“วราวุธ”เยี่ยมชาวเรือนจำสุพรรณบุรี ชื่นชม “โมเดลต้นแบบจัดการขยะแบบครบวงจร” เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมุ่งสู่เมืองคาร์บอนต่ำ ถือโอกาสวันเกิดครบ 49 ปี พร้อมมอบเงิน“มูลนิธิบรรหาร-แจ่มใส ศิลปอาชา” 200,000 บาท นำไปปรับปรุงหลังคาที่พักในแดนหญิง-เพิ่มพัดลมในแดนชาย
วันนี้(11 ก.ค.65) ที่เรือนจำสุพรรณบุรี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมภริยา นางสุวรรณา ศิลปอาชา และครอบครัว เข้าเยี่ยมเรือนจำสุพรรณบุรี พร้อมจัด “กิจกรรมส่งมอบความสุข เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเกิดครบรอบอายุ 49 ปี”
โดยมี นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี พ.ต.ท.ชินโชติ พุฒิวรรธธาดา ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดสุพรรณบุรี นายคมสันต์ สุขสมดาว นายกเทศบาลตำบลท่าระหัด และ อาจารย์พีรดา ปฏิทัศน์ ประธานบริหารวิสาหกิจชุมชนแนวร่วมปฏิวัติขยะ อาจารย์พิสิทธิ์ ลีรัตนนุรัตน์ ผู้ทรงคุณวุฒิทางศิลปะ ต้นแบบนำขยะมาสร้างสรรค์ผลงานศิลป์ ร่วมให้การต้อนรับ
นายวราวุธ เปิดเผยว่า การเข้าเยี่ยมเรือนจำสุพรรณบุรีในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ สุพรรณบุรี Carbon Neutrality Model มีเป้าหมาย เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมุ่งสู่เมืองคาร์บอนต่ำ โดยอาศัยความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อให้ประเทศไทยมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ.2030
เรือนจำสุพรรณบุรีถือเป็น เรือนจำต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทย ที่มีการบริหารจัดการขยะแบบครบวงจร ผ่านการดำเนินนโยบายของ พ.ต.ท.ชินโชติ พุฒิวรรธธาดา ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดสุพรรณบุรี ที่มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ภายในเรือนจำและผู้ต้องขัง ดำเนินการคัดแยกขยะ ซึ่งแบ่งออกเป็น 10 ประเภทได้แก่
1.เศษผัก เศษเนื้อสัตว์ เศษผลไม้ ใบไม้ 2.เศษอาหารที่เหลือจากการรับประทาน 3.ถุงพลาสติก 4.พลาสติกรวม กระป๋องแป้ง 5.ขวดพลาสติกใส 6.ซองขนม ซองบะหมี่ ซองกาแฟ 7.กระป๋องเหล็ก อะลูมิเนียม 8.กล่องกระดาษ กระดาษรวม 9.เศษผ้า โฟม รองเท้าเก่า ยางยืด และ10.ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ ผ้าอนามัย ถุงมืออนามัย หน้ากากอนามัย
โดยภายหลังจากการคัดแยกขยะแล้ว ก็จะนำไปแปรรูปเป็นปุ๋ยอินทรีย์ นำไปทำน้ำมัน นำไปขายเพื่อรีไซเคิล หรือนำไปทำเป็นอุปกรณ์เพื่อใช้ภายในบ้าน เช่น กระถางต้นไม้ และขยะที่เป็นอันตรายก็จะส่งให้เทศบาลเมืองสุพรรณบุรี นำไปกำจัดต่อไป
โดยกระบวนการจัดการที่เกิดขึ้นส่งผลให้เรือนจำสุพรรณบุรี ประหยัดงบประมาณการจัดเก็บขยะได้จำนวน45,000 บาท หรือปีละ 486,000 บาท แก้ปัญหาการขาดแคลนงบประมาณ และยังทำให้เรือนจำมีรายได้จากการจำหน่ายขยะ และนำเงินดังกล่าวกลับเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศได้อีกด้วย รวมถึงยังช่วยลดมลภาวะโลกร้อน ลดมลพิษให้กับสังคม
