5 นวัตกรรม ESG สุดว้าว ทั่วโลกเขาเปลี่ยนขยะเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก

หลายปีที่ผ่านมา โลกได้พัฒนาก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว มีผลิตภัณฑ์มากมายที่พัฒนาขึ้นมาจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่สร้างความสะดวกสบายให้ผู้บริโภค แต่ในขณะเดียวกันก็กลายเป็นขยะที่ก่อให้เกิดมลภาวะกับโลกด้วยเช่นกัน ปัจจุบันจึงได้เกิดกลุ่มผู้บริโภคสายกรีนที่นำเทรนด์การบริโภคสินค้ารักษ์โลกกลับมาสร้างความตระหนักรู้ในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ผลิตอีกครั้ง

ขณะเดียวกันนี้ ทั่วโลกยังพร้อมใจกันออกมาร่วมรณรงค์การลดใช้พลาสติกและให้หันมาใช้สินค้าที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้อีกครั้ง เทรนด์สินค้ารักษ์โลกคืออะไร ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการจะมีวิธีปรับตัวให้ก้าวทันเทรนด์เหล่านี้ได้อย่างไร หาคำตอบได้ในบทความนี้

เทรนด์ผลิตภัณฑ์รักษ์โลก ทำไมถึงมาแรง

แนวคิดผลิตภัณฑ์รักษ์โลก เป็นเทรนด์ฮิตที่มีมานานแล้ว เพียงแต่ไม่ได้รับการตอบรับจากกระแสสังคมและไม่ได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้บริโภค เนื่องจากเทรนด์สินค้ารักษ์โลกในยุคก่อนนั้นมักจะมีราคาสูงและดูเป็นสินค้าที่เข้าถึงได้ยากสำหรับผู้บริโภคทั่วไป แต่ในปัจจุบันแนวคิดการออกแบบผลิตภัณฑ์เหล่านั้นเริ่มเปลี่ยนไป เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ต้องการสินค้าที่รักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กันได้

โดยปัจจุบันหลายแบรนด์ได้มีการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยี มาประยุกต์เข้ากับการผลิตสินค้าภายในแบรนด์ให้กลายเป็นสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น หลอดกระดาษที่สามารถย่อยสลายได้ การใช้ถุงกระดาษแทนถุงพลาสติก หรือสินค้าที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้อีกครั้งโดยที่ไม่เพิ่มปริมาณขยะให้กับโลก หรือที่รู้จักกันในชื่อ ECO Product นั่นเอง

ตัวอย่าง นวัตกรรม ESG เปลี่ยนขยะเป็น ผลิตภัณฑ์รักษ์โลก ที่น่าสนใจ

1. ญี่ปุ่น พัฒนา “พลาสติกซ่อมตัวเองได้” ลดการสร้างขยะ
ไอเดียสุดกรีนนี้ มาจากนักเคมีชาวญี่ปุ่น ที่ค้นพบวิธีทำให้พลาสติกธรรมดาสามารถ “ซ่อมแซมตัวเอง” ได้ เป็นความหวังลดปริมาณขยะพลาสติกที่ยังคงเพิ่มขึ้นทุกวัน

ปัจจุบันโลกเรามีขยะพลาสติกมากกว่า 350 ล้านตัน โดยมีถึง 91% เป็นขยะพลาสติกที่ไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้ และด้วยการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ผลิตขึ้นมาใหม่อยู่ตลอดเวลาก็มีส่วนทำให้มีจำนวนขยะพลาสติกมากขึ้นตามไปด้วย เหตุนี่เองทำให้นักเคมีโพลิเมอร์และศาสตราจารย์ด้านเคมี มหาวิทยาลัยโตเกียว ได้พยายามคิดค้นจนพบวิธีสร้าง “พลาสติกที่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้”โดยพลาสติกชนิดนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับ โทรศัพท์มือถือ รถยนต์ หรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ นอกจากจะไม่แตกหักเสียหายแล้ว ยังสามารถช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกได้อีกด้วย

