กลุ่มการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ส.อ.ท.เผยยอดสั่งพิมพ์ปฏิทินทั้งแบบตั้งโต๊ะและแขวน รวมถึงไดอารีฟื้นตัวต่อเนื่องจากปี 2565 หลังจากท่องเที่ยวและบริการของไทยเริ่มเติบโตหนุน ศก.ฟื้น แนวโน้มปี 2567 เติบโตได้ต่อ 4-5% หลังผู้ประกอบการไทยปรับตัวรับเทรนด์โลกตอบโจทย์บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายพงศ์ธีระ พัฒนพีระเดช ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายกสมาคมการพิมพ์ไทย เปิดเผยว่า เทศกาลต้อนรับปีใหม่ พ.ศ. 2567 ซึ่งเป็นปีมังกรทอง พบว่าภาคธุรกิจ ห้างร้าน ธนาคาร รัฐวิสาหกิจ ฯลฯ ได้มีคำสั่งพิมพ์ปฏิทินแบบตั้งโต๊ะและแขวน รวมถึงงานพิมพ์สมุดไดอารี การ์ดอวยพรต่างๆ เพื่อมอบเป็นของขวัญในช่วงเทศกาลปีใหม่เพิ่มขึ้นจากปี 2565 สะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยเฉพาะจากภาคการท่องเที่ยวและบริการภาพรวมของไทย
นอกจากเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวแล้วยังพบว่าการดูปฏิทินทางมือถือ หรือแม้แต่คำอวยพรทางไลน์ การส่งข้อความผ่านมือถือที่ผ่านมาได้รับความนิยมอย่างสูงจนสิ่งนี้เข้ามา Disrupt แต่ก็พบว่าข้อความเดี๋ยวก็หายไป แต่การมอบปฏิทินตั้งโต๊ะหรือแขวนเราจะอยู่ได้เป็น 1 ปีดูมีคุณค่าและใช้ประโยชน์ได้คุ้มทำให้เกิดการหันกลับมาสู่การพิมพ์มากขึ้น เช่นเดียวกับหนังสือดิจิทัลที่บางส่วนผู้อ่านก็เริ่มหันมาอ่านหนังสือที่เป็นแบบพิมพ์สะท้อนจากงานมหกรรมหนังสือที่มียอดขายเติบโต นายพงศ์ธีระกล่าว
สำหรับปี 2567 แนวโน้มอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์คาดว่าจะเติบโตประมาณ 4-5% จากปี 2566 ที่คาดว่าจะเติบโตได้ราว 5% ซึ่งมีมูลค่าตลาดกว่า 3 แสนล้านบาท โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์ที่ส่งออกทั้งทางตรงและทางอ้อมเนื่องจากไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าที่หลากหลายโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารที่ต้องใช้บรรจุภัณฑ์ทั้งประเภทกระป๋องอะลูมิเนียม บรรจุภัณฑ์พลาสติก ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์จะมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวเพื่อเปลี่ยนผ่านเข้าสู่บริบทใหม่ให้สอดรับกับปัญหาภาวะโลกร้อน หรือ Climate Change ที่ต้องใช้วัตถุดิบที่ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดใช้วัตถุดิบที่ย่อยสลายยาก เช่น การนำพลาสติกชีวภาพ (Bio Plastic) มาใช้ทดแทนพลาสติกและโฟม การใช้หมึกพิมพ์ที่ผลิตจาก Plant-Based เพื่อให้เกิดการย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ
นอกจากนี้ บรรจุภัณฑ์จะต้องสามารถนำกลับมาใช้ใหม่หรือใช้ช้ำได้ตามแนวคิด BCG ซึ่งเป็นเมกะเทรนด์ของโลก อีกทั้งยังสอดคล้องกับมาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) หรือมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรปที่เป็นเงื่อนไขให้ผู้ผลิตสินค้าของไทยหันมาลดการปล่อยคาร์บอนลง เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก
“สื่อสิ่งพิมพ์ และบรรจุภัณฑ์จะต้องใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเพราะต่างประเทศให้ความสำคัญต่อการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำลายโลกร้อนทำให้บรรจุภัณฑ์ต้องระบุคาร์บอนฟุตพรินต์ หรือปริมาณรวมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์หรือบริการ (ตามข้อกำหนด ISO 14040) ตลอดวัฏจักรชีวิต บรรจุภัณฑ์พลาสติกเองก็ต้องย่อยสลายได้ เหล่านี้รัฐบาลไทยให้ความสำคัญ ประกอบกับไทยเองมีอุตสาหกรรมที่ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำและปลายน้ำ โดยเฉพาะปิโตรเคมีที่ทำให้อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ไทยมีศักยภาพ” นายพงศ์ธีระกล่าว