‘พาณิชย์’ ไม่ขัดข้อง ร่าง พ.ร.บ.น้ำเมา ฉบับประชาชน

‘พาณิชย์’ ไม่ขัดข้อง ร่างพ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับประชาชน ทั้ง 3 ฉบับ แนะออกหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดทำฉลากหรือบรรจุภัณฑ์ และการโฆษณา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ชัดเจน
ฐานเศรษฐกิจ ตรวจสอบเอกสาร ด่วนที่สุด ที่ นร 0912/16 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง ร่าง พ.ร.บ. ที่คณะรัฐมนตรีขอรับมาพิจารณาก่อนรับหลักการ (ร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ… เรียน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นบันทึกคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย เรื่อง ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สร้างสมดุลกับนโยบายอื่นของภาครัฐ (เรื่องเสร็จที่ 1673/2564)

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับ ประชาชนทั้ง 3 ฉบับ ได้แก่

ร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 92,978 คน เป็นผู้เสนอ
ร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยมี นายเจริญ เจริญชัย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 10,942 คน เป็นผู้เสนอ
ร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งมี นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร กับคณะ เป็นผู้เสนอ

ทั้งนี้ ได้จัดประชุมเพื่อรับฟังความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 67 โดยมีหน่วยงานที่ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุม โดยกระทรวงพาณิชย์ (กรมทรัพย์สินทางปัญญา) ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ. ทั้ง 3 ฉบับ สรุปได้ดังต่อไปนี้

กรมทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ขัดข้องในหลักการของร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 3 ฉบับ และไม่ขัดข้องหากกระทรวงสาธารณสุขจะนำไปพิจารณาปรับแก้ให้เหมาะสมกับบริบท โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน และมีข้อสังเกตว่า ร่างพ.ร.บ. ทั้ง 3 ฉบับ มีหลักการ ใกล้เคียงกันในการกำหนดให้ออกหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดทำฉลากหรือบรรจุภัณฑ์ และการโฆษณา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยให้กำหนดรายละเอียดไว้ในกฎหมายลำดับรองซึ่งอาจเป็นกฎกระทรวงระเบียบ หรือประกาศ

ด้วยเหตุนี้ เนื้อหาในรายละเอียดที่จะกำหนดขึ้นจึงควรมีเหตุผลความจำเป็น มีแนวทางหรือแนวปฏิบัติที่มีความชัดเจน รวมทั้งต้องมีการรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการสามารถปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้องด้วย

ขณะที่ความเห็นจากกรมการค้าต่างประเทศ ไม่ขัดข้องในหลักการของร่างพ.ร.บ. ทั้ง 3 ฉบับ เนื่องจากเห็นว่า เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถผลิตและขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้อย่างเสรีมากยิ่งขึ้น เพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ

อย่างไรก็ดี การทบทวนเพื่อปรับปรุง ร่างพ.ร.บ. ควรพิจารณาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งกฎหมายของหน่วยงานที่ เกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเด็กและเยาวชน รวมทั้งควรคำนึงถึงบริบทและผลกระทบที่มีต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน สังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย

 

ที่มา: https://www.thansettakij.com/business/economy/591023 

วันที่ 21 มีนาคม 2567