วว. - บริษัทฝาจีบฯ ร่วมขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ BCG ส่งเสริมต่อยอดวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม สู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) จับมือ บริษัท ฝาจีบ จำกัด (มหาชน) ร่วมขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ BCG ส่งเสริมพัฒนาความรู้และงานวิจัย เพื่อต่อยอดองค์ความรู้และนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์

ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ นายโอภาศ ธันวารชร กรรมการและผู้จัดการใหญ่ บริษัท ฝาจีบ จำกัด (มหาชน) ร่วมขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ BCG ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการส่งเสริมพัฒนาความรู้และงานวิจัย เพื่อต่อยอดองค์ความรู้และนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ มีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี โอกาสนี้ ดร.ประทีป วงศ์บัณฑิต รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน ดร.พัชทรา มณีสินธุ์ รองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรม วว. มิสเตอร์ยูกิฮิโตะ โนซากิ Senior Vice President Technical บริษัท ฝาจีบ จำกัด (มหาชน) พร้อมผู้บริหาร บุคลากร ทั้งสองหน่วยงานร่วมเป็นเกียรติ ในวันที่ 24 มีนาคม 2565 ณ วว. เทคโนธานี คลองห้า จังหวัดปทุมธานี

ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า ความร่วมมือ ระหว่าง วว. และ บริษัท ฝาจีบ จำกัด (มหาชน) นอกจากจะเป็นการใช้ประโยชน์งานวิจัยพัฒนาเพื่อร่วมกันพัฒนาขีดความสามารถแล้ว ยังเป็นการสนองตอบนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ BCG โดยทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันพัฒนาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular economy มุ่งเน้นการพัฒนากระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุด หรือพัฒนาวัสดุรูปแบบใหม่ ที่มุ่งเน้น Low carbon ส่งเสริมการใช้ซ้ำและให้ความสำคัญกับการจัดการของเสียจากการผลิต ด้วยการนำวัตถุดิบที่ผ่านการผลิตมาเข้าสู่กระบวนการแปรสภาพเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ อันจะเป็นการสนับสนุนการพัฒนาของประเทศไทยสู่เศรษฐกิจสีเขียว หรือ Green economy อย่างเป็นรูปธรรม

“วว. และ บริษัทฝาจีบฯ มีสัมพันธภาพที่ดีต่อกันมายาวนาน ผ่านการดำเนินงานกับ ศูนย์พัฒนาและทดสอบสมบัติวัสดุ หน่วยงานในสังกัด วว. ซึ่งให้บริการวิเคราะห์ ทดสอบ สมบัติของวัสดุและผลิตภัณฑ์ โดยมุ่งเน้นทางด้านโลหะ เช่น ชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์จากโลหะ โครงสร้าง เครื่องจักร อุปกรณ์ หม้อไอน้ำ ภาชนะรับแรงดัน ชิ้นส่วนวิศวกรรมและชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น นอกจากนี้บริษัทฝาจีบฯ ยังสนใจนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยเฉพาะงานบริการอุตสาหกรรมของ วว. มาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ รวมทั้งให้ความสนใจงานวิจัยด้านอื่นๆ ได้แก่ ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีอาหาร และสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง วว. ได้นำองค์ความรู้เหล่านี้เข้าไปส่งเสริมสนับสนุนภาคเอกชนรายอื่นๆ สำเร็จเป็นรูปธรรมมาแล้ว” .... ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เกล่าว

ทั้งนี้ วว. มีความพร้อมทั้งองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐานและบุคลากร ในการวิจัยและพัฒนา บริการ ถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของประเทศ ด้วยความเชี่ยวชาญที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างแท้จริง รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้านงานวิจัย เสริมสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ตลอดจนพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคเอกชนและผู้ประกอบการไทยสู่เวทีการแข่งขันระดับโลก

นายโอภาศ ธันวารชร กรรมการและผู้จัดการใหญ่ บริษัท ฝาจีบ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทมุ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ที่หลากหลาย นอกเหนือจากฝาปิดผนึกที่มีคุณภาพชั้นนำ ด้วยกระบวนการจัดการและบุคลากรที่เป็นเลิศ มีนวัตกรรมและการให้บริการที่ครบวงจร เพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืน จากการได้ร่วมงานกับ วว. มายาวนานบริษัทเล็งเห็นถึงศักยภาพที่ วว. จะให้ความช่วยเหลือสนับสนุนในการดำเนินงานของบริษัทได้เป็นอย่างมากในหลายๆด้าน ปัจจุบันบริษัทมุ่งเน้น ด้าน Innovative Products ซึ่ง วว. สามารถช่วยส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานของบริษัท ในด้านองค์ความรู้ เทคโนโลยี บุคลากร โครงสร้างพื้นฐาน และการวิจัยพัฒนาทดสอบต่างๆ

นอกจากนี้ในกระบวนการผลิตของบริษัทยังมีการใช้วัสดุต่างๆ โดยที่ผ่านมามีหลายโครงการที่ได้นำชิ้นส่วนมาให้ วว. ช่วยสรรหาวัสดุที่มีความทนทาน ไม่เกิดเขม่า ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นงานที่ได้ทำร่วมกันอยู่แล้วและจะทำต่อเนื่องร่วมกันต่อไป ทั้งนี้ในความตั้งใจของบริษัทที่จะพัฒนาโดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนองค์กรได้ดีขึ้น ผ่านการลงนามความร่วมมือกับ วว. ในครั้งนี้จึงเป็นก้าวที่สำคัญในการพัฒนาร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นความตั้งใจของบริษัทที่ลูกค้าต้องมาก่อน คุณภาพเป็นอันดับหนึ่ง ส่งเสริมความก้าวหน้าของบุคลากรและดูแลสิ่งแวดล้อมโดยรวม เชื่อมั่นว่าความร่วมมือครั้งนี้จะนำไปสู่ประโยชน์ที่เป็นรูปธรรม สามารถนำไปใช้งานได้จริงและเกิดประโยชน์ต่อภาพรวมของประเทศ

 

ที่มา: https://mgronline.com/science/detail/9650000029026 

วันที่ 28 มีนาคม 2565