SCC ลั่นปีนี้ยอดขายโตตามเป้า 5-10% หวั่นต้นทุนวัตถุดิบพลังงาน-เงินเฟ้อกด ศก.

ปูนซิเมนต์ไทยมั่นใจปีนี้ยอดขายโตตามเป้า 5-10% หวั่นปัจจัยเสี่ยงต้นทุนวัตถุดิบและพลังงานสูง รวมถึงเงินเฟ้อและโควิดสายพันธุ์ใหม่กดดันเศรษฐกิจและผลดำเนินงานบริษัทไตรมาส 4 นี้ วางแผนรับมือตามกลยุทธ์ตามแนวทาง ESG

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC เปิดเผยว่า จากนโยบายรัฐที่ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่ต้องกักตัวในประเทศที่มีความเสี่ยงโควิด-19 ต่ำตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2564 เป็นต้นไป จะเห็นความต้องการสินค้าของธุรกิจเครือฯ เพิ่มขึ้นมาก ทั้งธุรกิจเคมิคอลส์, ธุรกิจแพกเกจจิ้ง และธุรกิจซีเมนต์วัสดุก่อสร้าง นับเป็นสัญญาณที่ดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลก แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยง คือต้นทุนราคาพลังงานและวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นอันสืบเนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูง รวมทั้งความเสี่ยงเรื่องโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ที่จะเป็นตัวกดดันผลประกอบการบริษัทฯ อยู่

อย่างไรก็ตาม บริษัทมั่นใจว่าเป้าหมายยอดขายปีนี้ที่วางไว้เติบโต 5-10% จากปีก่อนทำได้อย่างแน่นอน เนื่องจากผลดำเนินงาน 9 เดือนแรกปีนี้บริษัทมีรายได้จากการขาย 387,446 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกำไรสำหรับงวด 38,867 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากส่วนต่างราคาสินค้าเคมีภัณฑ์และส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมเพิ่มขึ้น

ส่วนงวดไตรมาส 3/2564 บริษัทมีรายได้จากการขาย 131,825 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น 31% และมีกำไรสุทธิ 6,817 ล้านบาท ลดลง 30% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มาจากธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ และการปิดเมืองทั้งภูมิภาค รวมทั้งการขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์โรงปูนซีเมนต์ที่เมียนมา และกำไรจากการปรับมูลค่าเงินลงทุนดังกล่าว

“แนวโน้มเศรษฐกิจหลังจากนี้จะดีขึ้นทั้งในส่วนของภาคการบริโภคและการก่อสร้าง เนื่องจากแรงอั้นจากช่วงก่อนหน้านี้ เมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ก็น่าจะเห็นการฟื้นตัวที่ดีขึ้นมา ซึ่งเหมือนกับหลายๆ ประเทศทั่วโลก คาดว่าจะมีแรงส่งไปจนถึงปีหน้า”

นายรุ่งโรจน์กล่าวต่อไปว่า สถานะทางการเงินของบริษัทยังแข็งแกร่ง แม้ว่ากำไรลดลงจากการปิดประเทศทั้งภูมิภาค ต้นทุนพลังงานและวัตถุดิบสูงขึ้น ดังนั้นบริษัทได้เร่งดำเนินกลยุทธ์ตามแนวทาง ESG (Environmental, Social and Governance) เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับต้นทุนพลังงาน และวัตถุดิบที่อาจเพิ่มสูงขึ้นอีก รวมถึงภาวะเงินเฟ้อที่คาดว่าจะรุนแรงขึ้นในอนาคต โดยเร่งบริหารจัดการความเสี่ยงด้วยการทำสัญญาซื้อขายพลังงานล่วงหน้า การเลือกใช้วัตถุดิบที่เหมาะสมกับสถานการณ์ตลาดและเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนคือพลังงานชีวมวล (Biomass) จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและเชื้อเพลิงจากขยะ RDF และพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอีกในอนาคต ทำให้บริษัทอาจต้องปรับขึ้นราคาสินค้าเพื่อสะท้อนต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นเพื่อรักษามาร์จิ้นกำไรต่อหน่วย รวมทั้งบริหารการขายให้เหมาะสมกับตลาด โดยพิจารณาว่าการส่งออกสินค้าไปทำตลาดในแต่ละประเทศ ต้นทุนสินค้ารวมกับค่าขนส่งต้องแข่งขันได้จึงจะทำตลาดในประเทศนั้นๆ และผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรมตรงความต้องการของลูกค้า

ในระยะสั้นจะเห็นการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยและโลกแต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงนอกเหนือจากต้นทุนสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นแล้ว ปัญหาเงินเฟ้อเป็นปัจจัยเสี่ยงมากที่จะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้สินค้า เมื่อสินค้าราคาแพงความต้องการใช้จะลดลงและโควิดยังไม่จบ ดังนั้นบริษัทวางแผนรับมือโดยลดต้นทุนการผลิตและการปรับขึ้นราคาสินค้า การบริหารการขายให้เหมาะสมโดยเฉพาะค่าขนส่งและพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ต่อเนื่อง

นายรุ่งโรจน์กล่าวว่า บริษัทได้เร่งสร้างการเติบโตในระยะยาวด้วยผลิตภัณฑ์รักษ์โลกและสุขอนามัย เช่น ผลิตภัณฑ์ SCG Green Choice ที่ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ช่วยประหยัดพลังงานและส่งเสริมสุขอนามัยที่ดี CPAC Green Solution ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มความรวดเร็ว ลดปัญหาฝุ่น ของเสียในงานก่อสร้าง นอกจากนี้ ยังคงเดินหน้าสู่ธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ธุรกิจผลิตวัตถุดิบสำหรับผลิตพลาสติกชีวภาพ ล่าสุดได้ลงนาม MOU กับ Braskem เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมทุนสร้างโรงงานผลิตไบโอ-เอทิลีนในประเทศไทย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการพลาสติกชีวภาพ ส่วนความคืบหน้าการลงนามในสัญญาซื้อหุ้นบริษัทซีพลาสต์ (Sirplaste) ผู้นำด้านพลาสติกรีไซเคิลในประเทศโปรตุเกส คาดว่าจะสามารถโอนหุ้นได้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้

สำหรับโครงการปิโตรเคมีครบวงจร LSP ที่เวียดนามคืบหน้าตามแผน 87% โดยจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในครึ่งปีแรกของปี 2566

นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ มีมติอนุมัติการจัดตั้งวงเงินหุ้นกู้รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 100,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการออกหุ้นกู้ของเอสซีจี เคมิคอลส์ ครั้งแรก โดยได้ยื่นขออนุญาตออกและเสนอขายหุ้นกู้แบบโครงการ Medium Term Note (MTN) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 เรียบร้อยแล้ว ส่วนการปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อนำเอสซีจี เคมิคอลส์ เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์คาดว่าจะมีรายละเอียดในปลายปีนี้หรือต้นปี 2565

 

ที่มา: https://mgronline.com/business/detail/9640000106793 

วันที่ 01 พฤศจิกายน 2564