หากนับถอยหลัง “กติกาโลก” หรือกฎหมายเกี่ยวกับการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะบังคับใช้ในยุโรปอย่างจริงจังใน 1-2 ปีข้างหน้า เช่น การบังคับใช้กฎระเบียบเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ และขยะบรรจุภัณฑ์ (PPWR) รวมถึงมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) เป็นต้น จากแรงกดดันดังกล่าว ภาคธุรกิจไทยต้องเตรียมตัวให้พร้อม และ “เต็ดตรา แพ้ค” ผู้นำด้านโซลูชันการแปรรูปและบรรจุภัณฑ์ อาหารชั้นนำของโลก จึงชูประเด็น “ธุรกิจที่พร้อมสำหรับอนาคตด้วยโซลูชันด้านความยั่งยืนจากเต็ดตรา แพ้ค” เพื่อให้ข้อมูลเชิงลึกแก่ลูกค้า
แพรพร อมรภาณุพันธ์ ผู้อำนวยการกลุ่มผลิตภัณฑ์ด้านบรรจุภัณฑ์ และ ปฏิญญา ศิลสุภดล ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืน บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมฉายภาพว่า เทรนด์ความยั่งยืนเป็นข้อกำหนดที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย ทว่า หากมองภาพใหญ่ สหภาพยุโรปหรืออียู ถือเป็นหนึ่งในผู้นำที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงด้านความยั่งยืนหลายมิติ ที่สำคัญคือการออกกฎเหล็ก กติกาต่างๆ ที่จะส่งผลต่อภาคธุรกิจไทย ในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปจำหน่ายในตลาดดังกล่าว
สำหรับกติกาที่จะบังคับใช้ในเร็วนี้ ได้แก่ กฎระเบียบเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ และขยะบรรจุภัณฑ์ (PPWR) ที่ออกมาเพื่อป้องกันปัญหาขยะพลาสติก และ “ปริมาณขยะบรรจุภัณฑ์”หรือแพ็กเกจจิ้ง จึงมีข้อกำหนดสำคัญ 4 ด้าน ประกอบด้วย 1.การลดใช้บรรจุภัณฑ์ที่ไม่จำเป็น 2.การออกแบบแพ็กเกจจิ้งต้องตระหนักเรื่องใช้ซ้ำ 3.เอื้อต่อการนำกลับมาใช้ใหม่ และ4.ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
“PPWR ออกมาเพื่อลดการใช้บรรจุภัณฑ์และลดปริมาณขยะพลาสติกภายในภูมิภาคยุโรป”
นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ Climate change ซึ่งเป็นประเด็นร้อนแรงยังมาก กฎหมายจึงมีผลต่อการมุ่งสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และขับเคลื่อนความยั่งยืนสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และเน็ตซีโร่ต่อไป
ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคธุรกิจ ในส่วนของการผลิต คือ ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปรับตัวใช้พลังงานสะอาด และหากองค์กรไม่สามารถทำได้ตามข้อกำหนดโลก จะต้องมีการซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชย
“กฎหมายเกี่ยวกับความยั่งยืน การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเริ่มบังคับใช้ในยุโรปแล้ว อย่างการเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนก่อนสินค้าจะเข้าไปขายในประเทศยุโรปหรือ CBAM มีการทดลองใช้ระยะเริ่มต้นแล้ว คาดอีก 1-2 ปีจะบังคับใช้เต็มรูปแบบ ส่วน PPWR ยุโปรได้ลงนามแล้วเพื่อออกกติกาการใช้บรรจุภัณฑ์รีไซเคิล บรรจุภัณฑ์ทุกชนิดที่เข้าในยุโรปต้องมีมาตรฐานหรือเกรดต่างๆ ตั้งแต่ A ไปถึง C หากต่ำกว่า C จะเข้าไปค้าขายไม่ได้ และมีการกำหนดให้บรรจุภัณฑ์ต้องมีส่วนประกอบจากวัสดุรีไซเคิล 30% ในปี 2563 และเพิ่มเป็น 65% ในปี 2569 เป็นต้น”
ขณะที่ประเทศไทย ภาครัฐเดินหน้าออกกฎหมายให้ล้อกับกติกาการค้าโลก ทั้งมีแผนปฏิบัติการแห่งชาติฉบับที่ 2 เกี่ยวกับแผนงานขยะพลาสติก2565-2570 มีการพัฒนาร่างพระราชบัญญัติการจัดการบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน โดยอิงตามหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (EPR) ซึ่งคาดว่าจะเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ภายในสิ้นปีนี้ และคาดว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายใน 2 ปี เพื่อบังคับใช้ในปี 2570
นอกจากกรอบการค้าโลก กฎหมายที่จะบังคับใช้ในไทย “ผู้บริโภค” ยังเป็นอีกตัวแปรที่ทำให้ธุรกิจต้องมุ่งด้านความยั่งยืน โดยข้อมูลจาก NielsenIQ ระบุว่า 74% ของผู้บริโภคในประเทศไทยให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น เทียบกับ 2 ปีที่ผ่านมา
“ปัจจัยต่างๆ แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นอย่างยิ่งที่ธุรกิจอาหาร และเครื่องดื่ม ในการเคลื่อนธุรกิจรับความยั่งยืนของประเทศ ผ่านการปรับโครงสร้างการทำงาน หาโซลูชันที่เหมาะสม เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และยั่งยืนเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงด้วย”
สำหรับเต็ดตรา แพ้ค มีลูกค้าในประเทศไทย “หลายร้อยราย” กลุ่มใหญ่ยังเป็น “เครื่องดื่ม และอาหาร” เช่น ผลิตภัณฑ์นม น้ำผลไม้ กาแฟ ชา และกะทิ ฯ สัดส่วนมากกว่า 90% ปัจจุบันลูกค้าตื่นตัว เพื่อใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ส่งออกไปยังตลาดยุโรป
“องค์กรธุรกิจควรเตรียมพร้อม จัดเก็บข้อมูล สร้างศักยภาพใหม่ๆ เพื่อให้รู้ เข้าใจกติกาการค้าโลก กระบวนการผลิตสินค้าต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเลือกใช้แพ็กเกจจิ้งให้เหมาะสม และควรดูแลทั้งห่วงโซ่ ตั้งแต่เลือกใช้วัสดุ การขนส่ง การจัดจำหน่าย ฯ กับสินค้าใหม่ที่กำลังพัฒนา และสินค้าเดิมที่ทำตลาด”
ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/business/business/1146730