•ทีดีอาร์ไอ สะท้อนวิธีการลด-งดถุงพลาสติกประเทศไทย ตอบโจทย์โลก คืบหน้าช้า เพราะมาตรการไม้แข็งไม่แข็งแรง
•ปีนี้หลายภาคส่วนจับมือ ใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน แก้ปัญหาขยะพลาสติกใช้แล้วทิ้ง ผ่านหลายแคมเปญหลายโอกาส ถือว่ามาถูกทาง
•ชวนส่องโครงการ แพลตฟอร์ม รณรงค์คัดแยก ต่ออายุขยะ “ไม่เทรวม” “วน” กำลังทำอะไร
โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งองค์การสหประชาชาติ United Nations Environment Program (UNEP) ประกาศแนวคิดธีม Planet VS Plastics: ลดพลาสติก กู้วิกฤติโลกเดือด
เมื่อวันคุ้มครองโลกที่ผ่านมา (22 เม.ย.67) พร้อมคาดหวังให้แต่ละประเทศรวบรวมปริมาณพลาสติก ที่เก็บรวบรวมได้นำมาคำนวณในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก อีกทั้งได้มีการกำหนดเป้าหมายในการลดการใช้พลาสติกจากกระบวนการผลิต ร้อยละ 60 ภายในปี ค.ศ. 2040 รวมถึงส่งเสริมให้มีการลงทุนในเทคโนโลยีและวัสดุที่เป็นนวัตกรรมเพื่อทดแทนพลาสติกทำให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมไทย ออกมาร่วมแสดงพลังความร่วมมือในการลดใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง และนำมาสู่แนวคิด 4 ป.เพื่อลดปัญหาขยะพลาสติกที่ประชาชนสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างคุ้มค่าที่สุด คือ ปฏิเสธ พลาสติกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ปรับ พฤติกรรมใช้พลาสติกให้คุ้มค่าที่สุด เปลี่ยนไปใช้บรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติ แปลงร่างเพิ่มมูลค่าให้กับขยะพลาสติก (ผ่านกระบวนการ Recycle หรือ Upcycling) เพื่อให้มีการใช้พลาสติกอย่างคุ้มค่า
ต่อมาเมื่อวันปลอดถุงพลาสติกสากล International Plastic Bag Free Day 2024 (3 ก.ค.67) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับเครือข่ายภาคเอกชน กลุ่มผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ร้านสะดวกซื้อ ผู้ประกอบการร้านกาแฟที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเครือข่ายสมาคม จำนวน 45 หน่วยงาน รวมกว่า 31,000 สาขาทั่วประเทศ ร่วมประกาศเจตนารมณ์ ใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ ยกระดับสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ตอกย้ำ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 ซึ่งมีเป้าหมายในการลดและเลิกใช้พลาสติกด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการนำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ 100% ภายในปี พ.ศ. 2570 อีกครั้ง
กิจกรรมรณรงค์ นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายความร่วมมือที่สำคัญ 3 ประการ
1.ร่วมกันส่งเสริมการลด หรือเลิก การใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง 3 ประเภท ได้แก่ “ถุงพลาสติกหูหิ้วชนิดบางหรือถุงก๊อบแก๊บ” “ถ้วยหรือแก้วพลาสติก” และ “หลอดพลาสติก”
2.สนับสนุนให้มีการรวบรวมผลิตภัณฑ์พลาสติกเป้าหมายเข้าสู่ระบบรีไซเคิล ร้อยละ 100 ภายในปี พ.ศ. 2570
3.สร้างความรู้ความเข้าใจ รณรงค์ให้กับผู้ประกอบการและผู้บริโภค ลดปริมาณขยะที่ต้นทาง สนับสนุนการผลิต การบริการ และการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ทั้งสองโอกาสที่กล่าวข้างต้นเป็นกิจกรรมรณรงค์ ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเนื่องในโอกาสวันสำคัญเพื่อขับเคลื่อนมุ่งสู่เป้าหมาย Thailand Net Zero 2065 ซึ่งในปีนี้มีความก้าวหน้ามากกว่าที่ผ่านมา เนื่องจากภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคมเข้ามาร่วมมือคึกคักกว่าทุกปี
ประเทศที่ประสบผล ต้องใช้ไม้แข็งร่วม
