14 มิถุนายน 2566 จัดพิธีมอบรางวัลการประกวดบรรจุภัณฑ์ไทย ประจำปี 2566 ร่วมกับงาน Propak Asia 2023 หนุนแนวคิด “บรรจุภัณฑ์สร้างสรรค์สังคมดี” (Good Together) บนเวทีโลก พร้อมมอบรางวัลยินดีกับผู้ชนะเพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าแข่งขันสุดยอดบรรจุภัณฑ์ในระดับสากลต่อไป
นายวัชรุน จุ้ยจำลอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมถือเป็นปัญหาที่นานาประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญ และนำมาเป็นเครื่องมือตัวใหม่ในการกีดกันทางการค้า รัฐบาลจึงเห็นชอบให้การขับเคลื่อน BCG Model เป็นวาระแห่งชาติ โดยในภาคของมิติเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ถือเป็นประเด็นที่ท้าทายในเรื่องของการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต โดยเฉพาะพฤติกรรมนิยมการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกของผู้บริโภค ยากต่อการย่อยสลาย กระบวนการผลิตและทำลายพลาสติกก็ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมีเทนและเอทิลีน สร้างมลพิษและทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ทั้งนี้ ที่ผ่านมาธุรกิจแพลตฟอร์มออนไลน์เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยสนับสนุนให้มีความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์มากขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเพิ่มขยะในประเทศ จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ปี 2565 ปริมาณขยะมูลฝอยรวมถึงขยะบรรจุภัณฑ์ในประเทศไทยมีปริมาณสูงถึง 25 ล้านตัน ทำให้หลายภาคส่วนเกิดการตื่นตัว หันมาให้ความสำคัญกับบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมโดยมีการพัฒนาและปรับเปลี่ยนการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่มีเบสวัตถุดิบจากธรรมชาติ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้
โดย ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้นำนโยบายการพัฒนา BCG Model มาใช้จัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผ่านการปฏิรูปการทำงาน “MIND” ใช้หัวและใจปฏิรูปกระทรวง ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน ส่งเสริมการพัฒนาบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก การเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมให้เข้าถึงเทคโนโลยีในการผลิตบรรจุภัณฑ์คุณภาพมากขึ้น ภายใต้แนวคิด “อุตสาหกรรมดี อยู่คู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน” หนุนภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม เทคโนโลยี เพื่อให้อุตสาหกรรมอยู่คู่กับสังคมและชุมชนอย่างเป็นมิตรพร้อมยกระดับเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน
นายวัชรุน กล่าวต่อว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม ได้ขานรับนโยบายดังกล่าว โดยมุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ไทย ด้วยการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์และการพัฒนาต้นแบบบรรจุภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับสู่มาตรฐานระดับสากล รวมถึงสร้างความยั่งยืนบนพื้นฐานของการพัฒนาอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงเดินหน้าบูรณาการร่วมกับ สมาคมบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกไทย
สมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย สถาบันรหัสสากล และสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดการประกวดบรรจุภัณฑ์ไทย ประจำปี 2566 (ThaiStar Packaging Awards 2023) อย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 51 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนนักออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ได้แสดงความรู้ความสามารถและศักยภาพด้านความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงได้รังสรรค์ผลงานต้นแบบบรรจุภัณฑ์ที่ไม่เหมือนใครออกสู่สายตาสาธารณชน สำหรับการประกวดในปีนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “บรรจุภัณฑ์สร้างสรรค์สังคมดี” (Good Together) เพื่อสะท้อนถึงกระแสความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเวทีโลก
ทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ความหลากหลาย (Diversity) และความเท่าเทียม (Equality) สังคมโลกในปัจจุบันเปิดกว้างและให้การยอมรับในความแตกต่างของมนุษย์มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความแตกต่างทางเพศ อายุ และร่างกาย และต้องการให้ทุกคนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีอย่างเท่าเทียมกัน
ในปีนี้มีผลงานไอเดียดี ๆ ส่งเข้าประกวดถึง 205 ผลงาน จากทั้ง นักเรียน นักศึกษา บริษัท หน่วยงาน และผู้ประกอบการ ซึ่งผลงานที่ส่งเข้ามาประกวดล้วนตอบโจทย์ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนทุกกลุ่มในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มคนผู้พิการ และจากการคัดสรรอย่างเข้มข้นของคณะกรรมการตัดสินการประกวดบรรจุภัณฑ์ไทย ประจำปี 2566 ก็ได้เป็นผู้ชนะการประกวดบรรจุภัณฑ์ไทย ประจำปี 2566 ทั้งหมด 67 รางวัล ซึ่งรวมถึง รางวัลการออกแบบบาร์โค้ดบนบรรจุภัณฑ์ โดยสถาบันรหัสสากลและรางวัลบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รางวัลพิเศษ สำหรับประเภทนักเรียน – นักศึกษา โดยสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย และรางวัล ThaiStar President’s Award ซึ่งเป็นรางวัลคะแนนรวมสูงสุด ซึ่งผู้ชนะได้แก่ บริษัท สตาร์ปริ้นท์ จำกัด (มหาชน) ในผลงาน Macada (แมคคาดา) บรรจุภัณฑ์ถั่วแมคคาเดเมีย โดยบรรจุภัณฑ์มีการออกแบบโดยใช้หลักการออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design) มีอักษรเบลล์เพื่อผู้พิการทางสายตา และออกแบบให้ในตัวกล่อง ทำให้สะดวกในการรับประทานและมีฟังก์ชันทิ้งเปลือกจาก การดึงสลักหน้ากล่อง ผู้ชนะการประกวดจะได้เป็นตัวแทนของประเทศไทยไปประกวดในระดับนานาชาติ ทั้งในระดับภูมิภาคเอเชีย (AsiaStar Awards) และระดับโลก (WorldStar Awards) ต่อไป ทั้งนี้ การประกวดบรรจุภัณฑ์ไทย ประจำปี 2565 ที่ผ่านมา นักออกแบบไทยสามารถคว้ารางวัลจากการประกวดบรรจุภัณฑ์ระดับเอเชีย (AsiaStar Awards 2022) จำนวน 35 รางวัล ซึ่งจัดโดยสหพันธ์การบรรจุภัณฑ์แห่งเอเชีย (Asian Packaging Federation : APF) นับเป็นประเทศที่ได้รับรางวัลมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย และได้รับรางวัลจากการประกวดบรรจุภัณฑ์ระดับโลก (WorldStar Packaging Awards) ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รวมจำนวนทั้งสิ้น 19 รางวัล นายวัชรุน กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา: https://mgronline.com/entertainment/detail/9660000054811