เดินหน้าประเทศไทยไร้ขยะพลาสติก! “ต้องลดและเลิก พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว”

พลาสติกเป็นวัสดุที่ถูกนำมาใช้งานอย่างกว้างขวางในชีวิตประจำวัน เนื่องจากคุณสมบัติทนทาน น้ำหนักเบา และใช้ต้นทุนในการผลิตต่ำ แต่เมื่อกลายเป็นขยะพลาสติกที่หลุดรอดออกมาสู่สิ่งแวดล้อม กลับสร้างปัญหาต่อระบบนิเวศ สัตว์น้ำ และยังแตกตัวเป็นไมโครพลาสติกที่ย้อนกลับมาสู่ห่วงโซ่อาหารของมนุษย์โดยเฉพาะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (single-use
plastic)

ในการสำรวจมักพบบริเวณชายหาดและในทะเลในสัดส่วนที่สูงกว่าขยะประเภทอื่น อีกทั้งได้ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลหายาก ทำให้สังคมและภาคส่วนต่าง ๆ หันมาสนใจ ใส่ใจมากขึ้นพร้อมมีความพยายามลดผลกระทบจากขยะพลาสติกเหล่านี้

จากการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลปัญหาขยะพลาสติก โดยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย พบว่า ปัจจัยที่ทำให้ปัญหาขยะพลาสติกของประเทศไทยยังไม่คลี่คลาย เป็นผลจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีซึ่งสามารถผลิตพลาสติกได้ปริมาณมากและมีความหลากหลาย ยากแก่การจำแนกชนิดพลาสติกและนำไปรีไซเคิล ขณะที่พฤติกรรมของผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่คัดแยกขยะรวมถึงยังต้องการความสะดวกสบาย ซึ่งพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวตอบโจทย์ในเรื่องนี้ การขยายตัวของบริการซื้อสินค้าและอาหารแบบออนไลน์ การขาดประสิทธิภาพในการจัดการขยะมูลฝอยโดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยว

รวมถึงขาดการสนับสนุนและขาดโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการรีไซเคิลพลาสติก ทำให้ขยะพลาสติกร้อยละ 75 ของขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นราว 2 ล้านตันต่อปีไม่ถูกนำไปรีไซเคิล โดยต้องกำจัดโดยวิธีการฝังกลบ แบบถูกต้องตามหลักวิชาการ แบบเทกอง การเผาในที่โล่ง และการเผาแบบผลิตพลังงาน

นโยบาย แผน และเป้าหมายของประเทศ

ประเทศไทยได้กำหนดให้การจัดการขยะเป็นวาระแห่งชาติ มาตั้งแต่ปี 2557 เนื่องจากปัญหาขยะตกค้างสะสม โดยให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดการขยะพลาสติก มีการตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์และกำหนดให้มีการนำ “ขยะพลาสติกเปาหมาย” กลับมาใชประโยชน์ร้อยละ 100 ในปี 2573 ซึ่งได้เริ่มจากการยกเลิกพลาสติกหุ้มฝาขวด (Cap seal) และไมโครบีด (Micro-bead) โดยที่ผ่านมาได้มีการรณรงค์ลด-ละ-เลิกพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวโดยเฉพาะถุงพลาสติก มาตั้งแต่ต้นปี 2563 แต่เมื่อเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ในช่วงดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน ทำให้ปริมาณการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวจากบริการส่งอาหาร (Food Delivery) เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การผลิตพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวโดยรวมในปี 2564 มีแนวโน้มลดลง

ขณะที่ภาครัฐยังเดินหน้าเลิกใช้พลาสติก 4 ชนิด ซึ่งล้วนเป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ได้แก่ ถุงพลาสติกแบบบางน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติกแบบบางน้อยกว่า 100 ไมครอน และหลอดพลาสติก ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากมติคณะรัฐมนตรีในปี 2565 เพื่อให้เป็นไปตาม Roadmap การจัดการขยะพลาสติกของประเทศ

