กทม.ชวนไม่เทรวม แจงยิบเส้นทางไป “ขยะแห้งที่มีคุณค่า” หลังแยกแล้ว

นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนกรุงเทพมหานคร
ชี้แจงเรื่องการคัดแยกขยะของกทม. ว่าโดยหลักๆ แล้วมีอยู่ 2 ข้อความที่ต้องการสื่อสาร

1) แยกขยะเป็นเรื่องง่าย ขอแยกแค่ 2 ประเภท : เปียก กับ แห้ง และ 2) ถ้าแยกขยะแล้วต้องไม่เทรวม ขยะทุกชิ้นมีทางไป หนีบ่อฝังกลบ

ผู้บริหารด้านความยั่งยืนกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สิ่งที่กทม.ช่วยสนับสนุนคือการสร้าง ecosystem ที่สะดวกสำหรับการแยกขยะ ทลายความเชื่อว่า ถ้าแยกแล้วก็เทรวมอยู่ดี ผมเลยอยากให้ข้อมูลว่าขยะที่แยกแล้วไปไหนได้บ้าง จะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือขยะแห้งและเปียก

สำหรับ ขยะแห้ง ที่ไม่ปนเปื้อนนั้นมีทางไปมากมาย และมีภาคีของกทม. ที่มาช่วยยกระดับความสะดวกสบาย

ขยะแห้ง สามารถแบ่งออกเป็น 2 หมวด นั่นคือ 1. รีไซเคิล (ขวดพลาสติก แก้ว กระดาษ กระป๋องอลูมิเนียม) และ 2. กำพร้า (ถุงแกง ถุงขนมโดยเฉพาะแบบ multilayer หลอด อื่นๆ) ทั้งคู่มีภาคีพร้อมรับ โดยมีหลายโมเดลที่พวกเราสามารถมีส่วนร่วมได้ เช่น

1. ภาคีมารับซื้อถึงบ้าน

WASTE BUY Delivery รถสะดวกซื้อ มีบริการรับซื้อทุกพื้นที่ในกทม. มีปริมาณขั้นต่ำ 100 กิโลกรัมต่อ 1 แหล่งกำเนิด โดยสามารถโทรแจ้งล่วงหน้าได้อย่างน้อย 1 วัน ซึ่งขยะที่รับนั้นรวมหลายประเภทได้ และยังรับ RDF ได้ด้วย

Recycoex สามารถเรียกไปรับขยะผ่าน application ได้โดยจะต้องมีปริมาณเต็มรถกระบะ 1 คัน (100-300 กก.) และสามารถไปเก็บเดือนละครั้ง พร้อมกับยังสามารถซื้อถุงนมโรงเรียนได้เช่นกัน

Wake Up Waste มีบริการรับซื้อขยะในพื้นที่กรุงเทพฯโดยเริ่มจากการนัดหมายไปสำรวจพื้นที่และนัดหมายเวลาจัดเก็บ ซึ่งเงื่อนไขต้องมีน้ำหนักอย่างน้อย 250 กิโลกรัม

รีไซเคิลเดย์ Recycle Day Thailand พร้อมเข้าไปรับซื้อผ่านการจองใน application ซึ่งสมาชิกจะได้รับคะแนนและสามารถนำคะแนนไปแลกของรางวัลต่างๆได้ ล่าสุดทางบริษัทได้มีการเปิดตัวโครงการรับซื้อเศษอาหารด้วยซึ่งประชาชนสามารถเช่าถังใส่เศษอาหาร

นอกเหนือจากนั้นแน่นอนว่ายังมีพี่ซาเล้งที่อยู่ตามพื้นที่อยู่แล้ว

2. รับซื้อ/รับบริจาคตามจุด

Trash Lucky เป็นภาคีที่เปิดรับให้ผู้แยกขยะส่งของมาที่จุดรับได้โดยมีการคิดค่าบริการขั้นต่ำขึ้นกับขนาดของพัสดุแต่ถ้าซื้อกล่องของ trash lucky จะฟรีค่ารับส่งขยะ ซึ่งมาส่งแล้วก็รับแต้มสะสม

สำหรับขยะกำพร้าที่ไม่ต่อยมีคนรับซื้อ เช่น HDPE (ขวดนม ขวดแชมพู แก้วโยเกิร์ต) LDPE (หลอดโฟมล้างหน้า) PP (กล่องอาหารที่ใส่ไมโครเวฟได้) PS (ช้อนส้อมพลาสติก) สามารถส่งต่อให้ YOLO - Zero Waste Your Life หรือไปส่งที่จุดนัดพบของ N15 Technologyได้

3. รับบริจาคจากตามจุด drop off

ปัจจุบันกรุงเทพฯร่วมกับภาคี มือวิเศษ กรุงเทพฯ ได้ตั้งจุดรับวัสดุรีไซเคิลในทุกสำนักงานเขตและศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 แห่ง รับภาชนะเช่น ขวด PET พลาสติกยืด HDPE รวมถึงขยะกำพร้า

จะเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นรีไซเคิลหรือไม่ ขยะที่แยกแล้วมีทางไปหมด ซึ่งเราเชื่อว่าการมี ecosystem ส่งเสริมทางไปของขยะแห้งที่ชัดเจน และมีการสื่อสารที่ชัด จะเป็นแรงจูงใจสำคัญให้ประชาชนมองว่าเรื่องแยกขยะเป็นเรื่องง่าย สะดวก และเป็นประโยชน์ครับ

ขอขอบคุณทางสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ช่วยรวบรวมข้อมูลของภาคีเครือข่ายครับ ผมเขียนคำอธิบายของภาคีต่างๆไว้สั้นๆ สามารถอ่านรายละเอียดของแต่ละที่ตามลิงค์ที่ใส่ไว้ครับ และขออภัยถ้าตกหล่นภาคีไหนไป ผู้บริหารด้านความยั่งยืน กทม.กล่าว

ที่มา: https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9670000048740 

วันที่ 08 มิถุนายน 2567