หมอมะกันเสนอจำกัดอายุผู้บริโภคเครื่องดื่มชูกำลัง ป้องกันเด็กจากคาเฟอีน

แพทย์เด็กและผู้ปกครองในสหรัฐอเมริกากำลังพยายามเรียกร้องให้มีการจำกัดอายุผู้ซื้อเครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อใหม่ๆ เช่นเดียวกับเครื่องดื่มมึนเมาและบุหรี่ เนื่องจากมีปริมาณคาเฟอีนสูงถึงขั้นที่หนึ่งกระป๋องมีคาเฟอีนเทียบเท่าเครื่องดื่มโคคา-โคลา 6 กระป๋อง

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เครื่องดื่มชูกำลัง ไพรม เอนเนอร์จี (Prime Energy) ที่มีการเปิดตัวในปี 2566 นี้ มี ปริมาณคาเฟอีน ที่ 200 มก. ต่อหนึ่งกระป๋องขนาด 350 มล. ซึ่งเกินปริมาณที่ได้รับอนุญาตในประเทศแคนาดา ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ในขณะที่เครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อโกสต์ (Ghost) จากบริษัทผู้ผลิตเบียร์ Anheuser-Busch InBev และเครื่องดื่มคิมเหมด (Kimade) ของคิม คาร์เดเชียน ดาราสาวและเซเลบชื่อดัง ก็มีปริมาณคาเฟอีนที่ 200 มก. เช่นกัน ขณะที่อีกแบรนด์ใหม่ในตลาด มอนสเตอร์ เอนเนอร์จี (Monster Energy) มีระดับคาเฟอีนไล่กันมาติดๆที่ 150 มก.

เป็นที่สังเกตว่า ปริมาณคาเฟอีนในเครื่องดื่มชูกำลัง นั้น มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในขณะที่บางประเทศรับมือกับระดับคาเฟอีนที่เพิ่มขึ้นนี้ ด้วยการห้ามผลิตและจำหน่ายหรือกำหนดอายุของผู้ซื้อ แต่สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ก็ยังคงไม่มีข้อกำหนดในระดับชาติสำหรับการจำหน่ายเครื่องดื่มที่มีปริมาณคาเฟอีนสูงเหล่านี้

ดร.ฮอลลี เบนจามิน ศาสตราจารย์และกุมารแพทย์จากมหาวิทยาลัยชิคาโก กล่าวว่า เมื่อไม่มีกฎหมายกำหนดอายุผู้ซื้อเครื่องดื่มชูกำลังอย่างเช่นเครื่องดื่มมึนเมาและบุหรี่ ทำให้ร้านค้าไม่สามารถกำหนดมาตรการในการจำกัดการเข้าถึงของประชาชนในวัยต่างๆได้

แม้ข้อมูลจากสถาบันจิตเวชศาสตร์เด็กและเยาวชนแห่งอเมริกา (AACAP) จะไม่มีข้อกำหนดบ่งชี้ปริมาณคาเฟอีนที่เด็กสามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย แต่เบนจามินกล่าวว่า เครื่องดื่มชูกำลังใด ๆ ก็ตามที่มีปริมาณคาเฟอีนสูง ย่อมไม่ใช่สิ่งที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ๆ เพราะคาเฟอีนอาจส่งผลให้เกิดอาการเหล่านี้ ซึ่งมีตั้งแต่
- หัวใจเต้นเร็ว ไม่เป็นจังหวะ
- ปวดหัว
- ชักเกร็ง ตัวสั่น
- ท้องเสีย
- และยังมีผลเสียต่ออารมณ์หรือสุขภาพจิต

ดร.เบนจามินกล่าวว่า ร้านค้าจึงควรเลือกวางจำหน่ายเครื่องดื่มคาเฟอีนสูงนี้ในสถานที่ที่เหมาะสมและติดฉลากแตกต่างไปจากที่เป็นอยู่ แต่เกรงว่าคงไม่เกิดขึ้นได้ถ้าหากทางการไม่มีกฎระเบียบกำหนดออกมาเป็นกรอบปฏิบัติ ซึ่งควรเริ่มด้วยการกำหนดติดฉลากเตือนเกี่ยวกับคาเฟอีนและการให้ความรู้แก่ผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น

โฆษกองค์การอาหารและยาสหรัฐ (FDA) ระบุว่า พวกเขากำลังทบทวนคำร้องขอจากนายชัค ชูเมอร์ ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภาสหรัฐ ที่ขอให้มีการตรวจสอบปริมาณคาเฟอีนในเครื่องดื่ม Prime Energy รวมถึงการทำการตลาดของแบรนด์ที่มุ่งกลุ่มเป้าหมายไปยังเด็กๆด้วย

เมื่อรอยเตอร์สอบถามไปยังเจ้าของแบรนด์ Ghost Energy, Monster Energy และ Congo Brands ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องดื่มชูกำลัง Kimade, Alai Nu และ Prime Energy บางรายปฏิเสธที่จะให้ความเห็นกับรอยเตอร์ และบางรายก็ยังไม่ได้ให้คำตอบ

ทั้งนี้ โลแกน พอล และ เคเอสไอ ซึ่งเป็นอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง ผู้ร่วมก่อตั้งผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชูกำลัง Prime เคยกล่าวกับสื่อมวลชนในเดือนสิงหาคมว่า พวกเขาไม่ได้มีแผนทำการตลาดกับเด็กๆ และร้านค้าควรเป็นผู้เฝ้าระวังการจำหน่ายสินค้าดังกล่าวให้แก่ผู้เยาว์

ด้าน สมาคมการแพทย์อเมริกัน (AMA) มีนโยบายมาตั้งแต่ปี 2013 ไม่สนับสนุนทำการตลาดของเครื่องดื่มชูกำลังต่อเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี นอกจากนั้น ทางสมาคมยังเรียกร้องให้ทางการสหรัฐกำหนดให้เครื่องดื่มชูกำลังที่มีสารกระตุ้นสูง มีบรรจุภัณฑ์ที่ “ไม่ดึงดูดใจ” ให้เด็กบริโภคด้วย

ผู้ปกครองบางราย อย่างคินเนอเร็ต ชิค โอฮานา คุณแม่ลูกห้าจากรัฐฟลอริดากล่าวว่า บรรจุภัณฑ์ของ Prime ที่มีสีสันสดใส ทำให้เธอสับสน และซื้อกลับบ้านโดยไม่ได้ดูฉลากเล็กๆที่เขียนว่า energy drink เพราะเธอไม่ได้คิดว่ามันคือเครื่องดื่มชูกำลัง

รอยเตอร์ได้สำรวจเครือร้านค้าปลีกรายใหญ่ในสหรัฐอย่าง Walmart และ Target ซึ่งพบว่าทั้งสองแห่งไม่มีการกำหนดอายุของผู้ซื้อเครื่องดื่ม Prime Energy ที่วางจำหน่ายอยู่ ส่วนร้าน Vitamin Shoppe ซึ่งไม่ได้จำกัดอายุของผู้ซื้อเช่นกัน กล่าวว่า ทางร้านสนับสนุนให้ลูกค้าอ่านฉลากของผลิตภัณฑ์ที่ขายในร้าน รวมถึงเครื่องดื่มชูกำลังด้วย อย่างไรก็ตาม มีบางร้านค้า เช่น GNC ซึ่งจำหน่ายสินค้าเฉพาะกลุ่มซึ่งรวมถึงเครื่องดื่มชูกำลัง ได้กำหนดอายุว่า กรณีซื้อเครื่องดื่มชูกำลัง ผู้ซื้อต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป

รอยเตอร์รายงานความเห็นจากนักกฎหมายด้วยว่า เครื่องดื่มชูกำลังหลายยี่ห้อ มีฉลากที่ติดไว้ว่า “ไม่แนะนำสำหรับเด็ก เรื่องนี้ยังคงสร้างความสับสนสำหรับร้านค้าปลีกว่าทางร้านจะต้องมีแนวทางอย่างไรในการจำหน่ายสินค้าเหล่านี้

ข้อมูลอ้างอิง
Rising caffeine levels spark calls for ban on energy drink sales to children

 

ที่มา: https://www.thansettakij.com/health/wellbeing/574969 

วันที่ 03 กันยายน 2566