นายธัชชญาน์พล อภิมนต์เตชบุตร รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ได้รับรายงานจากสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเซลส์ว่า วันที่ 4 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2564 คณะกรรมาธิการยุโรป ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการปรับปรุงกฎระเบียบ CLP ในการควบคุมการจำแนกประเภท การติดฉลาก และการบรรจุหีบห่อสารเคมีและสารเคมีในกลุ่มของผสม ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ Globally Harmonized System (GHS) ของสหประชาชาติในการปกป้องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดให้ผู้ผลิตสารเคมีต้องแสดงข้อมูลความอันตรายของสารเคมีที่นำเข้ามาใน EU โดยกำหนดประเภท รายการและเกณฑ์สำหรับการติดฉลากสารเคมี
แต่อย่างไรก็ดี กฎระเบียบ CLP ยังขาดความชัดเจนเกี่ยวกับการแจ้งข้อมูลความอันตรายของสารเคมี รวมถึงบทบัญญัติเกี่ยวกับหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้เกี่ยวข้องที่มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากสารเคมีผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งตัวแทนสมาคมและบริษัทในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า กฎระเบียบดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมผลิตภัณฑ์บางชนิดและขาดความชัดเจนในประเด็นด้านสุขภาพ เช่น เครื่องสำอาง การจัดการของเสีย การคุ้มครองสุขภาพพลเมืองและเด็ก เป็นต้น
ต่อมาวันที่ 24 กรกฎาคม ที่ประชุม Competent Authorities for REACH and CLP ครั้งที่ 40 เห็นชอบให้ปรับปรุงกฎระเบียบ CLP ในประเด็นการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพพลเมือง เพื่อจำกัดการใช้สารเคมี เช่น ไมโครพลาสติก เพื่อลดการปล่อยมลพิษสู่ชุมชนและลดการสัมผัสของผู้บริโภคโดยตรง นอกจากนี้ การกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ภายใต้กฎระเบียบ CLP จะมีความเข้มงวดมากขึ้น โดยการจัดหมวดหมู่ใหม่เพื่อจำแนกประเภทสารเคมีที่เป็นอันตราย ประกอบด้วย 1. สารรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ 2. สารพิษที่ตกค้างยาวนาน 3. สารพิษที่ตกค้างยาวนานมากและสามารถสะสมในสิ่งมีชีวิต 4. เกณฑ์เฉพาะสำหรับสารที่มีความเป็นพิษต่อภูมิคุ้มกันและระบบประสาทซึ่งเป็นพิษต่ออวัยวะและระบบสืบพันธุ์ และ 5. ความเป็นพิษต่อระบบนิเวศน์ทางบก
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการยุโรป ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อการปรับปรุงกฎระเบียบ CLP ระหว่างวันที่ 9 สิงหาคม–15 พฤศจิกายน 2564 และมีแผนเสนอกฎระเบียบ CLP ที่ได้ปรับปรุงแล้วช่วงไตรมาส 4 /2564
นายธัชชญาน์พล กล่าวว่า ปัจจุบัน ไทยส่งออกสินค้ากลุ่มเคมีภัณฑ์ไป EU เฉลี่ยปีละ 8,904.82 ล้านบาท ปี 2560-63 คิดเป็นร้อยละ 1 ของการส่งออกสินค้าทุกประเภทไปยัง EU โดยการส่งออกสินค้ากลุ่มเคมีภัณฑ์ไป EU ในช่วง 7 เดือนปี 2564 มีมูลค่า 5,372.75 ล้านบาท โดยปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 44
“ ผู้ส่งออกไทยจึงควรเตรียมความพร้อมเพื่อศึกษาและปฏิบัติตามกฎระเบียบ CLP ฉบับปรับปรุงใหม่นี้ เพื่อให้สามารถส่งออกได้โดยไม่เป็นอุปสรรคทางการค้า “นายธัชชญาน์พล กล่าว