภาวะที่ดี และเพื่อขับเคลื่อนไปสู่วิสัยทัศน์ (vision) ดังกล่าว โลตัสได้วางแผนดำเนินการ (actions) ใน 4 ด้าน คือ 1. ผลิตภัณฑ์ (Products) มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ภายใต้แบรนด์ของโลตัสที่ดีต่อสุขภาพ ปรับสูตรผลิตภัณฑ์เดิมให้ดีขึ้น อาทิ ลดหวาน มัน เค็ม การมีฉลากผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกสินค้าที่ดีต่อสุขภาพได้ง่ายขึ้น 2. ราคา (Prices & promotions) ทำให้สินค้าที่ดีต่อสุขภาพมีราคาที่เข้าถึงได้สำหรับทุกคน 3. แพลทฟอร์ม (Platforms) ใช้ช่องทาง omni-channel ในการส่งเสริมสุขภาพที่ดีของผู้บริโภค ทั้งการให้ความรู้และข้อมูล รวมทั้งกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพที่ดี และ 4. ความร่วมมือ (Partnerships) กับทั้งคู่ค้าและพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญ โดยในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา โลตัส ได้เป็นผู้นำในการเสนอสินค้าที่ดีต่อสุขภาพให้แก่ลูกค้า อาทิ เป็นค้าปลีกรายแรกที่ไม่ใช้ไขมันทรานส์ในผลิตภัณฑ์อาหารที่โลตัสผลิตทุกชนิด การริเริ่มโครงการรับซื้อผลผลิตตรงจากเกษตรกร ทำให้มั่นใจในคุณภาพความปลอดภัยของอาหารสดที่จำหน่ายแก่ลูกค้า
การสร้างคุณค่าและประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้แก่สังคม (Social impact & economic contribution)
โลตัส ตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี ค.ศ. 2030 จะสามารถสร้างงานได้จำนวน 200,000 ตำแหน่ง และสนับสนุนผู้ประกอบการ SME และเกษตรกร โดยเป็นการสร้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อม ให้กับกลุ่มคนต่าง ๆ ในสังคม อาทิ ขยายผลการจ้างงานเยาวชน และผู้สูงอายุ ที่ปฏิบัติงานในสาขา รวมทั้ง โลตัส ยังเป็นแพลทฟอร์มแห่งโอกาสให้กับผู้ประกอบการ SME และเกษตรกรไทย โดยใช้แพลทฟอร์มของโลตัส ทั้งในสาขา ศูนย์การค้า และออนไลน์ เพื่อเป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้า สร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับผู้ประกอบการไทย
ในฐานะธุรกิจค้าปลีก ห่วงโซ่อุปทานของ โลตัส ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ และเกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เป้าหมายของเราภายในปี ค.ศ. 2030 คือ สินค้าแบรนด์ของโลตัสที่มีความเสี่ยงด้านความยั่งยืน มีระบบตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่ และ คู่ค้าสำคัญลำดับที่ 1 (critical tier 1 suppliers) รวมถึงผู้ผลิตสินค้าแบรนด์ของโลตัสทุกรายได้รับการประเมินความเสี่ยงประเด็นด้านความยั่งยืนและการทวนสอบ 100% โดยครอบคลุมมิติที่หลากหลายตั้งแต่ คุณภาพและความปลอดภัยของสินค้า กระบวนการผลิตสินค้า แรงงาน สิทธิมนุษยชน สวัสดิภาพสัตว์ การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน เป็นต้น
เป้าหมายของโลตัส คือ การเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2030 และองค์กรที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 ซึ่งได้มีการจัดทำแผนการดำเนินการ (actions) เพื่อมุ่งสู่ทั้งสองเป้าหมาย หลายรูปแบบ รวมถึง การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยในปี ค.ศ. 2021 โลตัส ในประเทศไทยและมาเลเซีย สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจลง กว่า 15% เมื่อเทียบกับปี 2020 ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึง การติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์บนหลังคาสาขาและศูนย์กระจายสินค้า โดยมีแผนงานติดตั้ง 1,042 สาขา มีกำลังผลิตรวม 135mw ภายในปี ค.ศ. 2024, การใช้รถไฟฟ้า (EV) ในการขนส่งสินค้า เป็นต้น นอกจากนั้น โลตัส จะเดินหน้าปลูกต้นไม้อย่างต่อเนื่อง เพิ่มเติมจากการปลูกต้นไม้ไปแล้วกว่า 20 ล้านต้น ในช่วงเวลากว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา และจะยังผลักดันการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่อุปทานต่อไป
ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy)
เป้าหมายของโลตัส คือ ลดปริมาณของเสียในการนําไปฝังกลบและลดขยะอาหารเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2030 และบรรจุภัณฑ์สินค้าแบรนด์ของโลตัสทั้งหมด 100% ผลิตจากวัสดุที่รีไซเคิลได้ภายในปี ค.ศ. 2025
สำหรับการดำเนินงาน (actions) ในด้านการลดขยะอาหารนั้น โลตัส ประสบความสำเร็จในการลดปริมาณขยะอาหารอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ โลตัส เป็นธุรกิจค้าปลีกรายแรกในประเทศไทยที่เริ่มวัดและเปิดเผยข้อมูลขยะอาหาร โดยปัจจุบันได้บริจาคอาหารที่จำหน่ายไม่หมดแต่ยังรับประทานได้ให้กับผู้ยากไร้และองค์กรการกุศลรวมกว่า 2.87 ล้านมื้อ และได้บริจาคอาหารที่รับประทานไม่ได้แล้วกว่า 51,000 กิโลกรัม เพื่อเป็นอาหารสัตว์และทำปุ๋ย เพื่อขับเคลื่อนการลดขยะอาหารในธุรกิจให้เป็นศูนย์ตามวิสัยทัศน์ โลตัส จะดำเนินงานภายใต้กลยุทธ์ Farm to Fork เพื่อลดขยะอาหารตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ซึ่งรวมถึงการวางแผนการเพาะปลูกร่วมกับเกษตรกร การขนส่งสินค้าด้วยรถควบคุมอุณหภูมิ การบริหารจัดการอาหารสดอย่างมีประสิทธิภาพ นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ ขยายการบริจาคอาหารที่จำหน่ายไม่หมดในแต่ละวันร่วมกับพันธมิตรต่าง ๆ ตลอดจนถึงการสร้างการรับรู้ในภาคครัวเรือนเกี่ยวกับขยะอาหารและการแยกขยะที่ถูกต้อง
สำหรับการดำเนินงาน (actions) ด้านบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน โลตัส ได้ตั้งเป้าหมายให้บรรจุภัณฑ์สินค้าแบรนด์ของโลตัสทั้งหมด 100% ผลิตจากวัสดุที่รีไซเคิลได้ภายในปี ค.ศ. 2025 ซึ่งปัจจุบันมีความคืบหน้าไปมากจนเกือบบรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยบรรจุภัณฑ์ประเภทอาหารสดและสินค้าอุปโภคทั้งหมด 100% สามารถรีไซเคิลได้แล้ว และหากดูในภาพรวมทั้งหมดความคืบหน้าอยู่ที่ 98.8% อีกส่วนสำคัญของแผนงานด้านบรรจุภัณฑ์คือการรีไซเคิล ทั้งการรีไซเคิลขยะที่เกิดจากการดำเนินงานภายในธุรกิจของโลตัสเอง และที่สำคัญคือการช่วยให้ลูกค้าและประชาชนสามารถแยกและรีไซเคิลขยะได้อย่างสะดวกผ่านสาขาของโลตัส โดยตั้งแต่เริ่มดำเนินการตั้งจุดรับขยะเพื่อนำไปรีไซเคิล โลตัส สามารถรวบรวมขวดพลาสติกได้เกือบ 3 ล้านขวด พลาสติกยืดกว่า 1.5 ล้านกิโกรัม และกล่องและลังกระดาษกว่า 157 ล้านกิโลกรัม เพื่อนำไปรีไซเคิลได้ทั้งหมด และพร้อมจะเดินหน้าจับมือกับพันธมิตรเพิ่มเติม รวมถึงซัพพลายเออร์ผู้ผลิตสินค้าประเภทต่าง ๆ เพื่อเก็บรวมรวมบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วกลับเข้าสู่ระบบเพื่อนำไปรีไซเคิลให้ได้ต่อไป
“โลตัส เน้นการลงมือปฏิบัติในทุก ๆ วันเพื่อสร้างความยั่งยืน ซึ่งเป็นการทำงานที่บูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วนภายในธุรกิจของเรา รวมถึงการทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง โดยจะมีการติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสในทุกปี
การเป็นผู้นำ New SMART Retail คือการเป็นผู้ประกอบการค้าปลีก ที่ดำเนินธุรกิจอยู่บนพื้นฐานของความยั่งยืน ธุรกิจใดก็ตามจะไม่สามารถอยู่รอดและเติบโตได้ หากไม่คำนึงถึงการดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่คุณค่า สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ให้สามารถเติบโตไปได้พร้อม ๆ กัน ซึ่งสอดคล้องกับค่านิยม 3 ประโยชน์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในการคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศและประชาชน ก่อนประโยชน์ของธุรกิจเสมอ” นายสมพงษ์ กล่าวสรุป
ที่มา: https://www.marketingoops.com/news/biz-news/lotuss-sustainability/