โคคา-โคล่า vs. เป๊ปซี่ ไม่มีใครยอมใคร 'กรีนพีซ' สะท้อนภาพบนเส้นทางใช้ขวดรีไซเคิล

แวดวงของธุรกิจน้ำดำชั้นนำของโลกเป็นที่รู้ดีว่า ทั้งบริษัทเป๊ปซี่และโคคาโคล่าหรือโค้ก ต่างไม่มีใครยอมใคร ที่จะเป็นผู้ยอมรับว่าอีกฝ่ายเหนือชั้นกว่า ในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม กับการนำบรรจุภัณฑ์แบบรีไซเคิลกลับมาใช้ซ้ำ (REUSE) กำลังเป็นอีกเวทีแข่งขันที่น่าติดตาม

ความพยายามและผลงานของทั้งสองบริษัทจึงออกมาแบบสูสีมาโดยตลอด กรีนพีซ ในฐานะเป็นองค์กรเพื่อการรณรงค์ให้มีการดูแลสิ่งแวดล้อมเพิ่งจะออกมาสรุปความคิดเห็นในเรื่องนี้ เมื่อไม่นานนี้ ว่าระหว่างเป๊ปซี่กับโค้กใครสมควรได้รับการขึ้นแท่นของกิจการที่ยังเผชิญหน้ากับความท้าทายและมีความทะเยอทะยานมากกว่ากันในการใช้บรรจุขวดแบบรีไซเคิล

สิ่งที่กรีนพีซ และผู้คนทั่วไปได้พบเห็นจนชินตาคือตามแหล่งน้ำสายต่างๆ ขวดบรรจุเครื่องดื่มของทางเป๊ปซี่และโค้กยังลอยระเกะระกะอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ควบคู่กับหีบห่อของขบเคี้ยวหลายล้านล้านชิ้น ซึ่งสะท้อนว่าบรรจุภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้งในแต่ละปียังคงเป็นปัญหาด้านขยะชิ้นใหญ่ของโลกที่แก้ไม่จบ และขวดบรรจุเครื่องดื่มเหล่านี้จบลงที่การเป็นขยะของสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่จะนำไปรีไซเคิล

การแข่งขันกันระหว่างบริษัทเครื่องดื่มทั้งสองได้ดำเนินต่อเนื่องมากว่าหนึ่งศตวรรษ นับตั้งแต่ปี 1970 ที่บริษัทเป๊ปซี่ได้เปิดตัว Pepsi Challenge ที่เชิญชวนให้ผู้บริโภคร่วมในการคาดเดาว่าตนชอบเครื่องดื่มโคล่าชนิดใดในการทดสอบรสชาติแบบปิดไม่ให้รับรู้ถึงรสชาติก่อน

จนมาถึงความท้าทายในปีนี้ กรีนพีชออกมาชี้ให้เห็นว่า ตามความเห็นของกรีนพีซ บริษัทเป๊ปซี่ยังอยู่ในหนทางที่ห่างไกลและตามไม่ทัน ทำให้อยู่ในสถานะที่ถูกท้าทายในการต่อสู้อย่างจริงจังเพื่อหยุดขวดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพื่อไม่ให้ก่อมลพิษต่อโลกของเรา

อย่างไรก็ตาม การให้ความเห็นดังกล่าวของกรีนพีซ มีเจตนาเรียกร้องให้บริษัทยักษ์ใหญ่ที่เป็นผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคสร้างมลภาวะของสิ่งแวดล้อมในด้านพลาสติกเป็นอันดับหนึ่ง ไม่ใช่แต่เฉพาะเป๊ปซี่หรือโค้ก หากแต่รวมถึงบริษัทเนสท์เล่ และยูนิลิเวอร์ ที่กรีนพีซมองว่า ยังล่าช้าในการรับผิดชอบต่อบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง และยังดำเนินการไม่เต็มที่ตามศักยภาพที่ควรจะทำได้

สำหรับกรณีของเป๊ปซี่และโค้กนั้น ขณะนี้ทั้งสองบริษัท ยังมีการใช้ขวดบรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้งที่ทำจากพลาสติก แม้ว่าบนบรรจุภัณฑ์จะเขียนว่าโปรดรีไซเคิลไว้แล้วก็ตาม แต่การแสดงถึงความพยายามอย่างแท้จริง ยังไม่เกิดขึ้นโดยเฉพาะการขาดโครงสร้างพื้นฐานที่จะสนับสนุนวงจรการรีไซเคิล ทำให้วงจรของการทำน้ำบรรจุขวดเครื่องดื่มเหล่านี้ไปสู่กระบวนการรีไซเคิลเป็นไปอย่างไม่ยั่งยืน ทั้งยังมีการใช้พลังงานสิ้นเปลืองจำนวนมาก จนทำให้บรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มเป็นปัญหามลภาวะของชุมชน และอาจจะมีส่วนร่วมถึงการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก

ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ทั้งบริษัทเป๊ปซี่ โค้ก เนสท์เล่และยูนิลีเวอร์ ได้รับการเสนอชื่อ ให้เป็นกิจการที่ก่อมลภาวะด้านพลาสติกของโลกในลำดับต้นๆ จากการตรวจสอบสัดส่วนของพลาสติกที่เป็นขยะที่พบอยู่ในสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก ในอาหารที่ผู้คนบริโภคและในเครื่องดื่มต่างๆ

นอกจากนั้น นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่า มีไมโครพลาสติกปรากฏอยู่ในเลือดและปอดของผู้คน และในบรรยากาศที่มนุษย์หายใจเข้าไปในแต่ละวัน ซึ่งล้วนสะท้อนให้เห็นว่าความพยายามในการเพิ่มพลาสติกที่เข้าสู่วงจรรีไซเคิลยังไม่มากเพียงพอ และธุรกิจประเภทเหล่านี้เป็นมลภาวะทำลายอากาศและพื้นที่ธรรมชาติของโลก มากกว่าที่จะให้คุณแก่โลก

