GC ร่วมมือกับ Cargill ลงทุน 2 หมื่นล้านบาทสร้างโรงงานพลาสติกชีวภาพแบบครบวงจรแห่งใหม่ในประเทศไทยหนุน BCG Economy
นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC เปิดเผยว่า บริษัท GC International Corporation บริษัทย่อยของ GC ได้ดำเนินการร่วมกับบริษัท Cargill Incorporated (Cargill) ในฐานะผู้ถือหุ้นสัดส่วน 50% ในบริษัท NatureWorks LLC (NatureWorks) สร้างโรงงานพลาสติกชีวภาพแบบครบวงจรแห่งใหม่ในประเทศไทย ตอบสนองความต้องการใช้วัสดุที่ยั่งยืนให้ตลาดโลก ภายหลังได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวนับเป็นหนึ่งในโครงการที่สนับสนุนโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ BCG Economy Model (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด ยกระดับความสามารถในการแข่งขัน และขับเคลื่อนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (SDGs) ตามเป้าหมายที่วางไว้
บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจตามแนวทางความยั่งยืนและหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อสร้างสมดุลและการเติบโตไปข้างหน้าร่วมกัน ทั้งในมิติของเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม โดยขับเคลื่อนบนกรอบของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (SDGs) โดย GC และ Cargill พร้อมเดินหน้าขยายการลงทุนในธุรกิจเคมีภัณฑ์ชีวภาพเพื่อสิ่งแวดล้อม หลังจากที่ BOI ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนให้กับ NatureWorks
สำหรับโรงงานพลาสติกชีวภาพแบบครบวงจรแห่งใหม่นี้ ใช้เทคโนโลยีพลาสติกชีวภาพอันดับหนึ่งของโลกและใช้น้ำตาลจากอ้อยจากเกษตรกรในประเทศไทยเป็นวัตถุดิบ ซึ่งจะช่วยขยายฐานพันธมิตรในตลาด Bio-Polymer รวมถึงการผลิตและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการด้านการใช้วัสดุที่ยั่งยืน โครงการนี้มีมูลค่าการลงทุนมากกว่า 20,000 ล้านบาท โดยโรงงานจะตั้งอยู่ที่นครสวรรค์ไบโอ คอมเพล็กซ์ (NBC) จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นโครงการแห่งแรกของประเทศไทยที่สอดคล้องกับโมเดล BCG Economy ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันและขยายโอกาสทางการค้าร่วมกับพันธมิตรต่าง ๆ ในเวทีโลก และสนับสนุนให้ประเทศไทยมีเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ
นางสาว คอลลีน เมย์ President บริษัท Cargill’s Bioindustrial Group กล่าวว่า การลงทุนในครั้งนี้นับเป็นการตอกย้ำที่สำคัญถึงความพยายามอย่างต่อเนื่องในการลงทุนเพื่อพัฒนาโซลูชันที่ยั่งยืนสำหรับลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมชีวภาพทั่วโลก โดยโรงงานดังกล่าวเป็นโรงงานพลาสติกชีวภาพโพลีแลคติก แอซิด (Polylactic Acid : PLA) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แห่งที่ 2 ภายใต้ชื่อทางการค้า Ingeo™ และส่งเสริมการต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มกับวัตถุดิบทางการเกษตรของประเทศไทย ตอบสนองการขยายตัวของตลาด ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายใน ปี 2567
Ingeo™ PLA เป็นโพลิเมอร์ชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ มีคาร์บอนฟุตปริ้นท์ต่ำ สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลายประเภท เช่น นำไปผลิตเป็นถุงชา แคปซูลกาแฟ บรรจุภัณฑ์อาหาร เส้นใยใช้ในงานพิมพ์ชิ้นงานสามมิติ เส้นใยที่นำมาใช้ผลิตผ้าอ้อม ผ้าเช็ดทำความสะอาด หน้ากากอนามัย รวมถึงอุปกรณ์ใช้ภายในบ้าน เป็นต้น โดยโรงงานนี้จะใช้น้ำตาลจากอ้อยจากเกษตรกรในประเทศไทยเป็นวัตถุดิบ ปีละประมาณ 110,000 ตัน นำไปผลิตเป็นกรดแลคติก (Lactic Acid) แลคไทด์ (Lactide) และโพลิเมอร์ (Polymer) จนได้เป็นโพลิแลคไทด์ (Polylactide) ส่งผลให้โรงงานนี้เป็นโรงงานผลิตโพลิแลคไทด์แบบครบวงจรแห่งแรกของโลก โดยมีกำลังการผลิตโพลิเมอร์ชีวภาพอยู่ที่ 75,000 ตันต่อปี นับว่าโรงงานนี้เป็นโรงงานแห่งแรกของโลกที่ออกแบบมาให้บูรณาการร่วมกันอย่างสมบูรณ์ ด้วยกระบวนการผลิตและการใช้พลังงานที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับพลาสติกชีวภาพ Ingeo™ ทำให้สามารถตอบสนองความต้องการสำหรับวัสดุที่ยั่งยืนให้กับตลาดโลก