เลโก้ (Lego) ประกาศจุดยืนรักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อม ยกเลิกการสร้างตัวต่อเลโก้ที่ผลิตมาจากขวดพลาสติก (PET) รีไซเคิล หลังรู้ว่าไม่ได้ช่วยโลก ในการลดการปล่อยคาร์บอน
เรา-ทุกคนทราบกันดีว่า ตัวต่อเลโก้ทำมาจากพลาสติก แบ่งเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ให้นำมาต่อกันเป็นของชิ้นใหญ่ แต่เมื่อยุคสมัยใหม่เริ่มมองพลาสติกว่าเป็นตัวร้ายทำลายโลก ทำให้ระบบนิเวศเสื่อมเสียเลโก้ (Lego) ก็เริ่มกลับไปมองตัวเองใหม่ และพยายามหาวิธีในการทำให้ธุรกิจให้ยังคงเดินหน้าต่อไปได้และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เลโก้ (Lego) ชื่อบริษัทและชื่อของของเล่นชิ้นน้อย ๆ ที่นำมาต่อกัน สร้างเป็นอะไรก็ได้ตามจินตนาการ หรือจะสร้างเป็นตัวต้นแบบที่ออกแบบมาให้สำเร็จรูปเหมือนจิ๊กซอว์ก็ย่อมได้ เป็นของเล่นสุดฮิตที่ไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหน หรือจะวัยไหนก็ยังชอบเล่น
ก่อนหน้านี้ เลโก้ (Lego) ประกาศว่า มีแผนที่จะผลิตตัวต่อเลโก้ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการสร้างตัวต่อเลโก้ที่ทำมาจากขวดพลาสติก (PET) รีไซเคิล โดยหวังว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และให้ขยะกลับเข้ามาสู่กระบวนการรีไซเคิล ลดปริมาณขยะได้
แต่หลังจากทดสอบเป็นเวลา 2 ปี บริษัทพบว่า วัสดุดังกล่าวไม่ได้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเลย จึงตัดสินใจประกาศออกมาใหม่เมื่อมานานมานี้ ว่า เลโก้จะไม่ดำเนินโครงการผลิตตัวต่อเลโก้จากขวดพลาสติกรีไซเคิลอีกต่อไป เพราะไม่ได้ยั่งยืนจริง
ประมาณ 80% ของชิ้นส่วนเลโก้ที่ผลิตออกมามากกว่าปีละ 6 หมื่นชิ้น ประกอบไปด้วย ABS, อะคริโลไนไตรล์ บิวทาไดอีน สไตรีน (acrylonitrile butadiene styrene) เป็นพลาสติกที่มีส่วนผสมมาจากน้ำมันปิโตรเลียม ที่มักใช้ในแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์และภายในรถยนต์ด้วย ซึ่งปิโตรเลียมมีส่วนในการปล่อยก๊าซคาร์บอนออกมา ทำโลกร้อน
ทีมงานของเลโก้กว่า 150 คนใช้เวลาหลายปีในการศึกษา ซึ่งก็ได้เผยกับสำนักข่าว Bloomberg ว่า ขวด PET รีไซเคิลไม่ได้ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนโดยรวมของบริษัทได้ เนื่องจากต้องใช้อุปกรณ์การผลิตใหม่มากเกินไป ซึ่งพวกเขากำลังมองหาวิธีแก้ปัญหาอื่น ๆ ที่ดีกว่า อย่างเช่น การหาวัสดุที่ทำจากวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ความยากคือ ต้องให้สี ความแวววาว และเสียงที่ให้อารมณ์เหมือนต่อเลโก้แบบเดิม
นอกจากนี้ โรงงานบางแห่งของเลโก้ เริ่มหนุนใช้พลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์บ้างแล้ว รวมถึงเมื่อปี 2019 Lego ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา เริ่มให้ลูกค้าบริจาคชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่ไม่ใช้ของเลโก้ นำมาทำความสะอาดใหม่และบริจาคให้กับเด็ก ๆ ได้เล่นต่อไป เพื่อลดการทิ้งเลโก้ที่ไม่จำเป็น และในอนาคตเราอาจจะได้เห็นโครงการใหม่ ๆ ผุดขึ้นมาอีกเรื่อย ๆ ก็ต้องคอยติดตามกันต่อไป
Lego ตั้งเป้าว่าจะเป็นกลางทางคาร์บอนให้ได้ภายในปี 2050 และมีเป้าหมายระยะสั้นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 37% ให้ได้ระหว่างปี 2019-2032 โดยคาดว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 1.2 พันล้านดอลลาร์ในอีก 4 ปีข้างหน้าเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว