นายตฤณวรรธน์ ธนิตนิธิพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อินเตอร์ ฟาร์มา (IP) เปิดเผยว่า บริษัทปรับเป้ารายได้ปีนี้เป็น 850-900 ล้านบาท จากเดิมตั้งไว้ที่ 750-800 ล้านบาท โดยช่วงครึ่งปีแรกสามารถสร้างรายได้ไปแล้วที่ 374 ล้านบาท และในช่วงครึ่งปีหลังยังคงเดินหน้าออกสินค้าใหม่อย่างต่อเนื่องในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ รวมถึงขยายช่องทางการจำหน่าย และขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศมากขึ้น เพื่อเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ให้บริษัท
โดยสัดส่วนรายได้ในปัจจุบันแบ่งตามผลิตภัณฑ์ จะมีทั้งหมด 5 ประเภทได้แก่ ผลิตภัณฑ์รักษาสุขภาพและชะลอวัย (Wellness & Anti-Aging Nutraceuticals) 159 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์ดูแลและส่งเสริมสุขภาพของสัตว์เลี้ยง (Companion Animal Healthcare) 111 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์รักษาโรค (Pharmaceutical Innovation) 64 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์สำหรับปศุสัตว์ (Livestock Animal Healthcare) 34 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์นวัตกรรมความงาม (Cosmeceuticals & Aesthetic Innovation) 4 ล้านบาท
ในปีนี้และปีต่อๆ ไปเรายังคงเดินหน้าออกสินค้าใหม่ในทั้ง 5 กลุ่มผลิตภัณฑ์ เช่น ในไตรมาส 3/64 นี้ก็มีการออกผลิตภัณฑ์คอลลาเจนตัวใหม่ที่สกัดจากปลาทะเล และเรายังขยายช่องทางในการจำหน่ายทั้งในสินค้าคนและสัตว์อีกด้วย ไม่ว่าจะขยายไปยังโรงพยาบาล คลินิก หรือร้านขายยา รวมทั้งช่องทางออนไลน์อีก และตอนนี้เรายังขยายการส่งสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศมากขึ้น ทั้งในกัมพูชา พม่า ลาว ส่วนเวียดนามกำลังรอขึ้นทะเบียน และเราวางแผนจะส่งออกไปยังตลาดฮ่องกงและจีนเช่นกัน นายตฤณวรรธน์ กล่าวและเสริมว่า
และในช่วงครึ่งปีหลังนี้บริษัทจะมีรายได้จากการรับจ้างผลิตสินค้าเข้ามาเสริมจากการเข้าไปซื้อโรงงานของบริษัท เทวาฟาร์มา (ประเทศไทย) ขนาด 20 ไร่ ในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งทางเทวาฟาร์มาได้จ้างให้บริษัทผลิตยาให้เป็นระยะเวลา 3-5 ปี ซึ่งจะเริ่มรับรู้รายได้ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ รวมไปถึงยังมีบริษัทอื่นๆ ที่เข้ามาจ้างให้บริษัทผลิตสินค้าให้อีกเช่นกัน โดยเริ่มมีลูกค้ารายแรกที่เข้ามาว่าจ้างแล้วราว 20 ล้านบาท และคาดว่าจะมีลูกค้าทยอยเข้ามาเพิ่มอีกในอนาคต
ทางด้านการวิจัย พัฒนา และต่อยอดผลิตภัณฑ์กัญชงร่วมกับทาง บมจ.อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย (RBF) นั้น คาดว่าทาง RBF จะเริ่มส่งมอบสารสกัดกัญชงให้บริษัทได้ในเดือน ก.พ.65 และคาดว่าจะสามารถจำหน่ายสินค้าประเภทดังกล่าวได้ในไตรมาส 1/65 และการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยและพัฒนากระท่อม ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ยังคงอยู่ระหว่างการพัฒนาแปลงต้นแบบ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีที่สุด ซึ่งคาดว่าจะสามารถจำหน่ายสินค้าที่มีส่วนผสมของกระท่อมได้ในปี 65 เช่นกัน
นายตฤณวรรธน์ กล่าวว่า การวิจัยและพัฒนา และการทำการขายและการตลาดอุปกรณ์และผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ทำจากพลาสติก ร่วมกับทางปัญจวัฒนาพลาสติก (PJW) ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาสินค้าเพื่อให้ได้มาตรฐานที่ดีที่สุด และยังคงมองเห็นตลาดการเติบโตของเครื่องมือแพทย์ที่มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงแพร่ระบาดโควิด-19 โดยคาดว่าจะสามารถเห็นความชัดเจนของผลิตภัณฑ์ได้ช่วง H2/65
ที่มา: https://mgronline.com/stockmarket/detail/9640000091888