ทั้งนี้ พลาสติกทั่วไป ประกอบด้วยสายโซ่โมเลกุลพันกันหลายเส้น และโมเลกุลจะละลายเมื่อพลาสติกแตกตัว การจะซ่อมแซมโมเลกุลที่แตกไปนั้นจะทำได้โดยการหลอมที่อุณหภูมิสูงเท่านั้น แต่พลาสติกที่พัฒนาขึ้นใหม่สามารถแก้ไขโมเลกุลที่แตกตัวได้ภายใต้กลไกที่เรียกว่า “พันธะไฮโดรเจน” หลักการทำงานของพลาสติกซ่อมแซมตัวเองได้ คือ เมื่อมีการเติมสารชนิดหนึ่งลงไปในพลาสติกธรรมดาแล้วจะเกิดเป็นพลาสติกชนิดพิเศษขึ้นมา หากเกิดความเสียหายขึ้น ต้องทำให้พลาสติกชนิดนี้ได้รับความร้อน เพื่อให้โมเลกุลโมโนเมอร์ (หน่วยย่อยของโพลิเมอร์ที่สังเคราะห์ให้เป็นพลาสติก) สลายตัวและสร้างเนื้อพลาสติกใหม่ขึ้นมา แต่ความแข็งแรงของพลาสติกที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ จะไม่เหมือนกับเนื้อพลาสติกเดิม

ทั้งนี้ จากการทดลองเผาพลาสติกชิ้นนี้และทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้องที่ไม่มีการปรับอากาศใด ๆ และพบว่า พลาสติกมีการซ่อมแซมตัวเอง แต่ต้องใช้เวลามากกว่า 1 ชั่วโมงจึงจะกลับมาอยู่ในสภาพที่ใกล้เคียงเดิมอีกครั้ง ทีมงานระบุว่า รอยแผลเป็นภายในพลาสติกที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าสามารถรักษาให้หายได้ด้วยเช่นกัน นักวิทยาศาสตร์คาดหวังว่าเทคโนโลยีนี้จะสร้างพลาสติกที่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้ด้วยคุณสมบัติต่าง ๆ หากใช้ส่วนผสมในปริมาณที่ต่างกัน

ถึงแม้ว่าตอนนี้จะยังไม่มีการนำพลาสติกตัวนี้ออกมาใช้งานในชีวิตประจำวัน เพราะมันยังอยู่ในขั้นตอนการทดลอง แต่ในอนาคตจะมีการนำไปประยุกต์ใช้กับสิ่งของต่างในชีวิตประจำวันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น หน้าจอสมาร์ทโฟน กรอบแว่นตา อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ภายในบ้าน เฟอร์นิเจอร์ เครื่องบิน และรถยนต์

นักวิทยาศาสตร์ ระบุว่า วิธีการนี้จะนำไปสู่การพัฒนาพลาสติกอย่างยั่งยืน โดยไม่ต้องมีการทิ้งให้เป็นขยะหรือรีไซเคิลอีกต่อไป

2.ญี่ปุ่น ผลิต ‘พลาสติกจากพืช’ 90% ย่อยสลายได้แม้ถูกทิ้งลงทะเล

อีกหนึ่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์รักษ์โลกของญี่ปุ่น คือ Kaneka บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมเคมีของญี่ปุ่นที่เดินหน้าผลิตวัสดุโพลิเมอร์ที่สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติ หรือที่บริษัทเรียกว่า PHBH เพิ่มขึ้นเป็น 20,000 ตันต่อปี หรือ 4 เท่าของกำลังการผลิตในปัจจุบัน

สำหรับความพิเศษของโพลิเมอร์ดังกล่าว คือใช้น้ำมันพืชเป็นวัตถุดิบหลัก และหากถูกทิ้งลงในทะเลหรือดิน พลาสติกเหล่านี้ก็สามารถย่อยสลายได้มากกว่า 90% ด้วย (เป็นคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำ)

สาเหตุที่เพิ่มกำลังการผลิตดังกล่าวมาจากกฎหมายใหม่ของญี่ปุ่นที่กำลังจะบังคับใช้ในเดือนเมษายนนี้ ที่ระบุให้บริษัทต่าง ๆ ลดการใช้พลาสติกลง ขณะเดียวกัน กฎหมายดังกล่าวก็ทำให้ความต้องการพลาสติกสายกรีนเพิ่มขึ้นด้วยหนึ่งในลูกค้ารายใหญ่ของ Kaneka ก็คือ 7-Eleven ที่ซื้อหลอดย่อยสลายได้ของ Kaneka ไปใช้ตั้งแต่ปี 2019 ซึ่งเทรนด์ดังกล่าวนี้ทำให้ทาง Kaneka คาดการณ์ว่า ความต้องการพลาสติกสายกรีนจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วใน 2 – 3 ปีข้างหน้า จึงเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 100,000 – 200,000 ตัน ต่อปีภายในปี 2030

