วิจัยกรุงศรี ชี้การบริโภคเครื่องดื่มในประเทศ หดตัวต่อเนื่องจากกำลังซื้อที่เปราะบางตามภาวะเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของ COVID-19คาดปี 2565-2567 ตลาดในประเทศมีแนวโน้มเติบโตในระดับต่ำตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป
การบริโภคเครื่องดื่มในประเทศ (สัดส่วน 90% ของปริมาณการผลิตทั้งหมด) ปี 2564 หดตัวต่อเนื่องจากปีก่อน เนื่องจากกำลังซื้อยังคงเปราะบางตามภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยังรุนแรง ปี 2565-2567 ตลาดในประเทศมีแนวโน้มเติบโตได้ในระดับต่ำตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยตลาดเครื่องดื่มประเภทหลักทั้งน้ำอัดลม เบียร์ และสุรา นอกเหนือจากวิกฤต COVID-19 แล้วยังเผชิญข้อจำกัดจากผลของมาตรการภาครัฐในการลดอัตราการบริโภคเครื่องดื่มกลุ่มที่ส่งผลกระทบหรือมีผลข้างเคียงต่อสุขภาพ เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลสูง เป็นต้น นอกจากนี้ กำลังซื้อของกลุ่มผู้บริโภคฐานรากที่อยู่ในระดับต่ำยังเป็นปัจจัยบั่นทอนอีกส่วนหนึ่งด้วย
ด้านตลาดต่างประเทศ ช่วงปี 2564-2567 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง ผลจากเมียนมาซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักห้ามนำเข้าผ่านชายแดนทางบกซึ่งเป็นช่องทางส่งออกหลัก ส่วนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีแนวโน้มเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไปตามภาวะฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ตาม การทยอยออกไปลงทุนตั้งฐานการผลิตของผู้ผลิตไทยในตลาดส่งออกหลักอาจทำให้การส่งออกจากแหล่งผลิตในไทยลดความสำคัญลงเป็นลำดับ
ศูนย์วิจัยกรุงศรี คาดการณ์ว่า
รายได้ของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มโดยรวมในปี 2565-2567 มีแนวโน้มเติบโตตามตลาดในประเทศซึ่งเป็นตลาดหลัก โดยคาดว่าปี 2564 มูลค่าจำหน่ายจะหดตัวต่อเนื่องจากปี 2563 เนื่องจาก COVID-19 กระทบกำลังซื้อของผู้บริโภค ส่วนปี 2565-2567 มูลค่าจำหน่ายจะกลับมาเติบโตตามภาวะเศรษฐกิจและภาคท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นตัว ด้านตลาดส่งออกมีแนวโน้มหดตัวหรือเติบโตไม่มากนัก เนื่องจากผู้ประกอบการไทยมีฐานการผลิตในตลาดอาเซียนซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลัก สำหรับการปรับขึ้นภาษีความหวานจะเป็นภาระต้นทุนของผู้ผลิตน้ำอัดลมซึ่งอาจมีผลลดทอนอัตรากำไรอยู่บ้าง
ผู้ผลิตน้ำดื่มบรรจุขวด: คาดว่ารายได้ในปี 2564 จะทรงตัวจากมาตรการควบคุมการเปิดบริการของร้านอาหารชั่วคราวและภาวะท่องเที่ยวซบเซา แต่จะขยายตัวดีขึ้นในปี 2565-2567 ตามทิศทางเศรษฐกิจ ขณะที่ภาวะการแข่งขันยังคงรุนแรง ทั้งจากผู้ผลิตภายในอุตสาหกรรมเดียวกันและเครื่องดื่มทดแทนโดยเฉพาะเครื่องดื่มผสมวิตามินที่มีความนิยมเพิ่มขึ้นตามกระแสใส่ใจสุขภาพ
ผู้ผลิตน้ำอัดลม: คาดว่ารายได้ยังคงมีทิศทางผันผวน โดยในปี 2564 รายได้หดตัวจากกำลังซื้อที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ แต่จะฟื้นตัวได้ในปีถัดไปจากกำลังซื้อที่กระเตื้องขึ้น และอาจมีความต้องการซื้อเพื่อกักตุนก่อนมีการปรับราคาจำหน่ายตามภาษีความหวานที่เพิ่มขึ้นในอัตราก้าวกระโดดระยะที่ 3 ช่วงปลายปี 2565 หลังจากนั้นคาดว่าตลาดจะกลับมาหดตัวในปี 2566 ก่อนจะเพิ่มขึ้นในปี 2567 ตามกิจกรรมเศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวมากขึ้น และอุปสงค์เพื่อสะสมสต๊อกอีกครั้งก่อนปรับเพิ่มภาษีความหวานระยะที่ 4 ช่วงปลายปี 2567 โดยการส่งออกมีแนวโน้มหดตัวจากการห้ามนำเข้าผ่านชายแดนทางบกของเมียนมา และการขยายการผลิตของโรงงานผู้ประกอบการไทยในอาเซียน ทั้งนี้ ต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นจากทั้งต้นทุนด้านภาษี (ตามปริมาณส่วนผสมน้ำตาล) ต้นทุนการจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นตลาดและแข่งขันกับเครื่องดื่มทดแทน
