บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) และ บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) (TPBI) จับมือร่วมกันผลักดันและส่งเสริมการจัดการขยะพลาสติกตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ผ่านโครงการ YOUเทิร์น x วน เพื่อสร้างสุขนิสัยในการคัดแยกขยะของผู้บริโภค และใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งสู่การเป็นต้นแบบโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนให้ผู้ประกอบการพลาสติกรายอื่นๆ สร้างความยั่งยืนให้ประเทศ
ดร.ชญาน์ จันทวสุ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานความยั่งยืนองค์กร (GC) กล่าวว่า “GC มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับ TPBI ผู้นำในการผลิตและบรรจุภัณฑ์พลาสติกในประเทศไทย ในฐานะพันธมิตรด้านความยั่งยืน เพื่อร่วมกันผลักดันและส่งเสริมการจัดการขยะพลาสติก ผ่านโครงการ YOUเทิร์น x วน เพื่อเป็นต้นแบบโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนให้แก่ผู้ประกอบการพลาสติก ด้วย GC ได้เล็งเห็นความสำคัญของความยั่งยืนและลงมือปฏิบัติมาโดยตลอด ผ่านการดำเนินธุรกิจที่บูรณาการความยั่งยืน หรือ ESG ครบทั้ง 3 ด้าน คือ สิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาลและเศรษฐกิจ (Governance & Economic) พร้อมยึดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นหัวใจสำคัญในการนำมาประยุกต์ใช้กับกระบวนการทำงานต่างๆ เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด วันนี้ GC ได้สร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อสร้างการเติบโตที่มั่นคงและยั่งยืนให้แก่ประเทศของเรา”
นายสมศักดิ์ บริสุทธนะกุล ประธานกรรมการบริหาร (TPBI) กล่าวว่า “ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา TPBI ในฐานะผู้นำด้านการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกในประเทศไทย เราใส่ใจและรับผิดชอบในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ในทุกขั้นตอน เพื่อให้เกิดกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้แนวคิด Think Circular, Think Sustainable เราจึงมีความภาคภูมิใจและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับ GC และเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ “YOUเทิร์น x วน” เพื่อช่วยกันส่งเสริมและผลักดันให้เกิดโครงการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน ผ่านการพัฒนาต่อยอดโมเดลบริหารจัดการขยะพลาสติก และโมเดลเชิงธุรกิจของจุดรับขยะพลาสติกในพื้นที่ต่างๆ ตลอดจนร่วมกันค้นคว้าและวิจัยเพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์รีไซเคิล (Recycle) หรืออัปไซเคิล (Upcycle) ที่ผู้บริโภคสามารถใช้ได้จริง เพื่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) อย่างแท้จริง”
โครงการ YOUเทิร์น x วน โดย GC และ TPBI จะร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนแนวทางการดำเนินงานของโครงการ ศึกษาความเป็นไปได้ พัฒนาแนวทาง ส่งเสริมและผลักดันให้เกิดโครงการนำร่องการจัดการด้านขยะพลาสติก ผ่านการพัฒนาต่อยอดโมเดลบริหารจัดการขยะที่มีอยู่เดิมของ GC (YOUเทิร์น) และ TPBI (วน) การขยายจุดรับขยะพลาสติก ตลอดจนพัฒนาผลิตภัณฑ์รีไซเคิล (Recycle) หรืออัปไซเคิล (Upcycle) เพื่อสร้างประโยชน์ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ นอกจากนี้ การร่วมมือในครั้งนี้จะนำพลาสติกยืด พลาสติกแข็ง หรือพลาสติกชนิดอื่นๆ ที่ผ่านการคัดแยกจากโครงการ มาใช้เป็นวัตถุดิบให้กับ ENVICCO โรงงานรีไซเคิลพลาสติกมาตรฐานโลกของ GC หรือ TPBI หรือโรงงานอื่นๆ ต่อไป
สำหรับโครงการ “YOUเทิร์น” นั้น เป็นระบบบริหารจัดการขยะพลาสติก ภายใต้การดำเนินงานของ GC ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมกันสร้างคุณค่าให้กับขยะพลาสติกอย่างครบวงจร ด้วยแนวคิด “YOUเทิร์น เริ่มต้นที่ยู” และ “YOUเทิร์น แยกเพื่อให้” เริ่มตั้งแต่แยกและทิ้งขยะพลาสติกในมืออย่างถูกวิธี “YOUเทิร์น” จะเข้ามารวบรวมและคัดแยกขยะพลาสติก เชื่อมต่อการขนส่งเข้าสู่ ENVICCO หรือโรงงานรีไซเคิลพันธมิตรที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าขยะพลาสติกทุกชิ้นที่ทุกคนตั้งใจมาทิ้งกับเรา จะได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม กลับมาสร้างประโยชน์แทนการฝังกลบ และนำกลับมาใช้ใหม่ให้ได้มากที่สุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และช่วยลดผลกระทบที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนไปพร้อมๆ กัน ปัจจุบัน “YOUเทิร์น” สามารถดำเนินการจัดการขยะพลาสติกไปได้กว่า 310 ตัน ในปีที่ผ่านมาหรือเทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการนำไปฝังกลบได้ถึง 720 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ในส่วนของโครงการ “วน” เป็นโครงการภายใต้การดำเนินงานของ TPBI จัดตั้งขึ้นเพื่อรับพลาสติกยืดที่สะอาดและผ่านการใช้งานแล้วจากผู้บริโภคมารีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติก และนำเม็ดพลาสติกเหล่านั้นกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตเป็นสินค้าใหม่ ถือเป็นโครงการที่ตอบโจทย์เรื่องการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและการดำเนินงานที่ยั่งยืน โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากภาครัฐและภาคเอกชน ทำให้ปัจจุบัน “วน” และเครือข่ายมีจุดรับทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดกว่า 400 จุด และสามารถรวบรวมพลาสติกยืดที่ใช้งานแล้วเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้กว่า 266 ตัน หรือเทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการนำไปฝังกลบได้ถึง 232 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
โดยความร่วมมือในครั้งนี้ ทั้ง 2 บริษัทฯ มีวิสัยทัศน์เดียวกันว่า ทั้ง 2 โครงการจะร่วมกันขยายระบบบริหารจัดการขยะพลาสติกเพื่อเป็นต้นแบบที่ดีและทำประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมให้แก่ประเทศได้อย่างยั่งยืนต่อไป