ขณะที่ ผู้ประกอบการไทยอย่างเช่น บริษัท โกลบอล ไบโอพอลิเมอร์ จำกัด ที่มองการณ์ไกลถึง ‘ปัญหาขยะพลาสติก’ ที่ส่งกระทบกับโลก นำไปสู่แนวคิดผลิตไบโอพลาสติก (Bioplastic) ที่สามารถย่อยสลายได้เพื่อแก้โจทย์ดังกล่าว โดยตั้งโจทย์ว่า ทำอย่างไรให้พลาสติกชีวภาพผลิตจากพืชเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Sustainability) ปัจจุบันได้รับการยอมรับในคุณภาพมาตรฐานจากทั้งประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และทวีปยุโรป

สนใจอ่านบทสัมภาษณ์เพิ่มเติมได้ที่
https://www.bangkokbanksme.com/en/global-biopolymer-manufacturer-of-bioplastic

3.สตาร์ทอัพสหรัฐอเมริกา เปลี่ยนนมบูด เป็น ‘เสื้อยืดรักษ์โลก’

อีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ สตาร์ทอัพหน้าใหม่จาก สหรัฐอเมริกา ‘มี เทอร์โร (Mi Terro)’ ได้คิดผลิตเสื้อยืดที่แปรรูปมาจากนมบูดหรือนมเหลือใช้ โดยพยายามนำมารีไซเคิลเป็นข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ เพื่อลดปัญหา Food waste อันเป็นปัญหาใหญ่ทำลายสิ่งแวดล้อมที่หลายคนอาจมองข้าม และรบกวนการใช้ทรัพยากรให้น้อยที่สุด

ทั้งนี้ สองผู้บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง ปิ๊งไอเดียนี้จากการไปเที่ยวฟาร์มโคนมของลุง แล้วพบว่าในฟาร์มมีนมบูดที่เหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตจนต้องทิ้งไปอย่างไร้ประโยชน์เป็นจำนวนมาก แถมฟาร์มโคนมอีกหลาย ๆ แห่งก็เผชิญกับปัญหาการนำเข้ากระบวนการผลิตไม่ทัน จนต้องทิ้งน้ำนมไปอย่างน่าเสียดายเช่นกัน

นอกจากปัญหาภายในฟาร์ม นมแปรรูปในบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ก็มีจุดจบที่ไม่ต่างกัน คือ เมื่อขายสินค้าออกไม่หมด นมก็เสียก่อนถึงมือผู้บริโภค (สถิติจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติหรือ FAO รายงานว่าในแต่ละปี ของเสียจำพวกนมมีสัดส่วนที่มากถึงร้อยละ 20 ของเศษอาหารที่ถูกทิ้ง และอาจสูงขึ้นถึงร้อยละ 30 ในปีที่โลกเผชิญกับภัยพิบัติร้ายแรงอย่างน้ำท่วมหรือ โรคระบาดโควิด-19)

จากปัญหาดังกล่าว ทำให้ทีมงาน มี เทอร์โร (Mi Terro) ร่วมกันคิดกระบวนการวิจัย Pro-Act (Protein Activation) ขึ้นมา เพื่อสกัดนมและนำส่วนที่ไม่ต้องการออกไป จนเหลือสิ่งที่สามารถนำมาแปรรูปกลายเป็นเส้นใยและยังสามารถถักทอขึ้นมาให้กลายเป็นเสื้อผ้าได้

ทั้งนี้ ไอเดีย ทำให้ Mi Terro ได้รับเม็ดเงินสนับสนุนเป็นจำนวนมาก เนื่องจากกระบวนการผลิตเสื้อของ Mi Terro ใช้น้ำในการผลิตน้อยกว่าใยฝ้ายธรรมชาติถึง 60% และที่สำคัญไม่มีสารพิษหรือสารตกค้างใด ๆ แถมยังปราศจากการใช้สารเคมีในระหว่างการผลิต 100% ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างมากสำหรับแบรนด์จากบริษัทสตาร์ทอัพเล็ก ๆ แบบนี้