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า“ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในแชมป์ขยะทะเล ขยะส่วนใหญ่เป็นพลาสติกในรูปแบบต่างๆ การป้องกันและแก้ไขต้องทำเป็นวาระแห่งชาติ แต่ที่ผ่านมามาตรการที่ใช้ยังไม่มีประสิทธิผล เพราะเป็นไม้อ่อน ซึ่งในต่างประเทศจากผลศึกษาพบว่า การใช้มาตรการเชิงสมัครใจลดขยะพลาสติกมีประโยชน์จริงแต่ขาดประสิทธิภาพ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาภาคเอกชนในสาขาค้าปลีกเคยรณรงค์งดใช้ถุงพลาสติกทุกวันที่ 4 ของเดือน เป็นสัดส่วนที่น้อยเกินไป และมีไม่กี่รายกล้าเก็บเงินจากผู้บริโภค เพราะกลัวผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปใช้ผู้บริการผู้ค้าปลีกรายอื่นบางรายแถมแต้ม ซึ่งต่อมามาตรการนี้ก็เหมือนลดความเข้มข้น ก็เป็นข้อพิสูจน์ว่ามาตรการสมัครใจทำแล้วประชาชนตื่นตัวมากขึ้นก็จริง แต่สิ่งสำคัญกว่าพวกเขาต้องทำอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน รัฐควรออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาขยะหนุนเสริม ดร.สมเกียรติ กล่าว
ประธาน TDRI ยกผลศึกษาหลายประเทศที่ก้าวหน้าในการลดปริมาณขยะพลาสติก เพราะใช้ไม้แข็ง อย่างประเทศอังกฤษเก็บเงินค่าใช้ถุงพลาสติกใบละ 2 บาท นิวซีแลนด์ออกกฎหมายห้ามใช้ถุงพลาสติกครั้งเดียวทิ้ง และอีกหลายประเทศทดลองห้ามใช้ หรือเก็บเงิน เมื่อท้องถิ่นใดประกาศห้ามใช้ ซึ่งเป็นมาตรการรุนแรง เมื่อฝืนใจใช้แล้วมักประสบผลสำเร็จเพราะสามารถแก้ปัญหาต้นทาง ไม่สร้างขยะใหม่เพิ่ม และหาทางกลับมาใช้ใหม่ โดยการรีไซเคิลแยกส่วน หรือนำมาเผาผลิตพลังงาน และทำให้การฝังกลบลดลง ทั้งหมดเป็นแนวทางจัดการขยะครบวงจร แต่สำคัญที่สุดไม่สร้างขยะเพิ่มขึ้น ซึ่งแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาจากการลดการผลิตขยะต่างๆ ไม่ใช่สร้างเตาเผาหรือบ่อฝังกลบกำจัดขยะ แต่จะต้องลดขยะตั้งแต่ต้นทางซึ่งไม่ทำให้เกิดขยะเพิ่มขึ้น
“กรณีไทยต้องใช้หลายมาตรการผสมกัน ไม้แข็ง อย่างที่เสนอเลิกใช้กล่องโฟมใส่อาหาร เพราะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาก โฟมย่อยสลายยาก เสี่ยงต่อสุขภาพ สารเคมีปนเปื้อนสู่ร่างกายผู้บริโภค อันนี้ประสบผลเพราะคนส่วนใหญ่มองเห็นภาพอันตรายต่อสุขภาพจริง ส่วนกรณีถุงพลาสติกใช้แล้วทิ้ง ต้องเก็บเงินใช้ถุงพลาสติก เริ่มในราคา 1.50-2 บาท ถือเป็นราคาเหมาะสมที่กรมควบคุมมลพิษศึกษาไว้ เริ่มจากโมเดิร์นเทรด หรือการค้าปลีกสมัยใหม่ก่อน เช่น ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ มินิมาร์ท เพราะมีปริมาณการใช้ถุงพลาสติกมากกว่าตลาดสดหรือร้านค้าทั่วไป อีกทั้งติดตามผลก็ง่ายกว่าในระยะเริ่มต้นเพื่อให้ประชาชนปรับตัว ตอนนี้เห็นหลายห้างนำมาใช้แล้ว แต่หลายแห่งก็เห็นว่ากลับมาแจกฟรีอีก ส่วนการลดขวดพลาสติกควรใช้กลไกให้มัดจำค่าขวด เป็นต้น ดร.สมเกียรติกล่าว
ประธาน TDRI ย้ำว่า มาตรการจากรัฐอย่างเดียวไม่เป็นผลหากไม่มีการรณรงค์ลดขยะตั้งแต่ต้นทางกับประชาชนคัดแยกขยะ ซึ่งกลไกแยกขยะของท้องถิ่นต้องมีประสิทธิผล อย่างที่ตอนนี้ กทม.รณรงค์ “ไม่เทรวม” มีธนาคารขยะ เข้าไปร่วมรณรงค์กับภาคส่วนธุรกิจต่างๆ กรณีที่ผู้บริโภคเก็บของรีไซเคิลมีรางวัลจูงใจ ลดบรรจุภัณฑ์ที่มากเกินไป นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมและนักวิจัยต้องร่วมกันหาวัสดุใหม่แทนถุงพลาสติก เบื้องต้นอาจเป็นต้นทุน แต่เมื่อเกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ก็จะเป็นโอกาสทางธุรกิจ
ขยะพลาสติกยังเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรงของประเทศไทย ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ ควรต้องใช้ทั้งไม้อ่อนและไม้แข็ง เพื่อให้สิ่งที่รัฐประกาศว่าขยะเป็นวาระแห่งชาติบรรลุผลลัพธ์อย่างแท้จริง”
