ผู้นำทั่วโลกจะร่วมประชุมที่แคนาดาในสัปดาห์นี้เพื่อหารือความคืบหน้าของการจัดทำร่างสนธิสัญญาพลาสติกโลกฉบับแรก ที่คาดหวังให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ จะมีเนื้อหาอะไรบ้าง และสามารถแก้ไขปัญหายะพลาสติกล้นโลกได้หรือไม่
ทั่วโลกก่อให้เกิดขยะพลาสติก 400 ล้านเมตริกตันต่อปี และมีขยะพลาสติกเต็มรถบรรทุกถึง 2,000 คัน ถูกทิ้งลงในมหาสมุทร แม่น้ำ และทะเลสาบในแต่ละวัน
และนับจากเริ่มผลิตพลาสติกในปี 2493 จนถึงปัจจุบันมีการผลิตพลาสติกรวมเกือบ 9,100 ล้านตัน และ 79% ของพลาสติกทั้งหมดที่ผลิตได้ ยังคงอยู่ในบ่อขยะ หรือสิ่งแวดล้อมในธรรมชาติ โดยขยะพลาสติกประมาณ 75-199 ล้านตันอยู่ในมหาสมุทรทั่วโลก และคาดว่า ในปี 2050 ขยะพลาสติกทั้งหมดในมหาสมุทรทั่วโลกจะมีน้ำหนักรวมกันเกินกว่าน้ำหนักของปลาทั้งหมดในมหาสมุทร
ปัญหามลพิษจากพลาสติกจึงเป็นวาระเร่งด่วน ที่ผู้นำทั่วโลกจะเร่งกันจัดทำสนธิสัญญาพลาสติกโลก โดยจะมีการประชุมหารือความคืบหน้าที่กรุงออตโตวาของแคนาดาระหว่างวันที่ 23-29 เมษายน
ทำไมต้องจัดทำสนธิสัญญาพลาสติกโลก
ในการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติเมื่อปี 2022 ทั่วโลกเห็นพ้องต้องกันว่า จะจัดทำข้อตกลงที่มีผลผูกมัดภายในสิ้นปี 2024 เพื่อแก้ไขวิกฤตมลพิษพลาสติกของโลก โดยครอบคลุมครบวงจรตั้งแต่การผลิต จนถึงการใช้ และการกำจัดพลาสติก
พลาสติกก่อปัญหาอะไร
นอกจากขยะพลาสติกกลายเป็นมลพิษที่ปนเปื้อนทั้งในภูมิทัศน์และแหล่งน้ำแล้ว กระบวนการผลิตพลาสติกยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย โดยอุตสาหกรรมพลาสติกมีส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจก 5% ของทั้งโลก และอาจเพิ่มเป็น 20% ภายในปี 2050 หากแนวโน้มยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในขณะที่การผลิตพลาสติกจะเพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายในปี 2060 หากไม่มีการจำกัดปริมาณการผลิต พลาสติกส่วนใหญ่เป็นผลิตผลจากปิโตรเลียม
ความท้าทายของการประชุมที่ออตตาวา
การประชุมครั้งนี้จะเป็นครั้งใหญ่ที่สุด ที่มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมราว 3,500 คน ซึ่งมีทั้งล็อบบียิสต์, นักวิทยาศสตร์ และองค์กรไม่แสวงผลกำไรด้านสิ่งแวดล้อม แต่หลายประเทศมีความเห็นขัดแย้งกันในหลายประเด็นในช่วงการประชุม 3 รอบที่ผ่านมา ซึ่งจัดที่อุรุกวัย, ฝรั่งเศส และเคนยา
ในการประชุมที่กรุงไนโรบีของเคนยาเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ร่างสนธิสัญญาเพิ่มความยาวจาก 30 หน้า เป็น 70 หน้า โดยบางประเทศยืนยันคัดค้าน เพื่อให้กำหนดเป้าหมายที่สูงขึ้นทั้งในเรื่อง จำกัดปริมาณการผลิต และการทยอยเลิกใช้พลาสติก และการประชุมครั้งนี้ควรได้ข้อสรุปก่อนจะมีการเจรจาขั้นสุดท้ายที่เมืองปูซานของเกาหลีใต้ในเดือนธันวาคม
ประเทศไหนเสนออะไรบ้าง
ประเทศผู้ผลิตพลาสติกและปิโตรเคมีหลายประเทศ เช่น ซาอุดิอาระเบีย อิหร่าน และจีน คัดค้านการใช้ถ้อยคำที่เรีกร้องให้จำกัดปริมาณการผลิต เปิดเผยรายละเอียดการเติมแต่งสารเคมี หรือ กรอบเวลาลดขยะพลาสติก
ขณะที่กลุ่มประเทศที่ตั้งมาตรฐานสูง 60 ประเทศ ซึ่งมีทั้งชาติสมาชิกสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ต้องการขจัดมลพิษพลาสติกให้หมดสิ้นภายในปี 2040 กลุ่มนี้ซี่งได้รับการสนับสนุนจากองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม เรียกร้องให้มีข้อกำหนดที่มีผลผูกมัดทางกฎหมายให้ยับยั้งและลดละการผลิตและการใช้โพลิเมอร์ พลาสติก ในระดับที่ยั่งยืน รวมทั้งเสนอมาตรการเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และห้ามการเติมสารเคมี ที่ก่อความเสี่ยงต่อสุขภาพ
ส่วนสหรัฐฯ ต้องการให้ยุติมลพิษพลาสติกภายในปี 2040 โดยให้ประเทศต่าง ๆ กำหนดแผนการของตัวเองได้ และรายงานความคืบหน้าของแผนเป็นประจำต่อสหประชาชาติ