อย่างไรก็ตาม เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โค้กได้ออกมาประกาศว่ามีความมุ่งมั่นที่จะผลิตบรรจุภัณฑ์แบบรีไซเคิล อย่างน้อย 25% ของบรรจุภัณฑ์ทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นการให้คำมั่นสัญญาเป็นครั้งแรก เกี่ยวกับระบบของการนำมาใช้ซ้ำและการรีไซเคิลของบรรจุภัณฑ์ เพียงแต่สิ่งที่ประกาศนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ สำหรับวงจรการบริหารพลาสติกแบบยั่งยืนของโลก และผลงานจริงของโค้กที่สามารถทำได้ราว 16% ส่วนใหญ่นั้นอยู่ในละตินอเมริกา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงเส้นทางอันยาวไกลที่จะพัฒนาไปสู่เป้าหมายที่ตนวางไว้ได้ หรือแม้แต่การเดินไปสู่เป้าหมายให้เป็นศูนย์ แต่ปัจจุบันพวกเขาดูเหมือนก้าวนำหน้าเป๊ปซี่

ทว่า บริษัทเป๊ปซี่ ทางผู้บริหารของบริษัทก็ออกมาประกาศต่อผู้ถือหุ้นแล้วว่ามีความมุ่งมั่นที่จะนำบรรจุภัณฑ์ประเภทใช้ซ้ำ หรือรีไซเคิลกลับมาใช้เพิ่มขึ้นภายในสิ้นปี 2022 แต่จะมากกว่า 25% ของโค้กหรือไม่คงจะต้องติดตามกันต่อไป

คำประกาศดังกล่าวของผู้บริหารเป๊ปซี่ทำให้เกิดคำถามหลายข้อ เช่นว่า เป๊ปซี่ตั้งเป้าที่จะย้ายส่วนหนึ่งของบรรจุภัณฑ์ไปยังระบบที่ใช้ซ้ำได้เร็วแค่ไหน? ความมุ่งมั่นของพวกเขาจะทะเยอทะยานแค่ไหน? และแน่นอน เป๊ปซี่จะก้าวข้ามความมุ่งมั่นของโค้กที่ 25% ภายในปี 2030 หรือไม่?

ทั้งนี้เป๊ปซี่ยังมีโอกาสมากมายที่จะเอาชนะคู่ต่อกรที่มีมาอย่างยาวนาน ท่ามกลางความกังวลของผู้คนทั่วโลกเกี่ยวกับวิกฤตมลพิษพลาสติกและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป๊ปซี่จะคว้าช่วงเวลานี้และเอาชนะโค้กในการแข่งขันแบบเติมและนำกลับมาใช้ใหม่ หรือพวกเขาจะออกมาพร้อมกับความมุ่งมั่นที่อ่อนแอจนล้มเหลวและทำให้พวกเราผิดหวังในสิ้นปี 2022 หรือไม่?

อุบัติเหตุ เงินรักษาสูงสุด 50,000บ.
ประกันอุบัติเหตุ อุ่นใจวัยทำงาน นอนรพ. มีทั้งเงินรักษา เงินชดเชยรายได้ 500บ./วัน
สนใจคลิก
กรีนพีซ รายงานว่าเส้นทางรักษ์โลกที่นำกลับมาใช้ซ้ำและเติมใหม่อาจไม่ใช่เส้นทางที่ง่ายที่สุด เนื่องจากจะต้องลงทุน วางโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการเติม/นำกลับมาใช้ใหม่ การเปลี่ยนแปลงนโยบาย และแม้แต่การทำงานร่วมกันระหว่างแบรนด์ใหญ่ๆ เช่น โค้กและเป๊ปซี่

“เรารู้ว่ายากแต่จำเป็น หากเราจะหยุดยั้งกระแสการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งที่ไหลลงสู่มหาสมุทรของเราทุกวัน อาจไม่ใช่สิ่งที่ง่ายที่สุดที่จะทำ ปัญหาพลาสติกมีมากมายมหาศาล ส่งผลกระทบต่อเราทุกคน ถึงเวลาแล้วที่บริษัทมูลค่าหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ ที่มีส่วนทำให้เกิดวิกฤตครั้งนี้จะต้องดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจัง”

Clip Cr. Greenpeace Malaysia

วิดีโอที่ Coca-Cola, Nestlé และ Pepsi ไม่อยากให้คุณเห็น...

แบรนด์ใหญ่ต้องการให้คุณเชื่อว่าพวกเขากำลังทำตามขั้นตอนเพื่อลดพลาสติก แต่จริง ๆ แล้วพวกเขากำลังทำงานร่วมกับ Big Oil เพื่อผลิตมากขึ้น

ขวดพลาสติกของพวกเขามีผลกระทบต่อสุขภาพของเรา โลกของเรา และชุมชนของเรา และมีเพียง 9% ของขยะพลาสติกทั้งหมดที่เคยผลิตมาเท่านั้นที่ได้รับการรีไซเคิลจริงๆ แต่ด้วยความช่วยเหลือของคุณ เราทุกคนสามารถพูดคุยถึงแนวทางแก้ไขปัญหาที่แท้จริงได้

กรีนพีซ ฝากคำร้องเพื่อยุติการใช้พลาสติกชนิดเดียว พร้อมขอให้แบรนด์ใหญ่เปลี่ยนไปใช้วัสดุเติมและนำกลับมาใช้ใหม่!

 

ที่มา: https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9650000050090 

วันที่ 06 มิถุนายน 2565