แม้ว่าก๊าซเรือนกระจกจะรับบทตัวร้ายในสถานการณ์โลกร้อน แต่เราก็สามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาสด้วยการเปลี่ยนก๊าซเรือนกระจกให้เป็นพลาสติก ใช้งานได้จริงและช่วยลดโลกร้อนด้วย
ทุกวันนี้เวลาได้ยินคำว่า ก๊าซเรือนกระจก ใครก็รู้ว่ามันคือตัวการโลกร้อน แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะถูกนำมาใช้ประโยชน์ไม่ได้เสมอไป เพราะที่ผ่านมาก็เคยมีคนที่คิดค้นนวัตกรรมการเปลี่ยนก๊าซเรือนกระจกให้กลายเป็นพลาสติกที่เราสามารถนำมาใช้งานได้ และเรียกมันว่า แอร์คาร์บอน (AirCarbon)
โดยบริษัทเทคโนโลยีที่มีชื่อว่า Newlight ได้พยายามหาวิธีช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ จนสามารถดักจับก๊าซเรือนกระจกมาใช้งาน ด้วยการเปลี่ยนให้มันกลายเป็นพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้
โดยพลาสติด AirCarbon สามารถใช้ทดแทนพลาสติกและเส้นใยสังเคราะห์ต่างๆ ซึ่งปกติแล้วจะต้องผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สร้างความเสียหายต่อสภาพภูมิอากาศของโลกเรา แถมกระบวนการผลิต AirCarbon ยังมีต้นทุนต่ำและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าการผลิตพลาสติกแบบเดิมด้วย
วิธีการผลิต จะเริ่มจากการดักจับการปล่อยก๊าซมีเทนจากอุตสาหกรรมต่างๆ จากนั้นก็ใช้เครื่องปฏิกรณ์ในการหลอมก๊าซและอากาศเพื่อเปลี่ยนมันให้กลายเป็นโพลิเมอร์เหลว (liquid polymer) แล้วก็นำมาสร้างเป็นเม็ดพลาสติกเพื่อนำไปใช้งานต่อไป
หลายคนอาจสงสัยว่าแนวคิดนี้ทำได้จริงไหม? แน่นอนว่าทำได้ เพราะล่าสุดก็มีผลิตภัณฑ์ที่ถูกผลิตออกมาพิสูจน์แล้ว หนึ่งในนั้นคือหลอดดูดน้ำที่ผลิตจากพลาสติก AirCarbon ตอนนี้กำลังวางจำหน่ายตามร้านรวงต่างๆในสหรัฐฯ