SFLEX เปิดกลยุทธ์บันได 3 ขั้นสู่เป้ารายได้ 6 พันลบ.ในปี 70 ลุย JV-Synergy-พาพาร์ทเนอร์ต้นน้ำ

นายสมโภชน์ วัลยะเสวี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สตาร์เฟล็กซ์ (SFLEX) เปิดเผยว่า บริษัทวางแผนการดำเนินธุรกิจในระยะยาวเพื่อสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ด้วยกลยุทธ์บันได 3 ขั้น เริ่มด้วยบันไดขั้นที่ 1 คือการ Joint Venture กับกลุ่มผู้ผลิตอาหารทะเลรายใหญ่ที่มีการวางจำหน่ายสินค้าไปทั่วโลก ซึ่งภายหลังการ Synergy ทำให้ SFLEX สามารถรับรู้ Megatrend ของการใช้บรรจุภัณฑ์อาหารจากลูกค้าของหุ้นส่วนทั่วโลก และมองเห็นโอกาสการเติบโตในตลาดบรรจุภัณฑ์อาหารได้อีกมาก พร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และก้าวสู่การเป็นผู้นำบรรจุภัณฑ์ด้านอาหารในระยะเวลาอันสั้น

บันไดขั้นที่ 2 คือ การจับมือกับบริษัทบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่ ซึ่งก่อให้เกิดการ Synergy ในหลายมิติ ทั้งเป็นการเพิ่มความหลากหลายของสินค้าบรรจุภัณฑ์ให้มากขึ้น สร้างโอกาสของผลิตภัณฑ์เดิมที่จะขยายสู่ตลาดโลก โดยผ่านฐานลูกค้าเดิม สามารถใช้ความได้เปรียบเชิงพื้นที่ (Locational Advantage) ในการจัดหาแหล่งวัตถุดิบต้นทุนต่ำ และสุดท้ายเกิดความร่วมมือในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนในอนาคต

และที่สำคัญ บันไดขั้นที่ 3 คือ การหา Partner ที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรมต้นน้ำ เพื่อสร้างนวัตกรรมในการผลิตและวัตถุดิบที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งสามารถบรรลุจุดมุ่งหมายของบริษัทฯ ในการสร้าง Common Spec ของวัตถุดิบที่สามารถใช้งานได้หลากหลายยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการวัตถุดิบ และสุดท้ายบริษัทฯ สามารถลดต้นทุนวัตถุดิบได้ในระยะยาว

“ปัจจุบันบริษัทฯ เดินทางผ่านบันได 2 ขั้นเรียบร้อยแล้ว และกำลังมุ่งหน้าสู่ขั้นที่ 3 โดยเดินหน้าศึกษาหาบริษัทต้นน้ำที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากบรรลุจุดมุ่งหมายทั้ง 3 ขั้นแล้ว เชื่อมั่นว่าจะเป็นแนวทางสำคัญที่ผลักดันให้บริษัทฯ มีความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว โดยบริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้ไม่น้อยกว่า 6,000 ล้านภายในปี 70 นำไปสู่ความยั่งยืนในอนาคตอย่างถาวร” นายสมโภชน์ กล่าว

ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานปี 66 บริษัทฯ มั่นใจว่าจะสามารถเดินทางสู่เป้าหมายที่วางไว้ โดยคาดการณ์รายได้อยู่ที่ประมาณ 1,800-1,850 ล้านบาท เติบโตต่อเนื่องจากปีก่อน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากกลยุทธ์การขยายตลาดเชิงรุกในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ให้มาร์จิ้นสูง อีกทั้งการวางแผนบริหารพอร์ตสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ บริหารจัดการวัตถุดิบอย่างเป็นระบบร่วมกับ Supplier ทั้งในและต่างประเทศไว้อย่างดี ประกอบกับกำลังการผลิตที่สูงขึ้นจะช่วยลดต้นทุนคงที่ต่อหน่วยอีกด้วย

 

ที่มา: https://www.infoquest.co.th/2023/339804 

วันที่ 06 ตุลาคม 2566