บทบาทและความรับผิดชอบของภาคธุรกิจเอกชน

ภาคธุรกิจเอกชนมีการรวมตัวกับภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ในนาม “PPP Plastics” (Public Private Partnership for Sustainable Plastic and Waste Management) มีส่วนร่วมในการจัดทำแผนปฏิบัติการ การพัฒนาต้นแบบการจัดการพลาสติกแบบครบวงจรในจังหวัดระยอง โดยร่วมกับหน่วยงานในระดับจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ การขยายความรับผิดชอบในการกำหนดจุดรับขยะพลาสติกและการรวบรวมพลาสติกเข้าสู่กระบวนการผลิตกลับมาใช้ใหม่

ส่วนกรณี “APCT” (Alliance Plastic Circularity Thailand) ที่เป็นความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตขนาดใหญ่ ซึ่งให้ความสำคัญเรื่องการดูแลผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และขยะที่เกิดจากกระบวนการผลิต โดยได้ร่วมมือกันสร้างโมเดลในการจัดการขยะในพื้นที่ชุมชนต้นแบบที่ไร่เชิญตะวัน จังหวัดเชียงราย ในการรวบรวมขยะพลาสติกนำไปรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ส่วนองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ TBCSD (Thailand Council for Sustainable Development) ที่มีบริษัทและองค์กรชั้นนำของประเทศรวมตัวกันเกือบ 40 องค์กร ก็ได้กำหนดให้เรื่องนี้เป็นวาระสำคัญที่ต้องร่วมมือกับขับเคลื่อน

การพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยี และผลิตภัณฑ์ทางเลือก

การปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีและวิธีการผลิตบริษัทขนาดใหญ่ต่าง ๆ ได้ถูกเผยแพร่อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการเกิดขยะและเอื้อให้พลาสติกหลังการใช้งานได้กลับเข้าสู่กระบวนการนำกลับไปใช้ใหม่

กรณีนวัตกรรมของ “บริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย)” ได้พัฒนากระบวนการผลิตเม็ดพลาสติกที่แปรรูปมาจากวัสดุพลาสติกที่ผู้ใช้งานไม่ได้ใช้แล้ว การนําพลาสติกที่เหลือทิ้งหรือสูญเสียระหว่างกระบวนการผลิตกลับไปเป็นวัตถุดิบเพื่อนํากลับมาใช้ใหม่ได้อีกครั้ง รวมถึงนวัตกรรมในการลดขยะพลาสติกหรือการลดใช้พลาสติก เช่น การลดความหนา การใช้วัสดุพลาสติกชนิดเดียวกัน เป็นต้น

นอกจากนี้ มีบริษัทเอกชนหลายรายได้คิดค้นภาชนะและบรรจุภัณฑ์จากวัตถุดิบธรรมชาติ เพื่อให้สามารถย่อยสลายได้ในระยะเวลาอันสั้น กรณีผลิตภัณฑ์ “เกรซ - Gracz” ที่เกิดจากความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวซึ่งส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จึงได้นำฟางข้าว ชานอ้อย ผักตบชวา และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาพัฒนาเป็นจาน ถ้วย แก้ว ฝาแก้ว หลอด เป็นต้น ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ทางเลือกเหล่านี้ ได้รับการพัฒนาให้มีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการใช้งาน มีราคาไม่แตกต่างจากผลิตภัณฑ์พลาสติกมากนักและหาซื้อได้ง่าย อย่างไรก็ดี ยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องต้องเพื่อเพิ่มทางเลือกสำหรับภาชนะและบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารบางประเภท

กรณีตัวอย่างและต้นแบบในระดับพื้นที่

การปรับตัวของร้านอาหารและร้านกาแฟซึ่งเป็นแหล่งที่มีการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวกันเป็นประจำนั้น เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ กรณีร้าน Sri The Shophouse แหล่งท่องเที่ยวย่านเมืองเก่า จังหวัดภูเก็ต ไม่มีการใช้แก้วพลาสติก ถุงพลาสติก และหลอดพลาสติก มาตั้งแต่เปิดร้านเมื่อ 3 ปีก่อน แต่ยังจำเป็นต้องใช้ถุงร้อนพลาสติกเนื่องจากยังไม่สามารถหาผลิตภัณฑ์ทางเลือกทดแทนได้ การลดและจัดการขยะจากพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวยังพบได้ในหลายชุมชนและโรงเรียนที่นำแนวคิด Zero waste ไปปรับใช้

