สตาร์บัคส์ ลุย Net Zero ขยาย “ร้านกาแฟสีเขียว” ลดใช้แก้วพลาสติก-ลด CO2

สตาร์บัคส์ เปิดเส้นทาง Net Zero ลุยลดขยะ ลดคาร์บอนไดออกไซด์ ลดการใชน้ำลง 50% ภายในปี 2030 สานต่อแคมเปญ Little Choices Big Change การใช้แก้ว Reuseable / แก้วส่วนตัว พร้อมขยาย Green Stores จาก 12 เป็น 20 สาขาสิ้นปีนี้

ปี ค.ศ.2011 สตาร์บัคส์ได้จดบันทึกการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) เพื่อติดตามและวัดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ประเมินการปล่อยก๊าซจากร้านและกิจกรรมการคั่วอบกาแฟของทั่วโลก

โดยอิงจากระเบียบการว่าด้วยเรื่องก๊าซเรือนกระจกของสถานบัน World Resources Institute และพบว่ากว่า 80% ของก๊าซเรือนกระจกของสตาร์บัคส์ เป็นผลมาจากพลังงานที่ใช้ในร้าน สำนักงาน และโรงงานคั่วอบกาแฟ สตาร์บัคส์จึงมุ่งเน้นการประหยัดพลังงานและการเลือกใช้พลังงานหมุนเวียน

สตาร์บัคส์ได้ใช้ระเบียบ WRI/WBCSD GHG มาตรฐานองค์กร เพื่อประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปีงบประมาณ 2010 จากรายงานในปี 2011 พบว่าประสบความสำเร็จในการลดการปล่อยก๊าซ GHG ลงไปกว่า 2.7% (เมื่อคิดแบบสัมบูรณ์) เมื่อเทียบกับ GHG ฟุตพริ้นท์ปริมาณ 1,006,954 เมตริกตันในปี 2010

การดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สตาร์บัคได้มุ่งเน้นในมิติหลัก ๆ ได้แก่ การรีไซเคิลและการลดขยะ การประหยัดพลังงาน การประหยัดนํ้า การสร้างร้านสีเขียว และการรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ โดยให้ความสำคัญตลอดซัพพลายเชน ตั้งแต่ต้นนํ้าถึงปลายนํ้า

ตั้งเป้าลดขยะ 50%

นางเนตรนภา ศรีสมัย กรรมการผู้จัดการ สตาร์บัคส์ ประเทศไทย กล่าวว่า สตาร์บัคส์มีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดการใช้นํ้าและลดปริมาณขยะลง 50% ภายในปี 2030 (พ.ศ.2573) โดยส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย คือ การจัดทำแคมเปญ Little Choices Big Changes ชวนลูกค้าใช้แก้วส่วนตัว (การใช้แก้ว Reuseable) ด้วยการมอบส่วนลด 10 บาท สำหรับลูกค้าที่นำแก้วส่วนตัวมาใช้ที่ร้านสตาร์บัคส์ทุกสาขาทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่ 21 มีนาคม ถึง 23 เมษายน ค.ศ.2024 สำหรับสมาชิกสตาร์บัคส์ Reward จะได้ส่วนลด 20 บาท

ที่ผ่านมา สตาร์บัคส์สามารถลดขยะแก้วพลาสติกไปได้ราว 29 ล้านใบ โดยส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้แก้ว For Here (พร้อมบริการทุกสาขาแล้ว) แทนแก้วพลาสติก To Go สำหรับเป้าหมายในการรณรงค์ปีนี้ตั้งเป้า 3 ล้านใบ เพิ่มขึ้น 50% จากปี 2023 ที่ลดได้ประมาณ 2 ล้านใบ

สตาร์บัคส์ได้ริเริ่มดำเนินโครงการ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่มาจากแก้วใช้ครั้งเดียวทิ้งอย่างต่อเนื่อง มีการพัฒนาปลอกสวมแก้วจากกระดาษรีไซเคิล ใช้ถ้วยกระดาษเครื่องดื่มร้อน ซึ่งประกอบด้วยเยื่อกระดาษรีไซเคิลที่ผ่านการใช้งานแล้วถึง 10% ใช้ถ้วยพลาสติกใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง

ขยาย “ร้านกาแฟสีเขียว”