สตาร์ทอัพรายนี้ อธิบายคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์สีเขียวของเขาว่า เคซีนจากนมผลิตเส้นใยที่ให้สัมผัสที่นุ่มนวลกว่าเสื้อผ้าฝ้ายถึง 3 เท่า ซึ่งแตกต่างจากวัสดุอื่นที่มีโปรตีนเป็นส่วนประกอบหลัก ซึ่งเส้นใยนี้เหมาะมากสำหรับผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนัง นอกจากนี้ Milk Tee ยังมีคุณสมบัติดูดซับความชื้นและต้านเชื้อแบคทีเรีย ไม่ยับย่นง่าย ระบายอากาศได้ดี ที่สำคัญเลยคือย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ แต่จุดหนึ่งที่คิดว่าได้ใจผู้บริโภคมากที่สุด คือ กรดอะมิโน 18 ชนิดที่อยู่ในเส้นใยเสื้อ สามารถช่วยบำรุงผิวของผู้สวมใส่นุ่มน่าสัมผัสเหมือนอาบน้ำนมอีกด้วย

ปัจจุบัน Mi Terro กำลังมีความพยายามในการบรรลุข้อตกลงกับยักษ์ใหญ่แห่งอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายอย่าง Nike และ H&M เพื่อเป็นพาร์ทเนอร์ในการกระจายวัตถุดิบให้บริษัทใหญ่ไปผลิตสินค้าภายใต้ชื่อแบรนด์ของตัวเอง ซึ่งหากดีลนี้ประสบความสำเร็จ จะเป็นการปฎิวัติอุตสาหกรรมแฟชั่นให้เดินไปในทิศทางรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ความตั้งใจหลักของแบรนด์ มี เทอร์โร (Mi terro) คือ ต้องการแทนที่ผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียมแบบก้าวกระโดด โดยเปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติทั้งหมด โดยการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนแบบใหม่ที่ขับเคลื่อนเม็ดเงินด้วยของเสียจากภาคเกษตรกรรม นอกจากการผลิตเสื้อยืดแล้วทางแบรนด์ยังพยายามปรับปรุงเทคโนโลยีใหม่เพื่อแปรรูปเวย์โปรตีนที่เหลือจากการสกัดนม ให้กลายเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ

4.สตาร์ทอัพสิงคโปร์ รีไซเคิลขยะอาหาร ให้เป็น ‘บรรจุภัณฑ์อาหารจากกากธัญพืช’ ที่เหลือจากการผลิตอาหาร

มาต่อกันที่ความพยายามของสตาร์ทอัพสิงคโปร์ เพื่อนบ้านของเรา ที่ได้คิดค้นวิธีแก้ปัญหาขยะเศษอาหาร จำพวกกากธัญพืชที่เหลือจากการผลิตอาหาร เช่น การผลิตเบียร์ มารีไซเคิลเป็น ‘บรรจุภัณฑ์อาหารจากกากธัญพืช’ ที่ส่วนใหญ่กากธัญพืชนี้มักจะถูกนำไปใช้ทำอาหารสัตว์ ปุ๋ย หรือถูกกำจัดทิ้ง

โดยหวังช่วยแก้ปัญหาการฝังกลบขยะ ซึ่งนอกจากจะเปลืองพื้นที่อย่างมหาศาลแล้ว ยังก่อภาวะโลกร้อนด้วย เนื่องจากการฝังกลบจะทำให้เกิดก๊าซมีเทน หนึ่งในตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกนั่นเอง ขั้นตอนการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหาร จะเริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนกากธัญพืชให้เป็นภาชนะบรรจุอาหาร ด้วยการขึ้นเป็นรูปทรงต่าง ๆ ที่สามารถย่อยสลายได้ในครัวเรือน โดยกระบวนการเปลี่ยนกากธัญพืชให้เป็นภาชนะบรรจุอาหารนั้น คล้ายคลึงกับการผลิตเยื่อกระดาษ ผลิตให้มีขนาดที่ต้องการด้วยเครื่องจักรอัตโนมัติ ซึ่งเป็นวิธีการรีไซเคิลกากธัญพืชเพื่อสร้างบรรจุภัณฑ์อาหารออร์แกนิก 100 % และเป็นคำตอบให้กับการใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่า

