"TIPMSE” ปลดล็อกกฏหมาย "EPR" ปูทางเรียกคืนบรรจุภัณฑ์สู่วงจรรีไซเคิล

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท. ได้ดำเนินการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต ครอบคลุมตลอดทั้งวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ หรือ Extended Producer Responsibility : EPR

ทั้งนี้ เพื่อมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรเกิดประโยชน์สูงสุด นำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ สร้างวงจรการใช้ทรัพยากรที่ยั่งยืน ลดปล่อยคาร์บอนสู่เป้าหมาย Net Zero โดยได้ดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชนผ่านกิจกรรม PackBack in Action ปี 3 รวมพลังเดินหน้า : The Drive for EPR in Thailand

โดยมองว่าผู้ประกอบการไทยไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ หรือ SMEs ต้องมีความตื่นตัว เนื่องจากหลายมาตรการในต่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อการส่งออก รวมถึงหาก พ.ร.บ.การจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนประกาศใช้ ทุกบริษัทก็จะต้องเข้าร่วมและดำเนินการตาม

สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) ได้ประสานกับเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ในการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ภาคบังคับ โดยคาดว่าจะเริ่มประกาศเป็นกฎหมายบังคับใช้ในปี 2570”

นายโฆษิต สุขสิงห์ รองประธาน ส.อ.ท. และประธานสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรึไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) กล่าวว่า ที่ผ่านมา TIPMSE ทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการเตรียมความพร้อม ทั้งในแง่ของการให้ความเห็นต่อการพัฒนาร่างกฎหมาย EPR

การพัฒนามาตรการจูงใจ การพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อรองรับระบบ EPR การส่งเสริมการออกแบบตามหลักการการออกแบบเพื่อการรีไซเคิล (Design-for- recycling หรือ D4R) การสื่อสารเพื่อกระตุ้นให้เกิดการดำเนินการ (Call to Action) ในห่วงโซ่ความรับผิดชอบ และการนำหลักการ EPR มาสู่การทดลองทั้งโมเดลเก็บกลับในพื้นที่เป้าหมายในโครงการ Pack Back จังหวัดชลบุรี

โดยนำร่องใน 3 เทศบาล ประกอบด้วยเทศบาลเมืองแสนสุข เทศบาลเมืองบ้านบึง และเทศบาลตำบลเกาะสีชัง และจะขยายไปอีก 9 เทศบาลในปี 2567 เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบเก็บขนของท้องถิ่น และยกระดับสู่การออกเทศบัญญัติหรือข้อบัญญัติท้องถิ่น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดต้นแบบการสนับสนุนท้องถิ่นที่แตกต่างกันตามบริบทของพื้นที่ซึ่งความท้าทาย อยู่ที่การทำอย่างไรให้ทั้งผู้ผลิตรายใหญ่ รายกลาง และรายเล็กเข้าใจและเข้าร่วมเพื่อเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับ EPR ภาคบังคับในอนาคตได้

สำหรับการพัฒนากลไก EPR โดยใช้ระบบภาคการผลิต จะเป็นเครื่องมือและกลยุทธ์ที่สำคัญในการเดินหน้าสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน หรือซัลเฟอร์ไดออกไซด์ อย่างมีนัยสำคัญ ภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ สอดรับนโยบายภาครัฐในการนำโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า BCG (Bio-Circular-Green Economy) หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว

ซึ่งนำจุดแข็งของประเทศไทยมาพัฒนา โดยเฉพาะการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy หรือ CE) มาเป็นแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นความยั่งยืน ซึ่งภาคอุตสาหกรรมกำลังนำมาพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ภายใต้กฎเกณฑ์การค้าโลกใหม่ที่คำนึงถึงปัญหาโลกร้อนซึ่งเป็นภาวการณ์ที่ทุกประเทศต่างให้ความสำคัญ

การเกิดระบบ EPR ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นกลไกในการจัดการอย่างเป็นระบบครบวงจร เนื่องจากกฎหมายขยะปัจจุบันยังมีช่องโหว่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่เพียงเก็บขนกำจัดอย่างเดียว แต่ไม่มีบทบัญญัติเรื่องการคัดแยกและรีไซเคิล การประกาศ EPR เป็นกฎหมายบังคับใช้ในปี 2570 นี้ จึงเป็นเหมือนสัญญาณให้ทุกภาคส่วนเตรียมความพร้อมในการนำบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ที่มา: https://www.thansettakij.com/climatecenter/net-zero/608398 

วันที่ 05 ตุลาคม 2567