สำหรับในช่วงก่อนหน้านี้ ตนได้เดินทางไปเยี่ยมชมโครงการ “เปลี่ยนขยะเป็นน้ำมันเบนซิน” ของวิสาหกิจชุมชน แนวร่วมปฏิวัติขยะจังหวัดสุพรรณบุรี ที่นำโดยอาจารย์ พีรดา ปฏิทัศน์ ซึ่งโครงการดังกล่าวนับเป็นโครงการที่มีคุณภาพ และสอดคล้องกับแผนนโยบายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้จังหวัดสุพรรณบุรี สามารถผลิตน้ำมันเบนซินใช้เองได้
อีกทั้งยังได้ร่วมกับกลุ่มมิตรผล ทำการขับเคลื่อน โรงงานน้ำตาลมิตรผลด่านช้าง ให้เป็นโรงงานต้นแบบด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน ทั้งการควบคุมมาตรฐานการผลิต และหนุนการรับซื้ออ้อยสดแทนอ้อยเผา เพื่อลดการเผาซากการเกษตรในที่โล่ง ซึ่งทุกโครงการที่กล่าวมานั้นถือเป็นโครงการหลักที่จะช่วยให้จังหวัดสุพรรณบุรี มุ่งหน้าสู่เป้าหมายเมืองคาร์บอนต่ำได้
“ที่สำคัญในวันนี้ถือเป็นวันคล้ายวันเกิดของผม จึงเดินทางมายังเรือนจำสุพรรณบุรี เพื่อมอบความสุขให้กับผู้ต้องขัง ผ่านการจัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งการแสดงดนตรี และการมอบอาหาร พร้อมทั้งมอบเงินจาก “มูลนิธิบรรหาร-แจ่มใส ศิลปอาชา” จำนวน 200,000 บาท เพื่อนำไปปรับปรุงหลังคาที่พักในแดนหญิง และเพิ่มอุปกรณ์พัดลมในแดนชาย เป็นการสร้างขวัญกำลังใจแก่ผู้ต้องขัง เพื่อให้กลับตัวเป็นคนดี เมื่อมีโอกาสกลับคืนสู่ครอบครัวและสังคม
นายวราวุธ กล่าวด้วยว่า “วันนี้เป็นครั้งแรกในชีวิตของผม ที่ได้มายืนอยู่ในโรงเรียนชีวิตแห่งนี้ เพื่อมาเยี่ยมเยียนให้กำลังใจ พี่น้องชาวสุพรรณบุรี ผมรู้สึกสัมผัสได้ถึงความจริงของชีวิตของคนข้างในนี้ ได้มาเห็นกับตาว่าคุณภาพชีวิตมีความเป็นระเบียบ เรียบร้อย มีการส่งเสริมฝึกอาชีพต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ วาดภาพเหมือน ประดิษฐ์กระถางต้นไม้จากวัสดุรีไซเคิล ทำเฟอร์นิเจอร์จากไม้ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นโอกาสให้พี่น้องสามารถเรียนรู้ เพื่อไปสร้างอาชีพ สร้างรายได้ เมื่อออกไปข้างนอก ซึ่งเป็นหนทางหนึ่งที่จะเป็นตัวการันตีได้ว่า อนาคตท่านทั้งหลายจะมีอาชีพ มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างแน่นอน”
ด้าน พ.ต.ท.ชินโชติ พุฒิวรรธธาดา ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า จุดเริ่มต้นในการบริหารจัดการขยะของเรือนจำนั้น เนื่องจากได้รับคำแนะนำจากนายกเทศมนตรีตำบลท่าระหัด ให้ได้รู้จักกับ นางสาวพีรดา ปฏิทัศน์ ประธานบริหารวิสาหกิจชุมชนแนวร่วมปฏิวัติขยะสุพรรณบุรี จึงได้ร่วมกันสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้กับเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขังเกี่ยวกับแนวทางการคัดแยกขยะ การนำขยะประเภทต่าง ๆ ไปใช้ประโยชน์ ซึ่งใช้เวลาเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น สามารถบริหารจัดการขยะภายในเรือนจำให้เป็นศูนย์ได้ สามารถประหยัดการใช้บริการเก็บขยะของทางเทศบาลได้ โดยขยะบางส่วนได้นำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง บางส่วนนำไปขายนำเงินส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน