รัฐบาลเศรษฐา จะสานต่อนโยบายการจัดการปัญหาพลาสติก โดยเฉพาะ “ขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง” ตามโรดแมปการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ.2561-2573 อย่างไร ภายหลังพบแผนปฏิบัติการยกเลิกการผลิตและใช้พลาสติกเพิ่มอีก 4 ชนิด ได้แก่ 1) ถุงพลาสติกหูหิ้วขนาดความหนา <36 ไมครอน (ถุงแบบบาง) 2) กล่องโฟมบรรจุอาหาร 3) แก้วน้ำพลาสติก (แบบบาง) และ 4) หลอดพลาสติก (หลอดเครื่องดื่มทั่วไป) ยังทำไม่ได้ตามแผน
ประเด็นใหญ่ด้านนโยบายการจัดการปัญหาพลาสติก เพื่อลดขยะพลาสติก โดยเฉพาะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-use plastics) ของรัฐบาลประยุทธ์ โดย รมว.ทส.วราวุธ ศิลปอาชา ฝากปัญหาเอาไว้ให้รัฐบาลชุดใหม่สานต่อ คือการชงนโยบายกำกับการนำเข้าเศษพลาสติก เพื่อไม่ให้ประเทศไทยเป็นถังขยะโลก และการผลักดันแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 2 (พ.ศ.2566 – 2570) เสนอต่อคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ (กก.วล.)
ซึ่งมีข้อสรุปว่า ตั้งเป้าห้ามนำเข้า 100% ในปี 2568 พร้อมด้วยแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) โดยมี 4 เป้าหมาย คือ เป้าหมายที่ 1 ปริมาณขยะพลาสติกเป้าหมายที่เข้าสู่ระบบฝังกลบขยะลดลง ร้อยละ 100 ภายในปี พ.ศ. 2570 เป้าหมายที่ 2 ผลิตภัณฑ์พลาสติกเป้าหมายเข้าสู่ระบบรีไซเคิล ร้อยละ 100 ภายในปี พ.ศ. 2570 เป้าหมายที่ 3 ลดปริมาณขยะพลาสติกที่มีโอกาสหลุดรอดลงสู่ทะเล ร้อยละ 50 ภายในปี 2570 และเป้าหมายที่ 4 มีเครื่องมือในการบริหารจัดการขยะพลาสติก
ในการขับเคลื่อนโรดแมปการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ.2561-2573 ที่น่าสนใจและได้ดำเนินการก่อนหน้านี้ ประกอบด้วย 2 เป้าหมาย ได้แก่
เป้าหมายที่ 1 คือ การลดและเลิกใช้พลาสติก ด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเลิกใช้พลาสติก 3 ชนิด ภายใน พ.ศ.2562 ได้แก่ (1) พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม (Cap Seal) (2) ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ผสมสารอ๊อกโซ่ (Oxo) และ (3) ไมโครบีดส์ (Microbead)
และเป้าหมายที่ 2 กำหนดเลิกใช้พลาสติก 4 ชนิด ภายใน พ.ศ.2565 ได้แก่ (1) ถุงพลาสติกหูหิ้วขนาดความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน (2) กล่องโฟมบรรจุอาหาร (3) แก้วพลาสติก (แบบบางใช้ครั้งเดียว) และ (4) หลอดพลาสติก โดยเป้าหมายที่ 2 นั้นต้องมีการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ ร้อยละ 100 ภายใน พ.ศ.2570
ทว่า ล่วงเลยจนถึงกลางปีนี้ การบรรลุเป้าหมายที่ 2 เลิกใช้พลาสติก 4 ชนิด อย่างที่เคยตั้งเป้าการลดขยะให้ได้ 0.73 ล้านตันภายในสิ้นปี 2565 ปรากฎว่ายังไม่เห็นผลการประเมินที่ชัดเจนออกมาแต่อย่างใด
ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์และนักเขียนด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตั้งข้อสังเกตแต่แรก (ก่อนเวลาบังคับใช้) ว่าเป็นเรื่องไม่ง่ายเลยเพราะเราไม่มีมาตรการทางกฎหมายรองรับ ที่สำคัญเราต้องให้ความสำคัญกับการจัดการขยะตามลำดับชั้น (Waste Management Hierarchy) คือ 1. ลดให้ได้มากที่สุด (Reduce) 2. ส่งเสริมการใช้ซ้ำ (Reuse) 3. พัฒนาระบบการคัดแยกเพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล (Recycle) ก่อนจะคิดถึงเรื่องเผาเป็นพลังงาน ซึ่งเป็น 4. การกอบกู้ (Recover) ทรัพยากรครั้งสุดท้าย และ 5. การทิ้งในระบบฝังกลบอย่างปลอดภัย (Disposal)
ตัวอย่างการยกร่างกฎหมายในการจัดการขยะแบบครบวงจรของญี่ปุ่น คือการผ่านกฎหมายพื้นฐานเพื่อสร้างสังคมแห่งการรีไซเคิล (Basic Law for Establishing Recycling-based Society) ตั้งแต่ปี 2543 ภายในกฎหมายฉบับดังกล่าว มีการกำหนดความรับผิดชอบของแต่ละภาคส่วนอย่างชัดเจน ตั้งแต่ รัฐบาลส่วนกลาง รัฐบาลท้องถิ่น ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน
โดยรัฐบาลส่วนกลาง มีหน้าที่จัดทำนโยบาย ออกมาตรการทางกฎหมายและการเงิน รวมทั้งมาตรการอื่นๆ ที่จำเป็น และทำหน้าที่รายงานผลการดำเนินงานต่อสภาทุกปี ส่วนรัฐบาลท้องถิ่นก็ดำเนินมาตรการที่จำเป็นโดยอยู่บนพื้นฐานของการแบ่งบทบาทอย่างเหมาะสมกับรัฐส่วนกลาง
ในส่วนของภาคธุรกิจ ต้องดำเนินมาตรการเพื่อลดการเกิดขยะจากการใช้วัตถุดิบ พยายามรีไซเคิลให้มากที่สุด และมีการกำจัดอย่างเหมาะสม โดยรับผิดชอบในการเก็บรวบรวมหรือจัดส่งหรือทำการรีไซเคิล นอกจากนี้ยังต้องปรับปรุงการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ส่งเสริมให้สามารถนำมารีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับภาคประชาชนเองก็มีบทบาทในการลดการเกิดขยะจากการบริโภค ส่งเสริมการรีไซเคิล ใช้ผลิตภัณฑ์ให้ยาวนานคุ้มค่า นอกจากนี้ก็ควรให้ความร่วมมือกับภาคธุรกิจโดยการส่งคืนผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่เป็นทรัพยากรที่รีไซเคิลได้
สิ่งที่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเพื่อให้ Roadmap การแก้ปัญหาขยะพลาสติกในประเทศไทยหลังวิกฤตโควิดเป็นจริง จึงต้องให้น้ำหนักกับการมีมาตรการทางกฎหมายที่เป็นรูปธรรม ซึ่งหมายถึงการยกร่างกฎหมายการจัดการขยะเชิงบูรณาการและส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน พร้อมกับกลไกในการกำกับดูแลและการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยนำเอาเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่สามารถช่วยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การเก็บค่าถุงพลาสติก (user fee) การเก็บค่ามัดจำบรรจุภัณฑ์ (deposit scheme) การเก็บค่าทิ้งขยะตามปริมาณ (pay-as-you-throw) เข้ามาใช้
หากภาครัฐมีกฎหมายและเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เหล่านี้ จะช่วยสร้างบรรทัดฐานทางสังคมใหม่ในการจัดการขยะ โดยไม่ต้องหวังพึ่งการสร้างจิตสำนึกและขอความร่วมมือเพียงอย่างเดียว ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าไม่สำเร็จ
ที่มา: https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9660000082683