ผู้ผลิตเบียร์: คาดว่ารายได้จะค่อยๆ ฟื้นตัวตามทิศทางตลาดในประเทศที่กระเตื้องขึ้นและปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่มีแนวโน้มคลี่คลายหลังการฉีดวัคซีนทยอยครอบคลุมประชากรของประเทศมากขึ้น ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและกิจกรรมทางสังคม การพบปะ สังสรรค์สามารถดำเนินได้บ้าง ส่งผลให้ตลาดในประเทศมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้ในปี 2565-2567 หลังจากหดตัวในปี 2564 ส่วนการรับรู้รายได้จากการส่งออกยังมีข้อจำกัด เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงโดยเฉพาะกับผู้ผลิตเบียร์ท้องถิ่นที่ครองส่วนแบ่งตลาดสูงในประเทศคู่ค้า
ผู้ผลิตสุรา: คาดว่ารายได้จะทยอยปรับดีขึ้นเป็นลำดับตามการฟื้นตัวของตลาดในประเทศ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อทยอยฟื้นตัว รวมทั้งกลยุทธ์กระตุ้นตลาดเพื่อดึงดูดผู้บริโภค เช่น การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และความหลากหลายของขนาดบรรจุภัณฑ์เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินค้า โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กเพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าเป้าหมายซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้บริโภคฐานรากที่มีกำลังซื้อไม่มากนัก
อย่างไรก็ตามไทยสามารถผลิตเครื่องดื่มนานาชนิดสนองความต้องการผู้บริโภคในประเทศ (สัดส่วน 90% ของปริมาณผลผลิต) ได้เพียงพอ มีการนำเข้าเฉพาะเครื่องดื่มระดับบนที่มีราคาแพงบางประเภท อาทิ ไวน์ และวิสกี้ นอกจากนี้ ไทยยังสามารถส่งออกคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของปริมาณผลผลิตทั้งหมด ทั้งนี้ ในปี 2563 อุตสาหกรรมเครื่องดื่มในไทยมีโรงงานที่จดทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมจำนวน 420 แห่ง แบ่งเป็น 1) โรงงานเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 340 แห่ง คิดเป็นสัดส่วน 81% ของจำนวนโรงงานผลิตเครื่องดื่มทั้งหมด
ในจำนวนนี้เป็นผู้ประกอบการ SME 60% ของโรงงานผลิตเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ทั้งหมด 2) โรงงานผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 80 แห่ง คิดเป็นสัดส่วน 19% ของจำนวนโรงงานผลิตเครื่องดื่มทั้งหมด มีทั้งโรงงานขนาดใหญ่สัดส่วน 49% ของโรงงานผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมด) ซึ่งเน้นผลิตสุรา (แอลกอฮอล์ 28 ดีกรี) และเบียร์ที่เป็นแบรนด์หลักในตลาด และโรงงานขนาด กลาง-เล็ก (สัดส่วน 51%) ที่ผลิตสุราขาว สุราพื้นบ้านและไวน์ ซึ่งเป็นประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ทางการไทยยังมีกฎระเบียบไม่เข้มงวดนักในด้านขนาดของโรงงานผลิต
ในปี 2563 ตลาดเครื่องดื่มในไทยมีปริมาณการบริโภครวม 1.3 หมื่นล้านลิตร มูลค่าประมาณ 7.2 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คิดเป็นสัดส่วน 79:21 ในเชิงปริมาณการบริโภค และ 36:64 ในเชิงมูลค่า
เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณการบริโภคและมูลค่าตลาดสูงสุด คือ น้ำดื่มบรรจุขวด ซึ่งมีสัดส่วนการบริโภค 60.3% และ 32.8% ในเชิงปริมาณและมูลค่าของตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ทั้งหมด และน้ำอัดลมมีสัดส่วน 24.7% และ 33.2% ในเชิงปริมาณและมูลค่า ตามลำดับ
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณการบริโภคและมูลค่าตลาดสูงสุด คือ เบียร์ มีสัดส่วน 71.3% และ 54.3% ในเชิงปริมาณและมูลค่าของตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมด ตามด้วยสุรามีสัดส่วน 26.7% และ 37.9% ในเชิงปริมาณและมูลค่า ตามลำดับ
ด้านการส่งออกเครื่องดื่มของไทยส่วนใหญ่เป็นเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ คิดเป็นสัดส่วน 88% ของมูลค่าส่งออกเครื่องดื่มทั้งหมดของไทย โดยเครื่องดื่มที่ไทยมีศักยภาพส่งออก อาทิ น้ำอัดลม ชาพร้อมดื่ม กาแฟพร้อมดื่ม มีตลาดอาเซียนเป็นตลาดส่งออกหลักสัดส่วนประมาณ 64% ของมูลค่าส่งออกเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ รองลงมาคือ สหรัฐฯ (12%) ส่วนการส่งออกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีสัดส่วน 12% ของมูลค่าส่งออกเครื่องดื่มทั้งหมด ตลาดส่งออกสำคัญคือ อาเซียน สัดส่วน 69% ของมูลค่าส่งออกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมด รองลงมา คือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (6%) ญี่ปุ่น (5%) และจีน (4%) ตามลำดับ