ทั้งนี้ บรรจุภัณฑ์อาหารจากกากธัญพืช ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) และสำนักงานอาหารแห่งสิงคโปร์ (SFA) ว่ามีความปลอดภัย เหมาะสำหรับการสัมผัสอาหารโดยตรง โดยกากธัญพืชที่นำมาใช้ได้มาจากมอลต์และธัญพืชที่เป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติ อีกทั้งยังสามารถนำไปใช้กับช่องแช่แข็งและไมโครเวฟได้ด้วย

5.ไทย เปลี่ยน ‘เปลือกหอยแมลงภู่’ เป็นสารเคลือบช่วยดูดซับคราบน้ำมัน

ปิดท้ายไอเดียรักษ์โลก ที่คิดค้นโดยนักวิจัยนาโนเทค สวทช. และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เปลี่ยนขยะจากอุตสาหกรรมอาหารอย่างเปลือกหอยแมลงภู่เป็น แคลเซียมคาร์บอเนตชีวภาพ ที่มีคุณสมบัติในดูดซับคราบน้ำมัน สามารถผลิตเป็นสเปรย์-ฟองน้ำทำความสะอาดที่ปลอดภัย พร้อมตอบ BCG เพื่อความยั่งยืนด้วยกระบวนผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่มีการสร้างของเสีย (Zero Waste Process) สามารถต่อยอดใช้กับพื้นผิวที่เปื้อนน้ำมันไม่มาก อาทิ คราบน้ำมันทำอาหาร น้ำมันเครื่อง น้ำมันหล่อลื่น เป็นต้น หรือทำให้อยู่ในรูปของเหลวเพื่อใช้สเปรย์บนพื้นผิวที่เปื้อน ให้ดูดซับน้ำมัน

ในอนาคตจะพัฒนาเพื่อใช้ดูดซับน้ำมันในพื้นที่ท่าจอดเรือ โดยอาจจะเป็นการตั้งสถานีกรองน้ำทะเลที่อาจปนเปื้อนน้ำมัน ทดแทนการใช้สารเคมี เพื่อแก้ปัญหาเปลือกหอยแมลงภู่เหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมอาหารทะเลกว่า 20,000 ตันต่อปี เนื่องจากเปลือกหอยแมลงภู่ไม่สามารถเผาทำลายได้ ต้องใช้วิธีการฝังกลบ ทำให้บ่อยครั้งมีเปลือกหอยแมลงภู่จำนวนมากถูกทิ้งในพื้นที่สาธารณะ นำไปสู่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม และปัญหาสุขภาพ

นอกจากนี้ ยังมีการต่อยอดไบโอแคลเซียมคาร์บอเนตจากเปลือกหอยแมลงภู่ ผสมขยะพลาสติกชีวภาพ (PLA) พัฒนา “Re-ECOFILA เส้นพลาสติกรักษ์โลกสำหรับเครื่องพิมพ์สามมิติ” ย่อยสลายได้ 100% คุณภาพเทียบเท่าของที่มีในท้องตลาดในราคาที่ถูกกว่า หวังทดแทนของนำเข้าราคาสูง

ผลิตภัณฑ์รักษ์โลกทั้ง 5 ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า เทรนด์สินค้ารักษ์โลกจากแนวคิด ESG มีแนวโน้มจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีโอกาสเติบโตอีกมากในอนาคต พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่กำลังมองหาสินค้าใหม่ ๆ มาขาย สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถือว่าน่าสนใจไม่น้อยเลยที่เดียว เพราะผู้บริโภคยุคใหม่หันมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ที่สำคัญทำให้ธุรกิจขยายตลาดไปต่อได้ในตลาดโลกที่นับวันยิ่งเข้มงวดเรื่องกระบวนการผลิตที่รักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ที่มา: https://www.matichon.co.th/publicize/news_4638916

วันที่ 22 มิถุนายน 2567