อีกหนึ่งแนวทางสำคัญสู่เป้าหมาย Net Zero คือการทำร้านกาแฟสีเขียว หรือ Greener Stores ซึ่งเป็นร้านกาแฟของสตาร์บัคส์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ควบคุมด้วยระบบการบริหารจัดการพลังงานที่จัดเก็บข้อมูลแบบเรียลไทม์ เพื่อการคงสถานะการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด รวมไปถึงการระบุการใช้พลังงานที่บกพร่อง เพื่อปรับปรุงการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นในครั้งต่อไป

สตาร์บัคส์รับอาสาเป็นผู้นำร่วมกับผู้ค้าปลีกรายอื่นและ USGBC (US Green Building Council) ตั้งแต่ปี 2001 เพื่อสร้างระบบการรับรองร้านค้าปลีกและสร้างต้นแบบของร้าน LEED กระบวนการนี้เป็นการรับรองร้านสีเขียวแบบล่วงหน้า คือตั้งแต่การออกแบบ การก่อสร้าง ไปจนถึงกลยุทธ์การปฏิบัติงาน หลังจากที่ได้รับการรับรองแล้ว จะมีการสุ่มตรวจสอบและทบทวนการรับรองอยู่เสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าเราปฏิบัติงานตรงตามมาตรฐานขั้นสูงที่กำหนดไว้

สตาร์บัคส์ ประเทศไทย พัฒนาร้านภายใต้แนวคิด “ร้านกาแฟสีเขียว” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 โดยในขณะนี้ ได้รับการรับรองจาก LEED แล้ว 8 สาขา ถึงสิ้นปีนี้จะได้เพิ่มอีก 12 สาขา รวมเป็น 20 สาขา ภายในปี ค.ศ.2024 จากจำนวนสาขาที่มีอยู่ปัจจุบัน 490 สาขา โดยสตาร์บัคส์มีแผนขยายสาขาปีละ 30-40 สาขาต่อปี

ดูแลนํ้า ดูแลชุมชน

นอกจากนี้ สตาร์บัคส์ยังร่วมกับ NGO พัฒนาคุณภาพชีวิตชาวเขา ด้วยการนำผลผลิตกาแฟมาใช้ในสตาร์บัคส์ ให้ได้เมล็ดกาแฟให้ได้ตามคุณภาพ CAFE Practices นำมาขายให้กับสตาร์บัคส์ได้ในราคาสูง และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ นอกจากกาแฟ อย่างชุดน้องหมี กระเป๋าจากผ้าย้อมคราม เพื่อสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน และไม่ลืมที่จะกลับไปเยี่ยมเยียนชุมชน

ส่วนของนํ้า มีการลดการใช้นํ้าภายในร้าน เช่น การใช้ก๊อกนํ้าที่ใช้มือเปิดแทน ลดการใช้นํ้าลงถึง 15% แทนการเลิกใช้ถัง Dipper Well ซึ่งเป็นอ่างขนาดเล็กมีนํ้าไหลตลอดเวลาและใช้ล้างช้อนสำหรับเทนมลงในเอสเพรสโซ่

ร้านสตาร์บัคส์ในหลายประเทศใช้นํ้าแรงดันสูงฉีดล้างถังผสมแทนการเปิดก๊อกนํ้าตามปกติ นอกจากนี้ ยังตั้งโปรแกรมให้เครื่องชงเอสเพรสโซ่ปล่อยนํ้าออกมาน้อยลงในการล้างแก้วเอสเพรสโซ่ช็อต อีกทั้ง ยังฝึกอบรมพาร์ทเนอร์ (พนักงาน) ให้รักษาความสะอาดคอยล์ทำความเย็นของเครื่องทำนํ้าแข็งอยู่เสมอ เพื่อลดปริมาณความร้อนแฝงจากเครื่องจักรและลดนํ้าแข็งละลาย

นอกจากนี้ ทีมงานของสตาร์บัคส์ ยังได้ร่วมกิจกรรม World Water Day เป็นประจำทุกปี และได้สร้าง Aqua Towers ไปแล้วถึง 5 โครงการ เพื่อส่งมอบนํ้าสะอาดให้ชุมชนที่ต้องการ รวมทั้งได้เปิดตัวโปรแกรม Grounds for Your Garden ลูกค้าสามารถนำกากกาแฟที่สตาร์บัคส์กลับไปผสมดินเพื่อปลูกต้นไม้หรือทำสวนที่บ้านได้ โดยในปีพ.ศ. 2566 สตาร์บัคส์ได้แจกกากกาแฟไปแล้วกว่า 4,000 กิโลกรัมทั่วประเทศ

 

ที่มา: https://www.thansettakij.com/sustainable/zero-carbon/593358 

วันที่ 17 เมษายน 2567