“ฟูจิฟิล์ม” ปั้น FUJIFILM Asia Pacific Demo Center

ฟูจิฟิล์ม และ ฟูจิฟิล์ม บิสซิเนส อินโนเวชั่น ผนึกกำลังรุกตลาดงานพิมพ์เพื่อธุรกิจ ภายใต้แนวคิด Never Stop Believing in Print พลิมโฉมจากเครื่องพิมพ์สำนักงานอัจฉริยะสู่นวัตกรรมการพิมพ์เชิงพาณิชย์และบรรจุภัณฑ์ เปิด FUJIFILM Asia Pacific Demo Center แสดงศักยภาพ นวัตกรรมและโซลูชั่นการพิมพ์แห่งโลกดิจิทัลที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการของธุรกิจยุคใหม่ในตลาดภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

มร.โซ มารูโอะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟูจิฟิล์ม (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี ที่ฟูจิฟิล์มได้ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย บริษัทฯ ได้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมธุรกิจของผู้ประกอบการในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการพัฒนานวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ ๆ เปลี่ยนจากระบบแอนะล็อกสู่ระบบดิจิทัล เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ฟูจิฟิล์มได้มีการประกาศแคมเปญ “NEVER STOP” แสดงถึงความมุ่งมั่นของฟูจิฟิล์ม ที่ยึดเป็นหลักในการดำเนินธุรกิจและพัฒนาสิ่งต่าง ๆ อย่างไม่หยุดยั้งและมุ่งไปข้างหน้า เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณค่า และช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้คน ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาและความก้าวหน้าของสังคมไทย”

ธุรกิจนวัตกรรมสิ่งพิมพ์ ถือเป็นธุรกิจที่ฟูจิฟิล์มมีความเข้มแข็งเป็นอย่างมากในอุตสาหกรรมการพิมพ์ ในปี 2564 บริษัทฟูจิฟิล์มทั่วโลกทำรายได้สูงสุดเท่าที่เคยมีมาในทุกกลุ่มธุรกิจ ธุรกิจการแพทย์และสุขภาพเติบโตขึ้นร้อยละ 31 ในขณะที่กลุ่มธุรกิจอุปกรณ์สำนักงาน เครื่องพิมพ์ และให้คำปรึกษาบริการ (Business Innovation and Material Segment) และธุรกิจการพิมพ์เชิงพาณิชย์และบรรจุภัณฑ์ มีการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 30 และ 25 ตามลำดับ ทำให้ผลประกอบการโดยรวมของธุรกิจ B2B เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 86 ซึ่งจะเห็นได้ว่ารายได้กว่าร้อยละ 50 มาจากธุรกิจการพิมพ์ การเติบโตนี้สอดคล้องไปกับแนวโน้มของตลาด ที่มีความต้องการงานพิมพ์ที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มของบรรจุภัณฑ์ที่เติบโตและขยายตัวไปพร้อม ๆ กับธุรกิจ MSMEs และ E-Commerce โดยมีโควิด-19 เป็นปัจจัยเร่ง

ในปีนี้ บริษัท ฟูจิฟิล์ม (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ฟูจิฟิล์ม บิสซิเนส อินโนเวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด จึงผสานความร่วมมือเพื่อต่อยอดความสำเร็จ และมุ่งมั่นสู่เป้าหมายการเป็น No.1 Total Printing Solutions ภายใต้แคมเปญ Never Stop Believing in Print ด้วยการพัฒนาเครื่องมือและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อให้สามารถสร้างสรรค์งานพิมพ์บนวัสดุที่หลากหลายได้ ด้วยแนวคิด “จากโซลูชั่นเครื่องพิมพ์สำนักงานอัจฉริยะ สู่นวัตกรรมการพิมพ์เชิงพาณิชย์และบรรจุภัณฑ์ (From Office Printer To Commercial And Packaging Printing)” โดยได้ร่วมกันจัดตั้ง FUJIFILM Asia Pacific Demo Center ศูนย์นวัตกรรมงานพิมพ์ที่แสดงให้ลูกค้าเป้าหมายได้เห็นถึงจุดแข็งด้านความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีการพิมพ์ที่ล้ำสมัย และความแข็งแกร่งด้านโซลูชั่นการพิมพ์ในสำนักงานของฟูจิฟิล์ม เราต้องการให้โชว์รูมแห่งนี้เป็นที่จัดหาและจัดแสดงเทคโนโลยีการพิมพ์ล่าสุดจากความร่วมมือของสองบริษัท ที่ลูกค้าสามารถเข้ามาสัมผัสประสบการณ์จากผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ซึ่งจะตอบสนองความต้องการในอนาคตของธุรกิจการพิมพ์ในประเทศไทย และตั้งเป้าเป็นศูนย์รวมโซลูชั่นด้านสิ่งพิมพ์เพื่อธุรกิจแบบครบวงจรที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ทางด้าน มร.มาซาอากิ ยานากิย่า ประธานบริษัท ฟูจิฟิล์ม บิสซิเนส อินโนเวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ธุรกิจการพิมพ์ในประเทศไทย เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) และไม่ใช่แค่เพียงตลาดการพิมพ์ภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการส่งออกงานพิมพ์ด้วย และเมื่อพิจารณาแนวโน้มของตลาดนั้น ตลาดไทย ก็สอดรับกับแนวโน้มของตลาดทั่วโลก ในอดีตธุรกิจการพิมพ์ส่วนใหญ่มีเพื่อรองรับงานประเภท นามบัตร โบรชัวร์ และใบปลิว แต่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมารูปแบบของการดำเนินธุรกิจก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ธุรกิจการพิมพ์จึงต้องปรับตัว และสร้างความหลากหลายให้กับตัวเองเพื่อที่จะตอบสนองกับความต้องการใหม่ ๆ

