BGC รุกสร้างเตาหลอมแก้วใหม่ เพิ่มกำลังผลิต และขยายลงทุนถุงบรรจุภัณฑ์

BGC เปิดแผนครึ่งปีหลัง เร่งก่อสร้างเตาหลอมแก้วแห่งใหม่ในราชบุรี และลงทุนขยายกำลังการผลิตปราจีนบุรีรวม 440 ตันต่อวัน ดันกำลังการผลิตรวมเพิ่มเป็นเกือบ 4,000 ตันต่อวัน พร้อมเดินหน้าลงทุนขยายกำลังการผลิต ‘ถุงบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อน’ สูงสุด 50 ล้านเมตรต่อปี

นายศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) (BGC) เปิดเผยว่า แผนการดำเนินธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลัง บริษัทมุ่งเน้นการเร่งลงทุนก่อสร้างเตาหลอมแก้วแห่งใหม่ภายในโรงงานจังหวัดราชบุรี และลงทุนขยายกำลังการผลิตในโรงงานจังหวัดปราจีนบุรีหลังได้รับการอนุมัติแผนลงทุนจากคณะกรรมการบริษัทเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อขยายกำลังการผลิตรวมเพิ่มขึ้นอีก 440 ตันต่อวัน ใช้งบลงทุนรวม 2,500 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม โรงงานดังกล่าวจะใช้เทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ สามารถควบคุมอุณหภูมิและต้นทุนด้านพลังงานได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งมีความยืดหยุ่นในการผลิตสูง เพื่อรองรับความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์แก้วจากลูกค้าทั้งในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มเติบโตสูงในอนาคต คาดว่าจะใช้ระยะเวลาก่อสร้างจนแล้วเสร็จอีกประมาณ 18 เดือน ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทมีกำลังการผลิตรวมทุกโรงงานเพิ่มขึ้นจาก3,495 ตันต่อวัน เป็น 3,935 ตันต่อวัน ครองส่วนแบ่งการตลาดผู้นำด้านการผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วในประเทศ

นอกจากนี้ ยังใช้งบลงทุน 176 ล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิตถุงบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อน สูงสุด 50 ล้านเมตรต่อปี ผ่านบริษัท บีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (BGP) ที่เป็นบริษัทย่อย หลังได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทเป็นที่เรียบร้อย เพื่อตอบสนองความต้องการในประเทศที่มีอัตราการเติบโตสูงและรุกขยายฐานลูกค้าในอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงเป็นการสร้างโอกาสต่อยอดรุกเข้าสู่ธุรกิจกลางน้ำเพื่อผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อน (Flexible Packaging) รองรับเป้าหมายการเติบโตของกลุ่มบรรจุภัณฑ์ในอนาคต คาดว่าจะเริ่มการลงทุนก่อสร้างในไตรมาส 1 ปี 2565 และผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายในไตรมาส 1 ปี 2566

ขณะเดียวกัน จะมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต้นทุนเพื่อรับมือราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นโดยได้นำเทคโนโลยีด้านซอฟท์แวร์ที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในกระบวนการควบคุมการปล่อยพลังงานภายในเตาหลอมแก้ว เพื่อทำให้การควบคุมระดับอุณหภูมิมีความเสถียรมากยิ่งขึ้น การปรับสูตรการผลิตและสัดส่วนวัตถุดิบ เช่น เศษแก้วให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม รวมถึงเลือกใช้เชื้อเพลิงพลังงานทางเลือก เช่นน้ำมันเตา น้ำมันฟีนอล ที่มีผลกระทบด้านราคาต่ำกว่าแก๊สธรรมชาติ ส่งผลต่ออัตรากำไรที่เพิ่มมากขึ้นรวมถึงการลงทุนในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีความสามารถในการแข่งขัน และนำพาให้บริษัทฯเป็นผู้นำในธุรกิจบรรจุภัณฑ์ระดับสากล เพื่อปูพื้นฐานไปสู่การแข่งขันเชิงรุก

สำหรับแผนการดำเนินงานครึ่งปีหลัง วางเป้าหมายรักษาการเติบโตในระดับเดียวกับช่วงครึ่งปีแรกและเติบโตใกล้เคียงกับช่วงก่อนสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในปี 2562 โดยคาดว่าความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์จะได้รับผลกระทบชั่วคราวจากการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ หากมีการผ่อนคลายมาตรการดังกล่าวและมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง มั่นใจว่าดีมานด์ด้านบรรจุภัณฑ์จะกลับมาเติบโตอย่างรวดเร็ว

ขณะที่ ตลาดต่างประเทศคาดว่าจะเติบโตได้ดี โดยวางเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนรายได้ส่งออกในปี 2564 เป็น 10% ของรายได้รวม โดยเฉพาะตลาดสหรัฐที่มีแนวโน้มที่ดีจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ คาดว่ายอดขายในปีนี้จะมีการเติบโตทั้งจากธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้วและจากการควบรวมกิจการ ในบริษัท บีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (BGP) และบริษัท บางกอกบรรจุภัณฑ์ จำกัด (BVP) ซึ่งมียอดขายในปีนี้รวมประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยเริ่มรับรู้รายได้ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา

 

ที่มา: https://www.thansettakij.com/money_market/492314 

วันที่ 23 สิงหาคม 2564