Advanced Recycling จาก เอสซีจี เคมิคอลส์ ได้รับการรับรองมาตรฐานความยั่งยืน “ISCC PLUS” รายแรกในไทย ตอกย้ำทิศทางปิโตรเคมีเพื่อความยั่งยืน พุ่งเป้าพัฒนาพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง
เอสซีจี เคมิคอลส์ แถลงความคืบหน้าตามแผนโรดแมปด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อมุ่งสู่ “ธุรกิจปิโตรเคมีเพื่อความยั่งยืน” (Chemicals Business for Sustainability) โดยล่าสุด กระบวนการภายใต้เทคโนโลยี Advanced Recycling เพื่อเปลี่ยนพลาสติกใช้แล้วให้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับโรงงานปิโตรเคมี ได้รับการรับรองมาตรฐาน “ISCC PLUS” โดย International Sustainability and Carbon Certification (ISCC) ซึ่งเป็นการรับรองให้กับองค์กรที่มีการจัดการและการพัฒนาที่ยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยเอสซีจี เคมิคอลส์ เป็นรายแรกในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองในประเภท Advanced Recycling นอกจากนี้ ยังพุ่งเป้าสู่การทำเศรษฐกิจหมุนเวียนตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน เพื่อพัฒนาพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้น
นายธนวงษ์ อารีรัชชกุล กรรมการผู้จัดใหญ่ เอสซีจี เคมิคอลส์ เผยถึงความคืบหน้าของ Advanced Recycling ตามแผนโรดแมปด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนว่า “ขณะนี้ การดำเนินงานด้าน Advanced Recycling ซึ่งเป็นการนำพลาสติกใช้แล้วมาผลิตเป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับธุรกิจปิโตรเคมี หรือที่เรียกว่า Recycled Feedstock นั้น มีความคืบหน้าไปตามแผนที่วางไว้ โดยล่าสุด ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISCC PLUS โดย International Sustainability and Carbon Certification หรือ ISCC ซึ่งเป็นการรับรองคาร์บอนและการพัฒนาอย่างยั่งยืนระหว่างประเทศ ทั้งนี้ Advanced Recycling จากเอสซีจี เคมิคอลส์ ถือเป็นรายแรกในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานความยั่งยืนชั้นนำระดับโลก”
เอสซีจี เคมิคอลส์ได้พัฒนาต่อยอดเทคโนโลยี Advanced Recycling โดยใช้สารเร่งปฏิกิริยา ทำให้กระบวนการรีไซเคิลมีอุณหภูมิต่ำ จึงช่วยลดการใช้พลังงาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนมีการควบคุมระบบอย่างชัดเจนในทุกขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่กระบวนการจัดหาเศษพลาสติกใช้แล้ว การรับและจัดเก็บวัตถุดิบ การรีไซเคิลผ่านเทคโนโลยี Advanced Recycling การจัดควบคุม จัดเก็บ และขนส่งผลิตภัณฑ์ ซึ่งนอกจากจะได้ Recycled Feedstock เพื่อนำกลับไปผลิตเม็ดพลาสติกใหม่ (Virgin Plastic Resin) ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนแล้ว ยังช่วยลดปัญหาการสะสมของปริมาณขยะพลาสติกในประเทศได้อีกด้วย
“เอสซีจี เคมิคอลส์ ยังคงเดินหน้าพัฒนาพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง ทั้งนี้ มีแนวทางในการสอบกลับสมดุลมวล (Mass Balance Approach) ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ธุรกิจต้นน้ำจนถึงปลายน้ำตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าของแบรนด์สินค้าชั้นนำที่มองหาวัสดุพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และตอบสนองกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการผลิตภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน” นายธนวงษ์ กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา: https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9640000094087