ฟูจิฟิล์มฯ เห็นอนาคตของธุรกิจการพิมพ์ในประเทศไทยอย่างชัดเจน โดยมีแนวโน้มที่จะเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะด้านสิ่งพิมพ์ บรรจุภัณฑ์ ฉลาก และการเพิ่มมูลค่างานพิมพ์ ซึ่งเกิดจากความต้องการการผลิตสินค้าที่หลากหลายในตลาดให้กับผู้บริโภค ปัจจุบันมีการผลิตบรรจุภัณฑ์และฉลากเพื่อให้ผลิตภัณฑ์โดดเด่น และดึงดูดผู้บริโภค ซึ่งเป็นช่องทางการตลาดที่ลูกค้าพร้อมจะลงทุน

FUJIFILM Asia Pacific Demo Center เป็นการยกระดับการให้บริการด้านงานพิมพ์เพื่อธุรกิจ ที่ให้บริการแบบครบวงจร หรือ One Stop Service สามารถนำเสนอโซลูชั่นการพิมพ์ที่หลากหลายให้แก่ลูกค้า ครอบคลุมทุกธุรกิจการพิมพ์ ทั้งกลุ่มการพิมพ์บนกระดาษ การพิมพ์บนบรรจุภัณฑ์ รวมถึงแผ่นป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ (Billboard) ด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรมการพิมพ์ที่ล้ำสมัย ที่มีประสิทธิภาพการพิมพ์ความเร็วสูง และยังสามารถพิมพ์บนวัสดุได้หลากหลาย เช่น กระดาษพลาสติก แผ่นโลหะ และกระดาษลูกฟูก โดยมีกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่กลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เอ็มเอสเอ็มอี (MSMEs) ไปจนถึงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยคำนึงถึงกลยุทธ์ทางธุรกิจที่สำคัญ คือความคุ้มค่าด้านต้นทุน ให้มีประสิทธิภาพสูง และความเป็นเลิศด้านคุณภาพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับกลุ่มลูกค้าก่อนการลงทุน ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ บริษัท ฟูจิฟิล์ม (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ฟูจิฟิล์ม บิสซิเนส อินโนเวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกันเปิดโชว์รูมแห่งนี้ขึ้น

โดย FUJIFILM Asia Pacific Demo Center ได้มีการนำเทคโนโลยีด้านการพิมพ์ที่ล้ำสมัยมาให้บริการ เช่น เทคโนโลยีหัวพิมพ์ SAMBA เป็นหัวพิมพ์อิงค์เจทที่สามารถปล่อยหมึกได้ตามคำสั่ง ซึ่งหัวฉีดมีขนาดเล็กกว่าเส้นผม มีความเร็วในการพิมพ์ 100khz ทำให้งานพิมพ์คมชัดและคงทน ซึ่งถือเป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของฟูจิฟิล์มเท่านั้น โดยเฉพาะ Jet Press 750S ซึ่งใช้หัวพิมพ์ SAMBA ที่เน้นงานพิมพ์ระดับคุณภาพสูง เหมาะสำหรับงานพิมพ์เชิงพาณิชย์และบรรจุภัณฑ์ จนไปถึงงานพิมพ์ระดับไฮเอนด์ นอกจากนี้ ยังมีเครื่อง Acuity B1 ที่สามารถพิมพ์ลงบนวัสดุที่มีความหนาได้ เช่น พวกกระป๋องบรรจุภัณฑ์โลหะ และเครื่องพิมพ์ Revoria Press PC1120 เป็นเครื่องพิมพ์รุ่นใหม่ล่าสุดที่ผสมผสานนวัตกรรมการพิมพ์คุณภาพสูง สามารถพิมพ์สีพิเศษ เช่น สีเงิน สีทอง สีชมพู และสีขาว คมชัดสมจริง พร้อมทั้งสามารถพิมพ์ลงบนวัตถุต่าง ๆ ได้อย่างสมบูรณ์แบบ รวมไปถึงการพิมพ์ลงบนแผ่นพลาสติก ได้อย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว อีกทั้งยังมีเทคโนโลยี AI ที่ช่วยในการปรับสีภาพให้นุ่มนวลและสดใส นอกจากนี้ เรายังมีเครื่องพิมพ์ดิจิทัลตั้งแต่สเกลเล็กถึงสเกลใหญ่ เช่น เครื่องพิมพ์ Apeos Pro และ เครื่องพิมพ์ Versant เครื่องพิมพ์ที่ให้ประสิทธิภาพงานพิมพ์ ที่ตอบโจทย์กับการพิมพ์เพื่อการพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ

มร.โซ มารูโอะ กล่าวทิ้งท้ายว่า เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า FUJIFILM Asia Pacific Demo Center แห่งนี้ จะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน และเสริมการเจริญเติบโตร่วมกันของทั้งสองธุรกิจ เดินหน้าสู่การเป็น No.1 Total Printing Solutions ได้ในอนาคตอันใกล้ โดยคาดว่าจะมีผลักดันให้รายได้จากธุรกิจการพิมพ์ พร้อมกันนี้ ฟูจิฟิล์มไม่หยุดยั้งที่จะเปลี่ยนแปลงธุรกิจเพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ในอนาคต และเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยคำนึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม และการสร้างสรรค์คุณภาพที่ดีขึ้นสู่สังคมไทย.

 

ที่มา: https://mgronline.com/business/detail/9650000028167 

วันที่ 28 มีนาคม 2565