การพัฒนา “ระยองโมเดล” เป็นอีกกรณีหนึ่งที่มีการพัฒนาขึ้นในปี 2561 เพื่อเป็นต้นแบบการจัดการขยะพลาสติกแบบครบวงจรในจังหวัดระยอง มีหลายภาคส่วนร่วมมือกัน โดยเน้นการให้ข้อมูลแก่ประชาชนซึ่งเป็นผู้ก่อให้เกิดขยะที่ต้นทาง การมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งรับผิดชอบในการจัดเก็บและรวบรวมขยะ แล้วนำไปส่งที่ศูนย์จัดการขยะรวมจังหวัดระยอง เพื่อแยกไปจัดการตามประเภทของพลาสติก

ส่วนกรณี “โครงการ CAP SEA” (Collaborative Action for Single-Use Plastic Prevention in Southeast Asia) เริ่มดำเนินงานในจังหวัดภูเก็ตเมื่อปี 2564 มุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการลดขยะพลาสติกจากต้นทางหรือตั้งแต่การเลือกบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ รวมถึงพัฒนาระบบที่ “ใช้ซ้ำ-ใช้วน-ใช้ทน-ใช้นาน” ก่อนนำบรรจุภัณฑ์ที่ไม่สามารถใช้งานได้เข้าสู่ระบบกำจัดของเสีย

ความท้าทายและแรงขับเคลื่อนในอนาคต

ประเทศไทยมีนโยบาย แผน และเป้าหมายในการจัดการขยะพลาสติกที่ชัดเจน ด้วยแรงกดดันจากสถานการณ์ปัญหาขยะที่เพิ่มมากขึ้นและผลกระทบต่อสัตว์ทะเลหายาก โดยมีแรงขับเคลื่อนจากความร่วมมือทั้งในประเทศ ในภูมิภาค และการสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศ พร้อมมีการตั้งกลไกในการบริหารจัดการขยะพลาสติกในรูปแบบคณะอนุกรรมการที่ประกอบด้วยผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานของประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นการส่งเสริมและจูงใจ โดยยังไม่มีมาตรการบังคับเพื่อให้นโยบายเกิดผลในทางปฏิบัติและบรรลุเป้าหมาย

แม้ที่ผ่านมาภาคธุรกิจเอกชนได้มีบทบาทมากขึ้น เนื่องจากเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง ขณะที่บริษัทขนาดใหญ่มีศักยภาพในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี แต่บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กย่อมได้รับผลกระทบในเรื่องนี้หากไม่สามารถปรับตัวได้ ส่วนการยอมรับของสังคมค่อย ๆ เพิ่มขึ้น แต่ยังไม่กว้างขวางนัก โดยมีกลุ่มคนรุ่นใหม่และสตาร์ทอัพปรับเปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์ทางเลือก การใช้ภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์ทางเลือกที่เห็นว่าราคาไม่แตกต่างจากพลาสติกมากนัก รวมถึงการใช้ภาชนะใส่อาหารและเครื่องดื่มที่สามารถใช้ได้หลายครั้ง กระทั่งเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การใช้พลาสติกจากบริการรับส่งอาหารเพิ่มขึ้น และการใช้ถุงร้อนสำหรับใส่อาหารยังเป็นประเด็นที่แก้ไขได้ยาก

การเพิ่มทางเลือกในการลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว การให้ข้อมูล และการสื่อสารเชิงรุก น่าจะเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มการรับรู้และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของสังคมโดยรวม และใช้โอกาสที่ประเทศไทยได้ประกาศนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจด้วย BCG Model มาช่วยในการปัญหาขยะพลาสติก ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม กลไกการเงิน ระบบการรวบรวมพลาสติกเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงยกระดับการดำเนินงานในพื้นที่ต่าง ๆ และขยายผลให้กว้างขวางมากขึ้น

ข้อมูลอ้างอิง การสัมมนาออนไลน์ “การพัฒนาสู่ประเทศไทยไร้ขยะ: การลดและเลือกใช้วัสดุทดแทนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว” เมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2565 จัดโดย สถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก (Economic Research Institute for ASEAN and East Asia – ERIA) และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย

เรียบเรียงโดย: เบญจมาส โชติทอง และ บุณยาพร เจือทอง คณะนักวิจัย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย

 

ที่มา: https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9650000025218 

วันที่ 21 มีนาคม 2565