จากข้อมูลสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รายงานว่าประเทศไทยมีขยะพลาสติกประมาณร้อยละ 12 ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด หรือประมาณปีละ 2 ล้านตัน แต่มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์ประมาณปีละ 0.5 ล้านตัน (ร้อยละ 25) ส่วนที่เหลือ 1.5 ล้านตัน (ร้อยละ 75) พบว่าส่วนใหญ่เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-use plastics) อาทิ ถุงร้อน ถุงเย็น ถุงหูหิ้ว แก้วพลาสติก หลอดพลาสติก กล่องโฟมบรรจุอาหาร ซึ่งไม่มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ และถูกทิ้งเป็นขยะมูลฝอยในปริมาณและสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ปัญหาขยะพลาสติกที่ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม มักเกิดจากผู้บริโภคไม่ได้คัดแยกขยะมูลฝอยก่อนทิ้ง เนื่องจากไม่มีความเข้าใจในการรีไซเคิล และมีการกำจัดที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ขยะพลาสติกถูกนำไปฝังกลบรวมกับขยะมูลฝอยอื่นๆ
ตั้งแต่เดินหน้าโครงการ “ไม่เทรวม” กรุงเทพมหานคร รณรงค์ให้ชาวกทม.คัดแยกขยะง่ายๆ ก่อนทิ้ง เพียงแยกขยะออกเป็นสองส่วน คือ ขยะเปียก และขยะแห้ง เพื่อให้เจ้าหน้าที่นำไปคัดแยกและส่งต่อได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นการต่ออายุขยะ เพราะจะมีขยะพลาสติกจำนวนมากที่นำกลับไปรีไซเคิลได้
ล่าสุด (6 ก.ค.67) กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ร่วมกับเครือข่ายสังคมลดขยะ Less Plastic Thailand ภาคีเครือข่ายโครงการมือวิเศษกรุงเทพ N 15 Technology , Wake up Waste , Waste buy Delivery , Recycle Day , Bangkaya(บางขยะ) , Ecolife , shinMaywa , Food Bank จากสำนักพัฒนาสังคม และสำนักงานเขตดินแดง จัดกิจกรรมประเภท Drive Thru ขับรถเอาขยะ/ของเก่า/ของเหลือใช้มาทิ้งให้กับภาคีเพื่อนำไปจัดการต่ออย่างถูกวิธี เพื่อจะได้ลดขยะที่ไปฝังกลบ ณ ศาลาว่าการ กทม. (ดินแดง) โดยให้ผู้เข้าร่วมงานสามารถลงทะเบียนเป็น บ้านนี้ไม่เทรวม เพื่อรับป้ายที่ระลึกบ่งชี้เป็นบ้านที่แยกขยะ พร้อมรับถุงขยะฟรี
โครงการ “วน” แนะวิธีวนใช้พลาสติกอย่างคุ้มค่า
โครงการ “วน” (Won Project) เริ่มมาตั้งแต่ปี 2561 ต้องการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุที่ผ่านการใช้งานแล้วอย่างพลาสติกชนิดอ่อน (ถุงและฟิล์มพลาสติก) ประเภท HDPE/LDPE ที่ยืด สะอาดและแห้ง กลับมา Recycle หรือ Upcycle เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทำให้พลาสติกหมุน “วน” เป็นวงจรอย่างต่อเนื่อง ตามหลัก Circular Economy ไม่ให้พลาสติกรั่วไหลออกสู่สิ่งแวดล้อมหรือจบลงที่บ่อขยะ
นอกจากตั้งจุดวาง “ถังวนถุง” กว่า 350 จุด ให้ประชาชนได้นำถุงและบรรจุภัณฑ์พลาสติกสะอาดเหลือใช้ ที่กำหนดไว้ทั้ง 12 ชนิด ไปทิ้ง โดยโครงการรับบริจาคถุงและบรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกสะอาด เช่น ถุงห่อผ้าอ้อม ฟิล์มพลาสติกหุ้มขวดน้ำ หรือฟิล์มกันกระแทกที่มากับสินค้าออนไลน์ ก่อนนำกลับไปรีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติกสำหรับใช้ในการผลิตถุงหูหิ้ว และผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ ทีมงานยังให้ความรู้ เสนอแนะวิธีการแยกขยะ และการเตรียมเศษพลาสติกเพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล และเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนทรัพยากรที่แท้จริง
ที่มา: https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9670000059941#google_vignette